การจัดการเรียนรู้เนื้อหาชีววิทยาในระดับประถมศึกษา
การจัดการเรียนรู้เนื้อหาชีววิทยาในระดับประถมศึกษา
หลายคนคงเคยได้ยินคำถามว่าเรียนชีววิทยาไปทำไม คงไม่แปลกหากเจอคำถามเช่นนี้จากผู้ที่ไม่ชอบหรือไม่เคยได้สัมผัสกับรายวิชานี้ เพราะพวกเขาอาจมองว่าเนื้อหาชีววิทยาเป็นเรื่องที่ไกลตัวไม่ได้นำมาใช้ ต้องท่องจำเยอะ ซับซ้อน และไม่สนุก แต่สำหรับผู้ที่รักหรือชื่นชอบในรายวิชานี้คงมองว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายและน่าคิดมาก เมื่อลองคิดตรึกตรองให้ดีอาจจะพบคำตอบหลากหลายที่แสดงถึงประโยชน์และคุณค่าของวิชาชีววิทยา เพราะแม้แต่ร่างกายของเราก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับชีววิทยา ชีววิทยาทำให้เราได้รู้จักร่างกายของเรามากขึ้น รู้จักดูแลตัวเอง ให้รอดพ้นจากความเจ็บป่วย รู้จักเลือกอาหารที่ดีและมีประโยชน์ให้กับร่างกาย นอกจากนี้ทำให้เราได้รู้จักระบบนิเวศ ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดและสิ่งไม่มีชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต
ร่างกายมนุษย์
ที่มา : www.pixabay.com/Gerd Altmann
ระบบนิเวศ
ที่มา : www.pixabay.com/Mihaela Istrate
ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการทำลายระบบนิเวศซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปหากเราเข้าใจระบนิเวศในธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะร่วมแรงร่วมใจกันดูแลระบบนิเวศ เพื่อลดการสูญเสียสมดุลทางธรรมชาติและลดมลภาวะที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในระดับประถมศึกษาเนื้อหาทางชีววิทยาเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันโดยตรง เช่น เรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกายและหน้าที่ของส่วนต่างๆ ของร่างกายที่จะช่วยให้เด็กรู้จักร่างกายของตนเอง รู้จักหน้าที่ของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักดูแลร่างกายตนเองให้ถูกต้อง สะอาด และปลอดภัย หรือเรื่องการดูแลพืชและสัตว์ให้ได้รับสิ่งที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตที่จะทำให้เด็กได้รู้จักดูแลพืชและสัตว์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากมีการปลูกและดูแลพืชหรือสัตว์เลี้ยงก็จะสามารถทำได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งนี้ จะเห็นว่าเนื้อหาชีววิทยามีความสำคัญและควรส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักตั้งแต่วัยเด็ก
การรักษาความสะอาดของผิวหนังโดยการล้างมือ
ที่มา : www.pixabay.com/Nghi Nguye
การดูแลสัตว์เลี้ยงให้ได้รับอาหารอย่างเหมาะสม
ที่มา : www.pixabay.com/ Ludwig Willimann
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษา
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดมาตรฐาน การเรียนรู้และตัวชี้วัดสาระวิทยาศาสตร์ชีวภาพไว้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เนื่องจากเห็นความสำคัญว่าเด็กในระดับนี้ควรเข้าใจเกี่ยวกับร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปตามวัย และสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของตัวเอง เข้าใจถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงชีวิตกับท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเนื้อหาชีววิทยาในระดับประถมศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน มีเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปของ สิ่งมีชีวิตและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตรอบตัว โครงสร้าง ลักษณะเฉพาะการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่ รวมทั้ง การทำงานของระบบย่อยอาหารของมนุษย์ การทำหน้าที่ของส่วนต่างๆ ของพืช อย่างไรก็ตาม เด็กในระดับประถมศึกษาเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และมีความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนชีววิทยาบางเนื้อหา ที่เป็นนามธรรมเพื่อให้เด็กในระดับนี้เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งทำให้เนื้อหาที่มีลักษณะท่องจำมีความน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ และกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนให้ได้มากที่สุดก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับครู
การจัดการเรียนรู้เนื้อหาชีววิทยาสำหรับระดับประถมศึกษา
การจัดการเรียนรู้เนื้อหาชีววิทยาในระดับประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพควรเน้นการให้ความสำคัญกับนักเรียนเป็นสำคัญ ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมกับการเรียนรู้โดยครูอาจใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ ซึ่งนอกจากรูปแบบการจัดการเรียนรู้แล้วยังสามารถใช้สื่อดิจิทัลมาช่วยในการจัดการเรียนรู้ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ครูในระดับประถมศึกษาควรเลือกใช้ทรัพยากรการเรียนรู้หลากหลาย มีการประยุกต์หรือดัดแปลงสื่อต่างๆ ให้เหมาะกับความต้องการหรือบริบทของนักเรียนวัยนี้ (Eirini และ Katerina, 2020) เนื่องจากการใช้ทรัพยากรหลายอย่าง เช่น แบบจำลอง อุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ หนังสือการ์ตูน มีส่วนช่วยให้นักเรียนระดับนี้เข้าใจแนวคิดที่เฉพาะเจาะจง หรือเป็นนามธรรมได้ดีมากกว่าการใช้หนังสือเพียงอย่างเดียว (Carlan, Sepel, and Loreto, 2014) อีกทั้งควรนำความรู้และประสบการณ์ของนักเรียนมาเชื่อมโยงกับการเรียนโดยไม่เน้นการท่องจำ แต่เน้นการคิด และการลงมือปฏิบัติ นอกจากนี้ การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และความสนใจของนักเรียน ไม่เบื่อการเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ
การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน
ที่มา : www.pixabay.com/Sasin Tipchai
เราจะทำอย่างไรให้เนื้อหาชีววิทยามีความน่าสนใจและช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับประถมศึกษาได้มากขึ้นเพราะธรรมชาติของเด็กในระดับนี้จะชอบเล่นชอบลงมือปฏิบัติ ชอบสำรวจสิ่งต่างๆ ไม่ชอบอยู่นิ่ง และชอบใช้จินตนาการ แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับวัยของนักเรียนสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น
1) การจัดการเรียนรู้ผ่านการทดลอง หากเด็กได้ลงมือทำกิจกรรมผ่านการทดลองจะทำให้การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป เพราะเด็กได้หยิบจับได้เคลื่อนไหวร่างกาย และลงมือค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ทำให้เข้าใจเนื้อหาเรื่องนั้นได้ดีขึ้น หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าเนื้อหาใดของชีววิทยาในระดับประถมศึกษาสามารถเรียนรู้ผ่านการทดลองได้
ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืช เช่น เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเป็นเนื้อหาในชั้น ป.2 เด็กสามารถทดลองโดยการปลูกพืชภายใต้ปัจจัยที่แตกต่างกันและสังเกตการเจริญเติบโตของพืช สุดท้ายจะค้นพบคำตอบด้วยตัวเองว่า ปัจจัยใดมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งทำให้เด็กเข้าใจแนวคิดได้ โดยไม่ต้องท่องจำอีกต่อไป เนื่องจากได้พบหลักฐานเชิงประจักษ์หรือคำตอบจากการทดลองด้วยตัวเอง
การปลูกพืชภายใต้ปัจจัยที่แตกต่างกัน
2) การจัดการเรียนรู้ผ่านการสำรวจเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กได้เปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้จากในห้องเรียนออกมาสู่นอกห้องเรียน เป็นการสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ในการเรียนรู้ของเด็กจากที่ทราบกันอยู่แล้วว่าชีววิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ผ่านการสำรวจก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งนี้ เนื้อหาชีววิทยาในระดับประถมศึกษามีอยู่หลายเรื่องที่สามารถจัดการเรียนรู้ผ่านการสำรวจได้ เช่น เรื่องสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของสัตว์ในบริเวณที่อาศัยอยู่ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อยู่ในชั้น ป.1 เด็กสามารถสำรวจบริเวณต่างๆ เพื่อดูว่าบริเวณนั้นๆ มีสิ่งมีชีวิตใดบ้าง เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร หลังจากที่สำรวจแล้วเด็กจะได้ข้อมูลเพื่อนำมาสรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตัวเองได้ หรือเนื้อหาในชั้น ป.5 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เด็กสามารถสำรวจสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตในแหล่งที่อยู่ต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปเป็นองค์ความรู้ของตัวเองได้ สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ผ่านการสำรวจทำให้เด็กได้ความรู้และเข้าใจเนื้อหานั้น ด้วยตัวเอง
ที่มา : www.pixabay.com/M W
นอกจากรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ครูควรให้ความสำคัญแล้ว ยังมีสื่ออีกหลายรูปแบบทั้งวีดิทัศน์ แอนิเมชัน แอปพลิเคชัน ภาพประกอบ หรือการใช้ผังมโนทัศน์จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและช่วยกระตุ้นการเรียนรู้เนื้อหาชีววิทยาของนักเรียนในระดับประถมศึกษา เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้ชีววิทยามีความน่าสนใจมากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างความเข้าใจ เนื้อหาที่เป็นนามธรรมให้กับนักเรียนได้มากขึ้นด้วย
1) การใช้สื่อ เช่น วีดิทัศน์ แอนิเมชัน แอปพลิเคชัน ภาพ มาประกอบเนื้อหา ปัจจุบันมีสื่อมากมายที่สามารถนำมาใช้ประกอบการเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะเนื้อหาที่เป็นนามธรรมก็สามารถใช้สิ่งเหล่านี้มาเป็นสื่อเสริมได้ หากเด็กได้เห็นภาพก็จะทำให้เกิดจินตนาการและเข้าใจ เนื้อหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงของพืชดอกขณะเจริญเติบโต ซึ่งเป็นเนื้อหาในชั้น ป.2 เด็กอาจมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงขณะเจริญเติบโตของพืช แต่สามารถใช้สื่อดิจิทัลแสดงผลเหมือนจริง หรือ AR (Augmented Reality) มาประกอบการเรียนรู้เพื่อเสริมความเข้าใจได้ หรือเรื่องระบบย่อยอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเป็นเนื้อหาที่อยู่ในชั้น ป.6 อาจใช้วีดิทัศน์มาช่วยในการเรียนรู้ ทำให้เด็กเห็นภาพและเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
ภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงขณะเจริญเติบโตของพืชดอกผ่านการใช้แอปพลิเคชัน AR
2) การใช้ภาพอินโฟกราฟิก (Infographics) ประกอบเนื้อหา ชีววิทยาในเรื่องที่มีรายละเอียดมาก หากใช้ภาพอินโฟกราฟิกมาประกอบ จะทำให้เนื้อหาน่าสนใจและน่าอ่านมากขึ้น เช่น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นเนื้อหาในชั้น ป.5 ที่มีรายละเอียดมาก
3 ) การใช้ผังมโนทัศน์ (Concept Map) เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ช่วยรวมความคิดรวบยอดให้เห็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นภาพรวมทั้งหมดจะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้ง่ายขึ้น ครูสามารถใช้ผังมโนทัศน์ได้ในเนื้อหาหลายส่วน หรือเมื่อสอนเนื้อหาแต่ละเรื่องจบแล้ว ครูสามารถนำผังมโนทัศน์มาใช้ในการรวบรวมความคิดรวบยอดทั้งหมดในเรื่องนั้นๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น และนักเรียนก็สามารถเชื่อมโยง ความรู้ในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันได้ทั้งหมด เช่น เรื่องการจำแนกสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นเนื้อหาในชั้น ป.4 เมื่อนำมาทำเป็นผังมโนทัศน์จะช่วยให้มองเห็นความคิดรวบยอดทั้งหมดของเนื้อหาเรื่องนี้
ผังมโนทัศน์เกี่ยวกับการจำแนกสิ่งมีชีวิต
ที่มา : หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ป.4 เล่ม 1
อย่างไรก็ตามการใช้สื่อต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูควรคำนึงถึงธรรมชาติของนักเรียนในแต่ละชั้นว่าเหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นใด รวมทั้งควรกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนก่อนนำสื่อมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และควรให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำ และใช้สื่อในการเรียนรู้มากที่สุด เพื่อให้การใช้สื่อมีความหมายและมีประโยชน์ ต่อนักเรียนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ จะเห็นว่าการจัดการเรียนรู้เนื้อหาชีววิทยาสำหรับประถมศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ชับช้อนและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันโดยตรง ดังนั้น ครูควรใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสมาะสม โดยมีการฝึกประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างองค์ความรู้ มีทักษะ และเกิดสมรรถนะจนสามารถอธิบายเหตุการณ์หรือปรากฎการณ์ต่างๆ รวมทั้งนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ อีกทั้งครูควรจัดการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ และให้ความสำคัญกับนักเรียนโดยเน้นการลงมือปฏิบัติและการมีส่วนร่วม ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเลือกใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้การจัดการเรียนรู้เนื้อหาชีววิทยาในระดับประถมศึกษามีประสิทธิภาพมากที่สุด
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 240 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/240/6/
บรรณานุกรม
Carlan, F. D. A.& Sepel, L. M. & Loreto, E. L. S. (2014). Teaching Cell Biology in Primary Schools. Education Research International. 2014: 1-5.
Tzovla, E & Kedraka, K. (2020). Teaching Biology in Primary Education. International Journal of Educational Technology and Learning. 8(2): 91-97.
Society of Biology. (2014). The Importance of Biology in the Primary Curriculum: engaging learners in the life sciences. Charles Darwin House.
กระทรวงศึกษาธิการ.(2560), ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
วนินทร สุภาพ. (2561). ผังมโนทัศน์: เครื่องมือสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ในศตวรรษที่ 21. วารสารวิชาการเครือข่ายบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ. 8(14).
-
18273 การจัดการเรียนรู้เนื้อหาชีววิทยาในระดับประถมศึกษา /index.php/article-science/item/18273-29-10-2024-2เพิ่มในรายการโปรด