การฟังเพลงช่วยขจัดความเจ็บปวดได้อย่างไร?
ผู้คนส่วนใหญ่ทราบดีว่า เพลงที่ดีสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงอารมณ์ไปในทางที่ดีขึ้นได้ และนอกเหนือจากเสียงเพลงที่ช่วยส่งเสริมด้านอารมณ์แล้ว เสียงเพลงยังส่งผลต่อการลดลงของความเจ็บปวดอีกด้วย
ภาพแผ่นบันทึกเสียง
ที่มา https://pixabay.com , Pexels
หนึ่งการศึกษาใหม่ในวารสาร Frontiers in Neurology พบว่า เสียงเพลงมีแนวโน้มช่วยลดอาการเจ็บปวดและการอักเสบ ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าว นับเป็นอีกประตูทางการแพทย์ที่เปิดออกสู่วิธีการใหม่สำหรับการรักษาความเจ็บปวดและลดการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Utah ทดลองเปิดเพลงโมสาร์ทที่มีความยาวต่อเนื่อง 3 ชั่วโมงให้หนูที่ได้รับบาดเจ็บที่อุ้งเท้า ซึ่งเกิดจากการถูกตัดหรือฉีดด้วยสารประกอบเพื่อทำให้เกิดการอักเสบ หลังจากผ่านไป 21 วันในการฟังดนตรีคลาสสิค ผลปรากฎว่า หนูทดลองสามารถทนต่อความร้อนและแรงกดต่อการบาดเจ็บที่อุ้งเท้าที่ถูกตัดได้นานถึงร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับหนูทดลองที่ไม่ได้ฟังเสียงดนตรี นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบอีกว่า ดนตรีคลาสสิคช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยารักษาได้มากขึ้น เช่น การรักษาด้วยเสียงเพลงคลาสสิคควบคู่กับยาแก้ปวดไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ช่วยลดอาการบวม (Swelling) ได้มากกว่าการใช้ยาไอบูโพรเฟนเพียงตัวยาเดียวได้ถึงร้อยละ 93 ทั้งนี้ยังช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของการรักษาด้วย cannabidiol ได้สูงขึ้นถึงร้อยละ 21 อีกด้วย
นอกจากนี้ดอกเตอร์ Grzegorz Bulaj หัวหน้าทีมวิจัย ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ว่า การใช้ดนตรีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาแก้ปวดหลายชนิดที่มีผลข้างเคียง อาจช่วยรักษาอาการปวดได้โดยการใช้ยาในปริมาณน้อยลง
อย่างไรก็ดี นักวิจัยไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า เสียงดนตรีช่วยรักษาอาการเจ็บปวดได้อย่างไร แต่ผลการศึกษาก่อนหน้าแสดงให้เห็นว่า เสียงไพเราะของดนตรีส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนความเครียดลดลง เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดการอักเสบ (inflammation) และยังพบว่า ดนตรีช่วยในกระบวนการควบคุมการสร้างโปรตีนที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการอักเสบ (pro-inflammatory proteins) ที่เรียกว่า ไซโตไคน์ (cytokines) นอกจากนี้ยังช่วยในการพัฒนาเซลล์ประสาทใหม่ในสมอง
นักวิจัยยังระบุอีกว่า เป้าหมายในระยะยาวของพวกเขาคือ การวิเคราะห์ว่า โครงสร้างเฉพาะเจาะจงของดนตรีสามารถแปลเป็นรูปแบบของไฟฟ้าในสมอง และระบบประสาทส่วนปลายได้อย่างไร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเสียงดนตรีสามารถกระตุ้นการปล่อยโอปิออยด์ (opioids) ในสมอง โดยโอปิออยด์เปรียบเสมือนเป็น “มอร์ฟีน” ของร่างกายซึ่งอาจอธิบายได้ว่า เหตุใดดนตรีจึงสามารถลดความรู้สึกเจ็บปวดและความต้องการยาลดความเจ็บปวดที่ลดลง หรืออาจเป็นไปได้ว่า ความเจ็บปวดที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากเสียงดนตรีที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจออกจากความเจ็บปวดได้
แม้เสียงดนตรีจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ แต่ดนตรีทุกประเภทไม่ได้เหมาะสำหรับจุดประสงค์นี้ มีเพียงเพลงโมสาร์ทที่ได้รับคัดเลือกให้เหมาะสม เนื่องด้วยจังหวะซ้ำ ๆ ของเพลงที่ได้รับการค้นพบแล้วว่า ก่อให้เกิดความสงบ (calming effect) ในระบบประสาท
แหล่งที่มา
Ben Taub.(2019,March 28). Listening To Music Could Kill Pain And Reduce Inflammation. Retrieved April 22,2019, From https://www.iflscience.com/health-and-medicine/music-kill-pain-reduce-inflammation/
Mia De Graaf. (2019, March 27). Mozart may make ibuprofen more effective: Pain pills worked better when taken while listening to music, study says. Retrieved April 22, 2019, From https://www.dailymail.co.uk/health/article-6856265/Mozart-makes-ibuprofen-effective-Pain-pills-worked-better-taken-listening-music.html
Charlotte Price Persson. (2014, March 25). Music can relieve chronic pain. Retrieved April 22,2019, From http://sciencenordic.com/music-can-relieve-chronic-pain
-
10103 การฟังเพลงช่วยขจัดความเจ็บปวดได้อย่างไร? /index.php/article-biology/item/10103-2019-04-19-02-25-06เพิ่มในรายการโปรด