ห้องน้ำบนเครื่องบิน ตอนที่ 2
ในครั้งที่แล้วเราได้รู้ถึงความดันบนเครื่องบินที่มีผลต่อการสภาพของผู้โดยสารในเครื่องบินมาแล้ว ที่ความสูงมากขึ้นความดันบรรยากาศจะมีค่าลดลง การปรับความดันจึงเป็นการช่วยให้เครื่องบินมีความปลอดภัยมากขึ้น ในคราวนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการปรับความดันบรรยากาศกับห้องน้ำในเครื่องบินกันต่อ
การปรับความดันบรรยากาศ (pressurization)
ความดันเป็นผลมาจากแรงที่อากาศกระทำกับพื้นโลก ดังนั้นพอเราอยู่ในที่ที่มีความดันบรรยากาศน้อยก็จะมีผลกระทบต่อร่างกาย ยิ่งบนเครื่องบินเราจะเกิดอาการปวดหู หรือหูอื้อขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงความสูงของระดับการบิน
ภาพที่ 1 หน้ากากออกซิเจนภายในเครื่องบินเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความดันกะทันหัน
ที่มา https://undubzapp.com/wp-content/uploads/2016/04/19-1024x669.jpg
บนเครื่องบินปกติจะมีการปรับเปลี่ยนความดันภายในเครื่องให้ไม่แตกต่างกับความดันภายนอกเครื่องบินเท่าไร ซึ่งก็จะปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อทุกคนบนเครื่องบินทั้งตอนขึ้นและลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปรับความดันให้เท่ากับระดับพื้นดินเลยเลยทีเดียว เพราะถ้าทำเช่นนั้นผนังของเครื่องบินจะต้องหนาขึ้นอีกเป็นเท่าตัวจึงจะรับไหว ซึ่งนั่นก็จะทำให้เครื่องหนักขึ้น เปลืองน้ำมัน จุคนและขนของได้น้อยลงไปอีก ถ้าเป็นบนพื้นดิน เราจะไม่รับรู้ว่ามีแรงกดอากาศใด ๆ มากระทำต่อตัวเรา เพราะร่างกายเราออกแรงดันกลับไปในอัตราที่เท่ากัน แต่ถ้าเป็นในชั้นบรรยากาศที่ยิ่งสูงขึ้นไป ความดันหรือความกดอากาศจะยิ่งลดน้อยลง ถ้าบนเครื่องบินไม่มีระบบปรับความดัน แรงดันอากาศภายในเครื่องบินจะเพิ่มขึ้น (แรงกดอากาศจากภายนอกที่คอยต้านเอาไว้มีน้อย) จนอาจเป็นอันตรายต่อทุกคนบนเครื่องบิน
ให้ลองสังเกตถุงขนมเวลาพกติดตัวขึ้นไปบนยอดดอยหรือแม้แต่บนเครื่องบิน จะโป่งพองกว่าปกติ ถ้าบนเครื่องบินไม่มีระบบปรับความดัน ตัวเราก็คงไม่ต่างจากนั้นแหละ แล้วถ้าเราอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินหรือระดับน้ำทะเลมากๆ ล่ะจะเป็นยังไง
นั่นก็ คือ จะตรงกันข้ามกัน ยิ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาก ๆ ความดันหรือความกดอากาศก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทีนี้เวลาที่เราดำน้ำลึกลงไปแค่ไม่กี่เมตรแค่นี้เราก็รู้สึกปวดหู ไม่ต้องพูดถึงเรือดำน้ำ ที่นอกจากจะต้องแข็งแรงแล้ว ยังต้องมีระบบ ปรับความดันอากาศ ด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นทั้งคนและเรือดำน้ำคงโดนบีบอัดจนกลายเป็นเศษเหล็กอยู่ใต้ท้องทะเลแน่ ๆ
ภาพที่ 2 เรือดำน้ำ
ที่มา https://pixabay.com , 3979284
ปกติแล้วคนเราทนต่อการมีออกซิเจนที่เบาบางได้เมื่ออยู่ในระดับความสูงไม่เกิน 1 หมื่นฟุต แต่เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ในปัจจุบันมีระดับความสูงในการบินประมาณ 3-4 หมื่นฟุต หรือประมาณ 12 กิโลเมตร และเครื่องบินบางแบบ มีเพดานบินสูงถึง 6 หมื่นฟุต ที่ระดับเพดานบิน ถ้าไม่มีการปรับสภาพความดันในตัวเครื่องบินแล้วดังกล่าวมนุษย์จะมีระยะเวลาที่สามารถช่วยตัวเองได้เพียงประมาณ 10 วินาทีเท่านั้น หลังจากนั้นจะเกิดอาการทางสมองที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ตามด้วยการหมดสติอย่างรวดเร็ว
ภาพที่ 3 ระดับการบินของเครื่องบิน
ที่มา https://pixabay.com , Emslichter
