สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อกลืนหมากฝรั่ง
เชื่อว่าผู้ใหญ่หลายคนในตอนนี้คงเคยโดนอุบายของผู้ใหญ่ในวัยเด็กของตัวเองห้ามไม่ให้กลืนอาหารหรือขนมที่ไม่ควรกลืนลงไป หนึ่งในนั้นคือการถูกหลอกว่ากลืนหมากฝรั่งลงไปแล้วจะติดอยู่ในท้องนานถึง 7 ปี แน่นอนว่าหมากฝรั่งไม่ติดอยู่ได้นานขนาดนั้น
แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่า จริงๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราหากเรากลืนหมากฝรั่งลงไป
ภาพที่ 1 ภาพประกอบบทความเกี่ยวกับหมากฝรั่ง
ที่มา GiselaFotografie/Pixabay
การย่อยอาหารพื้นฐานของมนุษย์มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีหลัก ๆ คือ การเคี้ยว ซึ่งเป็นกระบวนการย่อยเชิงกลที่ใช้ในการบดอาหารให้ละเอียดและมีขนาดเล็กลง และกระบวนการย่อยเชิงเคมีในการเปลี่ยนแปลงขนาดโมเลกุลของอาหารโดยเอนไซม์ในน้ำลายและกระเพาะอาหาร รวมถึงกรดที่ช่วยย่อยให้สิ่งที่เรารับประทานเข้าไปนั้นผ่านทางเดินอาหารไปได้อย่างง่ายดาย
ตามหลักแล้ว เมื่อเรารับประทานอาหาร ฟันและลิ้นจะทำงานสัมพันธ์กันเพื่อเคี้ยวอาหารให้กลายเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวเพื่อให้สามารถดูดซึมสารอาหารได้ตามกระบวนการดูดซึมของร่างกาย ก่อนที่อาหารจะเคลื่อนย้ายลงไปตามการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินอาหาร จากนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยน้ำย่อยอาหาร และถูกขับออกจากร่างกายไปในที่สุด แต่หมากฝรั่งไม่ใช่อาหารที่ร่างกายสามารถย่อยได้ตามกระบวนการย่อยอาหาร นั่นเป็นเพราะหมากฝรั่งมีส่วนประกอบของยางสังเคราะห์อยู่ด้วย
ภาพที่ 2 ยางบิวไทล์(Butyl rubber)
ที่มา Reaction’s video
ยางบิวไทล์(Butyl rubber) หรือถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "Synthetic Natural Rubber" เป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างทางเคมีและมีคุณสมับติใกล้เคียงกับยางธรรมชาติ แต่มีคุณสมบัติในเรื่องของความทนต่อแรงดึงและความทนทานต่อการฉีกขาดต่ำกว่าเล็กน้อย ยางสังเคราะห์ชนิดนี้จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของหมากฝรั่งที่ขายกันอยู่ตามท้องตลาด เนื่องจากช่วยให้มีความเหนียวและสามารถเคี้ยวได้ นอกจากนี้ยังมักนิยมนำไปใช้ผลิตจุกนม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และรวมไปทั้งยางในรถยนต์อีกด้วย
ภาพที่ 3 การกลืนหมากฝรั่ง
ที่มา Reaction’s video
แน่นอนว่าหมากฝรั่งไม่ได้รับผลกระทบจากการบดเคี้ยวของฟัน ดังนั้นเมื่อกลืนหมากฝรั่งลงไป มันจะเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารลงไปในกระเพาะอาหารเป็นก้อน ในขณะที่เอนไซม์สามารถย่อยคาร์โบไฮเดรต น้ำมัน และแอลกอฮอล์ได้ในหมากฝรั่ง แต่สำหรับยางสังเคราะห์ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งนั้นจะไม่สามารถถูกย่อยได้ด้วยกรดในกระเพาะอาหาร เป็นผลให้หมากฝรั่งยังคงสามารถอยู่ในระบบย่อยอาหารได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหมากฝรั่งที่ใครบางคนเผลอกลืนลงไปจะยังคงอยู่จนถึงตอนนี้
หมากฝรั่งที่เผลอกลืนโดยไม่ตั้งใจเป็นเพียงสิ่งไม่มีประโยชน์ชิ้นเล็ก ๆ เหมือนกับอาหารบางประเภทที่เป็นชิ้นเล็กๆ เช่นเมล็ดทานตะวันหรือเมล็ดแตงโม เป็นแค่อาหารส่วนน้อยที่ไม่ได้มีผลกระทบมากนักต่อกล้ามเนื้อในการบีบรัดเพื่อเคลื่อนย้ายอาหารไปตามทางเดินอาหาร ร่างกายสามารถจัดการกับชิ้นหมากฝรั่งที่เราเผลอกลืนลงไปได้ โดยจะถูกกำจัดออกจากร่างกายพร้อมกากอาหารที่ร่างกายไม่ต้องการในอีกวันหรือสองวันอย่างแน่นอน
แม้จะทราบว่าการกลืนหมากฝรั่งไม่เป็นอันตรายมากนัก และไม่ทำให้มันติดอยู่ในกระเพาะอาหารยาวนานถึง 7 ปี แต่หมากฝรั่งก็ไม่ใช่อาหารที่ควรจะกลืนลงไป โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งอาจทำให้ก้อนหมากฝรั่งติดคอ หรือเข้าไปขวางทางเดินหายใจได้ เพราะฉะนั้นอุบายเรื่องหมากฝรั่งเพื่อการป้องกันอันตรายร้ายแรงที่ตามมาก็ยังคงสามารถใช้ได้อยู่ เพียงแต่ต้องถูกใช้อย่างเข้าใจ
แหล่งที่มา
The mechanical processes of swallow gum.สืบค้นวันที่ 17 กรกฎาคม 2560. จาก www.businessinsider.com/what-happens-when-you-swallow-gum-2016-5.
Fact of chewing gum. สืบค้นวันที่ 17 กรกฎาคม 2560. จาก www.scientificamerican.com/article/fact-or-fiction-chewing-gum-takes-seven-years-to-digest/.
สมบัติทั่วไปของยางสังเคราะห์. สืบค้นวันที่ 17 กรกฎาคม 2560. จาก http://rubber.oie.go.th/box/Article/21039/1.สมบัติทั่วไปของยางสังเคราะห์.pdf.
-
7420 สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อกลืนหมากฝรั่ง /index.php/article-chemistry/item/7420-2017-08-08-07-50-51เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง