เหตุใดความสูงของคนเราจึงลดลงตามอายุ?
สายตายาว หูตึง ขี้หลงขี้ลืม กระดูกพรุน ไขข้อเสื่อม ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนัง และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ล้วนเป็นสัญญาณของความชราที่เห็นได้ชัด ในขณะที่การสูญเสียความสูงก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่อาจเป็นปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนไปตามอายุ การทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่ออายุมากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถรับมือกับผลกระทบเชิงลบของปัจจัยเรื่องอายุได้
ภาพการลดลงของความสูงเป็นหนึ่งในสัญญาณของความแก่ชรา
ที่มา https://pixabay.com/images/id-2814935/, geralt
หนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้ผู้คนที่อยู่ในวัยชราดูเตี้ยลงอาจเกิดจากภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) คือ ภาวะของการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ (muscle mass) มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยทุก ๆ 10 ปี จะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในอัตรา 3-5 % สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษก็คือ กล้ามเนื้อส่วนของลำตัวซึ่งทำหน้าที่หลักในการช่วยพยุงร่างกายให้ตั้งตรงและรักษาท่าทาง แต่เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อเหล่านั้นจะสูญเสียความสามารถ เป็นผลให้ลำตัวงอและสั้นลง หรืออีกหนึ่งสาเหตุก็คือ สุขภาพของกระดูก โดยกระดูกเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) ที่สามารถปรับขนาดและรูปร่างเพื่อตอบสนองต่อกลไกต่าง ๆ ของร่างกายได้
ในช่วงวัยรุ่น ร่างกายมีการเจริญเติบโตโดยจะมีมวลกระดูกถูกสะสม 90% ของความหนาแน่นกระดูกสูงสุด (peak bone mass) และจะสะสมสูงสุดในช่วงอายุระหว่าง 30-35 ปี แต่หลังจากนั้นในช่วงอายุประมาณ 35 - 40 ปี ปริมาณมวลกระดูกจะเริ่มลดลง จนในที่สุดทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีมวลกระดูกต่ำและกระดูกมีความเปราะบางมากขึ้น โดยบริเวณที่พบภาวะกระดูกพรุนได้บ่อยจะเป็นบริเวณสะโพก (hips) และปลายแขน (forearms) แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดที่กระดูกสันหลังที่อยู่ในแนวกึ่งกลางด้านหลังของลำตัว (spine) ซึ่งมีผลกระทบต่อความสูง
หมอนรองกระดูกสันหลัง (vertebral discs) อยู่บริเวณกระดูกสันหลังแนวลำตัว ทำหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาท่าทาง ซึ่งเป็นแผ่นคล้ายเจลอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังและทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทก ช่วยให้เกิดความยืดหยุ่น ซึ่งในผู้ที่ยังอายุน้อย หมอนรองกระดูกจะมีองค์ประกอบของน้ำเป็นส่วนสำคัญ จึงมีความแข็งแรงและอ่อนนุ่ม แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น เปอร์เซ็นต์ของน้ำในหมอนรองกระดูกสันหลังก็จะลดลง และจะค่อยๆ บีบอัดและแบน มีความยืดหยุ่นน้อยลง เป็นผลให้คนอายุมากมีความสูงลดลงกว่าเดิมเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้ว ความสูงเป็นกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากพ่อและแม่ แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่สามารถปฏิบัติเพื่อรักษาความสูงได้ และที่สำคัญกว่านั้นคือ ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตเมื่อมีอายุมากขึ้น
การออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight-bearing exercise) เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการสร้างกระดูก โดยการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การพัฒนากระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น (เมื่อมีการสร้างมวลกระดูกสูงสุด) จะส่งผลระยะยาวเมื่ออายุมากขึ้น และการออกกำลังกายชนิดนี้ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและยังมีศักยภาพในการป้องกันโรคกระดูกพรุน และโรคสะเก็ดเงินได้ด้วย
ในขณะที่การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยทั่วไปแล้ว อาหารที่มีวิตามินดีและแคลเซียมสูง รวมถึงอัลมอนด์ บร็อคโคลี่ และคะน้า มีส่วนช่วยในเรื่องของสุขภาพของกระดูก นอกจากนี้การไม่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนจำกัดการบริโภคคาเฟอีน เป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพเช่นกัน
ความสูงที่ลดลงเป็นเรื่องปกติในผู้ที่มีอายุมากขึ้น แต่ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ ดังนั้นการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นการเพิ่มความมั่นใจว่า คุณจะมีสุขภาพกระดูกที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
แหล่งที่มา
Thomas Scioscia, (2017, August 24), Spinal Discs. Retrieved April 4, 2020, From https://www.spine-health.com/conditions/spine-anatomy/spinal-discs
Adam Hawkey, (2020, March 10), Why you get shorter as you age. Retrieved April 4, 2020, From https://theconversation.com/why-you-get-shorter-as-you-age-132826
การจัดการภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุ. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2563. จาก www.klanghospital.go.th/attachments/1194_การจัดการภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุ%20หน้า13-16.pdf
-
11482 เหตุใดความสูงของคนเราจึงลดลงตามอายุ? /index.php/article-biology/item/11482-2020-04-21-07-38-30เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง