รักษาสัตว์มีพิษกัดช่วงน้ำท่วมด้วยสมุนไพร
อีกหนึ่งภัยที่มาพร้อมกับน้ำท่วมเสมอ คือ อันตรายจากสัตว์มีพิษ อันนี้น่ากลัวกว่าน้ำกัดเท้าเสียอีก แต่ที่น่ากลัวที่สุดก็เห็นจะเป็นจระเข้ เพราะยาตัวไหนคงใช้รักษาไม่ได้แล้ว นอกจากตัวใครตัวมัน อันนี้รัฐน่าจะต้องมีมาตรการในการทำฟาร์มจระเข้ที่เข้มขึ้นกว่านี้ ไม่เช่นนั้นน้ำท่วมทีไรคงประสาทผวากลัวจระเข้เป็นแน่แท้ คงกินไม่ได้นอนไม่หลับ เครียดหนักกว่าน้ำท่วมเสียอีก ส่วนงูเงี่ยวเขี้ยวขอ ตะกาบ เรายังมีสมุนไพรรับมือได้ แถบภาคอีสานมีหมอพื้นบ้านที่เก่งๆ เรื่องการรักษาสัตว์มีพิษกัดต่อยเยอะ ถ้าใครหาเตรียมได้ก็เตรียมไว้ใช้ประโยชน์ปีนี้ไม่ทัน ปีหน้าต้องฉุกคิด หน้าน้ำท่วมอย่าลืมน้ำกัดเท้าและสมุนไพรรักษาสัตว์มีพิษกัด เช่น
หอมแดง หาง่ายที่สุด ใช้แก้พิษแมงมุม อันนี้เป็นประสบการณ์บอกเล่าของคนที่เผชิญเสี้ยววินาทีชีวิตมาเอง แม้แต่โรงพยาบาลก็ยังสุดปัญญาที่จะช่วยเหลือได้ จึงไปหาหมอแผนโบราณ หมอให้เอาหัวหอมแดงทุบให้บุบ ผสมกับยาหม่องใช้ทาบริเวณที่โดนกัดและให้กิน ด้วย ทำทุก ๆ 5-10 นาที สัก 3-4 ครั้งอาการดีขึ้นอย่างน่าประหลาด ที่ต้องแก้ด้วยหอมแดง เพราะพิษแมงมุมเป็นพิษเย็นจึงต้องใช้ของร้อนอย่างหอมแดง และเร่งสรรพคุณด้วยยาหม่องช่วยขับพิษออกไปได้
เสลดพังพอน จะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียก็คือพญายอ ตัวไหนก็ได้ สมุนไพรทั้งสองนี้นิยมนำไปทำทิงเจอร์ คือเอาไปตำแล้วดองกับเหล้าขาวทิ้งไว้ 15 วัน จึงกรองเอาน้ำไว้ใช้ทากลากเกลื้อน เริม งูสวัด แมลงกัด ได้ผลดี จะทำในรูปขี้ผึ้งก็เอาเทียนไขหลอมละลาย แล้วเอาตัวยาที่สกัดได้ผสมลงไป แล้วบรรจุใส่ตลับไว้ใช้ก็สะดวก
มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้ใช้ได้ผลดี คือเอาไปใช้รักษาฝีหาย และใช้พอกแผลเป็นหนองไม่นานก็หาย และยังใช้แก้พิษงูต่าง ๆ ได้ โดยเอาเสลดพังพอนเคี้ยว หรือตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำซาวข้าว หรือเหล้าขาวประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ พอกไว้ที่ปากแผลนั้น หรือเอาเสลดพังพอนตำให้ละเอียดผสมกับดินประสิวสักนิด ใช้พอก นับว่าได้ผลดีเช่นกัน