เครื่องบินจึงต้องมีระบบปรับความดันบรรยากาศ โดยการควบคุมแรงกดดันบรรยากาศภายในห้องนักบินและผู้โดยสาร ให้มีความดันบรรยากาศเทียบ เท่ากับที่ระดับความสูง 6-8 พันฟุต เครื่องบินจึงสามารถบินได้ในระดับดังกล่าวได้ โดยไม่เกิดปัญหาต่อผู้โดยสาร จากการศึกษาในระยะหลังๆ เมื่อเครื่องบินสามารถบินได้นานขึ้น โดยสามารถบินต่อเนื่องได้มากกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่งภาวะออกซิเจนในเลือดของลูกเรือซึ่งรวมทั้งผู้โดยสารและนักบินในเลือดต่ำกว่าปรกติเป็นเวลานานขึ้น การปรับความดันบรรยากาศภายในเครื่องบินจึงไม่น่าจะสูงเกินไปกว่าระดับเพดานบิน 6 พันฟุต หรือ 1.8 กิโลเมตร จากพื้นดิน
ห้องน้ำในเครื่องบิน
เมื่อความดันในเครื่องบินมีความเปลี่ยนแปลงไป เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะเวลาเดินทางด้วยเครื่องบินโดยใช้เวลาในการอยู่ในเครื่องบินเป็นเวลานานบางครั้งอาจจะมากกว่า 10 ชั่วโมง ช่วงเวลายาวนานแบบนี้อาจจะทำให้ต้องได้เข้าห้องน้ำบนเครื่องบินอย่างน้อย 1 หรือ 2 ครั้ง ดังนั้นการเข้าห้องน้ำบนเครื่องบินสำหรับหลายๆ คนออกจะเป็นเรื่องวุ่นวายสับสน โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเคยเดินทางด้วยเครื่องบินครั้งแรก
ภาพที่ 4 ห้องน้ำในเครื่องบิน
ที่มา https://travel.mthai.com/app/uploads/2014/06/plane-toilet.jpg
จากการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศเมื่อขึ้นไปยังที่สูง ๆ แบเครื่องบินการนำน้ำขึ้นไปบนเครื่องจึงต้องจำกัดปริมาณไม่มากหรือน้อยจนเกินไป จึงทำให้ชักโครกบนเครื่องบินจะเป็นแบบไม่มีน้ำ หรือ ส้วมแห้ง ทุกครั้งที่เราทำธุระเสร็จเรียบร้อย ให้ลุกขึ้น ปิดฝาส้วมก่อน แล้วกดปุ่ม flush เมื่อกดปุ๊บ จะเกิดเสียงอันทรงพลังดังขึ้นมา ซึ่งเป็นการทำงานของระบบสุญญากาศ เรียกว่า pneumatic vacuum system ที่จะดูดทำความสะอาดกลืนของเสียของเราไปโดยไม่ต้องใช้น้ำนั่นเอง
ระบบสุญญาอากาศนี้เองทำให้เคยเกิดอุบัติเหตุมาแล้ว ในปี พ.ศ.2549 หญิงสาววัย 37 ปี คนหนึ่งกดปุ่มชักโครกในห้องน้ำ ขณะกำลังนั่งทำธุระอยู่บนโถส้วม ทำให้ระบบสุญญากาศดูดก้นของเธอจนติดคาโถ ลุกไปไหนไม่ได้ ต้องทนอยู่อย่างนั้นเกือบ 10 ชั่วโมง เธอมีอาการเจ็บปวดบริเวณช่องคลอด เลือดไหลไม่หยุด และหลังจากนำตัวเธอส่งโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่าอวัยวะเพศของเธอเกิดการฉีดขาด อันเนื่องมากจากแรงดูดของระบบสุญญากาศ
ทำไมห้องน้ำจึงเป็นแบบชักโครกแห้งนั่นก็เพราะเป็นการจำกัดน้ำหนักของน้ำ ที่นำขึ้นเครื่องบิน ถ้าเครื่องมีน้ำหนักมากก็จะมีผลต่อการบินในระยะไกลดังที่กล่าวมาข้างต้น และทีความดันในเครื่องและภายนอกเครื่องบินแตกต่างกันมากการทำชักโครกแบบแบบสุญญากาศจะทำให้แรงดูดที่มากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีเข้าห้องน้ำนานๆ ยังมีผลต่อระบบปรับความดันบรรยากาศเสียไป เพราะจะดูดอากาศออกความดันภายในห้องน้ำจึงมีค่าแตกต่างจากภายนอกห้องน้ำ ถ้าเราเข้าห้องน้ำในเครื่องบินแล้วกดชักโครกบ่อยๆ ความดันจึงเปลี่ยนแปลงไป เวลาเราออกมาอาจจะมีอาการหน้ามืดเนื่องจากออกซิเจนถูกดูดออกไปจากการกดชักโครกสุญญากาศในห้องน้ำนั่นเอง
ถ้าเครื่องบินบินผ่านบริเวณที่มีสภาพอากาศแปรปรวน ทางนักบินจะเปิดสัญญาณห้ามใช้ห้องน้ำในเครื่องบินเพราะมีการเปลี่ยนแปลงความดัน และในห้องน้ำไม่มีสายนิรภัยรัดผู้โดยสารกับเก้าอี้ พอเครื่องตกหลุมอากาศกะทันหัน ผู้โดยสารอาจจะลอยขึ้นไปชนกับเพดานห้องน้ำก็ได้
การใช้ห้องน้ำบนเครื่องบินจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่เราจะต้องคิดเสมอว่าห้องน้ำเป็นแบบสุญญากาศนะ เวลาจะกดปุ่มชักโครกจึงต้องลุกออกก่อนเสมอ
แหล่งที่มา
11 เรื่องต้องรู้ก่อนเข้าห้องน้ำบนเครื่องบิน สำหรับมือใหม่. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2561 .จาก https://www.sanook.com/travel
วิธีใช้ห้องน้ำบนเครื่องบินอย่างเซียน. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2561 .จากhttps://spin9.me/2015/12/16/how-to-use-aircraft-
-
9086 ห้องน้ำบนเครื่องบิน ตอนที่ 2 /index.php/article-physics/item/9086-2เพิ่มในรายการโปรด