แสงสีน้ำเงินมีโทษหรือประโยชน์กันแน่
เราคงรู้จักแสงสีน้ำเงิน หรือบ้างก็ว่าแสงสีฟ้ากันดีอยู่แล้วจากหลาย ๆ บทความที่มีมากมายอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะอธิบายให้เข้าใจว่า แสงนี้คืออะไร พบได้ที่ไหน มีอันตรายอย่างไร และป้องกันได้อย่างไรบ้าง สำหรับบทความนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องราวของงานวิจัยที่ว่า หากได้รับแสงสีน้ำเงินอาจช่วยให้การตอบสนองของสมองได้เร็วขึ้น ฟังแล้วอาจจะสงสัยว่า แสงสีน้ำเงินมีโทษหรือประโยชน์กันแน่
ภาพที่ 1 :ภาพประกอบบทความให้เห็นภาพว่าแสงสีน้ำเงิน เป็นแสงที่พบและถูกปล่อยออกมาจากคอมพิวเตอร์
ที่มา : http://www.nutritionbreakthroughs.com
มีงานวิจัยเกี่ยวกับแสงสีน้ำเงิน เพื่อทดสอบการสอบทำงานของสมองภายหลังการได้รับแสงสีน้ำเงิน โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยแต่ละคนได้รับแสงสีน้ำเงิน หรือสีเหลืองอำพัน เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง จากนั้นทำการทดสอบอย่างหนึ่งเพื่อวัดความจำของสมอง โดยในขณะเดียวกันก็มีการสแกนสมองด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า Functional magnetic resonance imaging หรือ functional MRI (fMRI) ไปด้วย
จากการศึกษาพบว่า การทดสอบการได้รับแสงสีน้ำเงินเป็นเวลานานกว่า 30 นาที สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex (DLPFC) และ ventrolateral prefrontal cortex (VLPFC) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการจำและความคิด จากการทดสอบการทำงานของสมองเพื่อทดสอบการรับรู้ พบว่าสมองมีประสิทธิภาพในการตอบสนองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า แสงสีน้ำเงินนั้นยังมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นสมองต่อไปอีกนานกว่า 40 นาทีหลังจากหยุดฉายแสงให้แก่ผู้เข้าร่วมวิจัย
นี่อาจดูเหมือนว่า แสงสีน้ำเงินก็มีประโยชน์ใช่ไหม ขอตอบว่าใช่ หากเรานำแสงสีน้ำเงินมาใช้ให้ถูกวิธี ถูกที่ ถูกเวลา ก็จะเป็นประโยชน์ เช่นการนำแสงสีน้ำเงินมาใช้ในห้องควบคุมเครื่องบิน ห้องปฏิบัติการ หรือใช้ในทางทหาร ก็จะช่วยเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า การตื่นตัว กระตุ้นการทำของสมอง ทำให้การตัดสินใจเร็วขึ้น ความจำดีขึ้น
เอาล่ะ เข้าเรื่องใกล้ตัวกันเลย ก่อนหน้านี้คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าในตอนกลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับนาฬิกาชีวิตของร่างกาย โดยแสงสีน้ำเงินบนหน้าจอทั้งจากการเล่นคอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์มือถือนั้น จะไปยับยั้งการทำงานของสารเคมีในสมองที่เรียกว่า "เมลาโทนิน" ซึ่งช่วยให้นอนหลับ เพราะสมองสับสนคิดว่า นี่ยังเป็นเวลากลางวันอยู่ ทำให้เรานอนไม่หลับนั่นเอง
เช่นเดียวกัน จะเห็นว่าผลการวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นเพิ่มเติมอีกว่า แสงสีน้ำเงินจะการกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวยาวนานออกไปอีกกว่า 40 นาที หลังการได้รับแสง นั่นหมายความว่าการได้รับแสงสีน้ำเงินในเวลากลางคืนมากเกินไป ทำให้สมองถูกรบกวน และกระตุ้นก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืนอย่างแน่นอน
รู้อย่างนี้แล้วหล่ะก็ อย่าเล่นโทรศัพท์ ถ้าคุณอยากนอนหลับสบาย
ที่มา
Individuals exposed to blue wavelength lights experienced faster reaction times.สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2560. จาก https://www.sciencedaily.com/releases/2016/06/160610094747.htm .
-
7384 แสงสีน้ำเงินมีโทษหรือประโยชน์กันแน่ /index.php/article-physics/item/7384-2017-07-20-07-26-30เพิ่มในรายการโปรด