โลดทะนงแดง แถบสุรินทร์บุรีรัมย์ใช้กันบ่อย โดนงูพิษ ตะขาบ หรือแมงมุมพิษกันมา ใช้โลดทะนงแดงฝนเอาพอกที่ปากแผล และให้กินด้วยจะได้อาเจียนเอาพิษออก ไม่ช้าไม่นานคนที่ถูกงูกัดก็ลุกขึ้นนั่งได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรอีกหลายตัวที่รักษางูกัด เช่น กระเพราแดงทั้งต้น ผักเสี้ยนผี หญ้าลูกใต้ใบ ใช้ตัวใดตัวหนึ่งที่สามารถหาได้ง่ายและสะดวก นำสมุนไพรไปล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาวครั้นเอาแต่น้ำรับ ประทาน กากยาใช้พอกปากแผล รายไหนรายนั้นไม่ตายแน่
ส่วนใครที่โดนตะขาบกัด มีประสบการณ์บอกเล่าการแก้พิษ โดยใช้คางคกซึ่งเป็นสัตว์มีพิษเหมือนกัน แบบนี้ใช้พิษตัดพิษ เมื่อก่อนมีพวกนิยมกินของแปลก จับเอาคางคกไปทำอาหารกินคงนึกว่าเหมือนกบเอาหนังออกก็กินได้ แต่ชะรอยไม่เอาต่อมยางพิษคางคกออกสุดท้ายก็ตายแล
ยางคางคกแม้จะมีพิษ แต่ก็เอามาใช้ทำยาได้ ในตำราแผนไทยระบุว่า ยางคางคกมีรสหวานฝาดอุ่น มีสรรพคุณถอนพิษ แก้ปวดและทำให้ฟื้นคืนสติ จึงนำมาเข้ายาตำรับยาบำรุงหัวใจ แก้ปวด ใช้ผสมเป็นยาทาภายนอกแก้คัน แก้พิษฝีต่างๆ ยางคางคกมีสีขาวได้จากต่อมบริเวณใต้คาง เอาไปผึ่งไว้ในที่ร่มให้แห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ เอาไปใช้ทำยา หมอไทยส่วนใหญ่จะเอาคางคกที่ตายแล้ว แบบที่แห้งไม่มีกลิ่นเหม็นเก็บเอามาสุมไฟทั้งตัวจนเป็นถ่าน แล้วบดให้ละเอียดผสมกับน้ำมันยางใช้ทาแผลโรคเรื้อน โรคมะเร็ง คุดทะราด มีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อโรคที่ดี
แล้วจะใช้คางคกแก้พิษตะขาบอย่างไร ผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดไวว่า คนในหมู่บ้านถูกตะขาบกัดปวดทรมานมาก ไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็ได้แต่ฉีดยา และให้รอดูอาการทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้ มีคนที่เห็นเหตุการณ์ก็เลยเข้ามาช่วย โดยไปหาคางคกมา 2-3 ตัว แล้วเอาไม้เคาะหัวคางคกอย่างแรงแต่ไม่ถึงตาย สักพักก็มียางเหนียๆ สีน้ำตาลไหลออกมา จึงเอาไม้ปาดเอายางนั้นไปพอกที่แผลที่โดนตะขาบกัด อาการปวดลดลงอย่างรวดเร็ว ทำแบบนี้ 3-4 ครั้ง อาการปวดก็หาย ประสบการณ์แบบนี้ต้องขอบคุณคางคกให้มากๆ ที่ช่วยให้รอดชีวิตมาได้ แต่คางคกคงคางเหลืองไปเหมือนกัน
พื้นที่ไหนประสบอุทกภัยซ้ำซาก เตรียมข้าวปลาอาหารหยูกยารับมือน้ำท่วมไว้เลย สมุนไพรชนิดไหนที่ใช้ประโยชน์ได้กินได้ปลูกไว้ให้มากๆ ดีกว่าปลูกหน้าวัว โป๊ยเซียน ชวนชมเป็นไหนๆ จะได้หยิบใช้ได้ทันท่วงที
-
2505 รักษาสัตว์มีพิษกัดช่วงน้ำท่วมด้วยสมุนไพร /index.php/article-science/item/2505-2011-11-23-18-26-18เพิ่มในรายการโปรด