นักวิชาการแนะลดตายปีใหม่ ต้องเข้ม กม.จับเมาแล้วขับ
นักวิชาการเสนอท้องถิ่นทำงานเชิงรุก ลดคนตายบนถนนในช่วงปีใหม่ แนะเลิกตั้งเต็นท์จุดบริการบนถนน ศึกษาพบไม่คุ้มค่า-ไม่ได้ผลจริง ให้นำงบไปแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทั้งจุดกลับรถและสิ่งกีดขวางอันตราย บี้ตำรวจภูธรกวดขันเมาแล้วขับในถนนสายรอง เผยสถิติดำเนินคดีลด 10%
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถิติคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนประมาณวันละ 30 คน แต่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับใหม่และเทศกาลสงกรานต์มีคนไทยสังเวยชีวิต บนถนนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากการตรวจสอบสถิติอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย พบว่า เมื่อปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิต 358 คน การเสียชีวิตเกิดขึ้นในช่วงวันฉลองมากกว่าวันเดินทางไป-กลับ โดยการเดินทางขาไปและขากลับบนถนนสายหลักมีผู้เสียชีวิต 25% สาเหตุหลักคือ ขับรถเร็ว ผู้ขับอ่อนล้าและง่วงนอน ส่วนในช่วงระหว่างการเที่ยวฉลอง 3-4 วัน มีผู้เสียชีวิต 75% สาเหตุคือ ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สวมหมวกกันน็อก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนสายรอง ดังนั้น ศวปถ.มีข้อเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศพิจารณาปรับบทบาทการทำ งานให้เป็นไปในเชิงรุก เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงปีใหม่นี้
นพ.ธนะพงศ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานท้องถิ่นมักจะตั้งเต็นท์จุดให้บริการหรืออำนวยความสะดวก ผู้ใช้รถ แต่กลับไม่ได้ช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตได้ จากกรณีลงพื้นที่ศึกษาจุดสกัด-จุดบริการในท้องถิ่น 7 แห่ง พบว่า ท้องถิ่นทุกแห่งเลือกจุดบริการในบริเวณใกล้หน่วยงานหรือสะดวกในการตั้ง เต็นท์และมีไฟฟ้า ทุกแห่งได้กำหนดงบประมาณไว้ในข้อบัญญัติ โดยตั้งงบอยู่ระหว่าง 3,000-60,000 บาทต่อเทศกาล ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับจุดบริการส่วนใหญ่จะเป็นค่าตอบแทนอาสาสมัครที่มาเข้า เวร บางแห่งใช้วิธีหมุนเวียนอาสาสมัครโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่จะมีชุมชนมาจัดเตรียมอาหารมาเลี้ยง
ทั้งนี้ มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการในจุดบริการที่อยู่บนถนนสายหลักพบว่า มีประชาชนเข้ารับบริการในแต่ละช่วงน้อยมาก ยกเว้นจุดบริการของท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ติดกับปั๊มน้ำมัน ขณะที่อาสาสมัครส่วนใหญ่กลับไม่ทราบบทบาท ขาดอุปกรณ์ รวมทั้งไม่สามารถตักเตือนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ผ่านไปผ่านมาได้เท่าที่ควร เนื่องจากขาดการเตรียมการ และความยอมรับทั้งในเชิงกฎหมายและเชิงสังคม เพราะไม่ได้ประชาสัมพันธ์บทบาทอาสาสมัครไว้ก่อน จะมีเพียงบางแห่งที่ใช้กลไกสังคมโดยให้ครอบครัวและกลุ่มสตรีเข้ามาช่วยใน เรื่องการกวดขัน "ศวปถ.เสนอให้ท้องถิ่นปรับบทบาทในการป้องกันอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ โดยยกเลิกจุดบริการบนถนนสายหลัก หรือถ้าจำเป็นต้องมี ควรเลือกเฉพาะในจุดที่เป็นจุดเสี่ยงหรือเป็นจุดบริการร่วมหลายท้องถิ่นและหน่วยงาน เพื่อสามารถนำงบประมาณไปใช้กับมาตรการอื่นๆ ในเชิงรุกมากขึ้น ในช่วงก่อนเทศกาลควรเน้นการแก้ไขปรับปรุงจุดเสี่ยงบนถนน เช่น ติดตั้งป้าย ตัดต้นไม้และสิ่งกีดขวางต่างๆ ปิดจุดกลับรถอันตรายและจุดลอบผ่าน เป็นต้น" ผจก.ศวปถ.เผย นอกจากนี้ อยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงและจัดประชาคม เพื่อวางมาตรการสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการขายและดื่มสุรา รวมทั้งเมาแล้วขับ ซึ่งต้องมีบทลงโทษทางสังคมกับผู้ฝ่าฝืน หรือการให้รางวัลกับคนที่กระทำเป็นแบบอย่างที่ดี ในช่วงระหว่างเทศกาลให้เน้นบทบาทในเชิงรุกแทนการตั้งรับอยู่ในเต็นท์ ได้แก่ การออกไปขอความร่วมมือชาวบ้านในชุมชนหรือองค์กรที่จะมีงานสังสรรค์รื่นเริง ขอให้มีแนวทางในเรื่องดื่มแล้วไม่ขับ การสวมหมวกนิรภัย ฯลฯ
นพ.ธนะพงศ์กล่าวอีกว่า ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย อยากเห็นตำรวจเข้มงวดกวดขันในการใช้กฎหมาย เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาในช่วงฉลองตั้งแต่วันที่ 30-31 ธันวาคม และ 1 มกราคม จะเกิดขึ้นกับถนนสายรองในช่วงกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นจุดที่ตำรวจไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ดังนั้นตำรวจภูธรจะต้องมีแผนร่วมมือกับท้องถิ่นเพื่อตั้งด่านตรวจจับเมาแล้ว ขับให้เพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะมาตรการตั้งจุดตรวจแบบสุ่ม ทั้งนี้ ควรพิจารณาเรื่องการรายงานผลคดีเมาเป็นรายสถานีตำรวจภูธรและจังหวัดในแต่ละวัน "มีข้อสังเกตพบว่า เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมามียอดการเรียกตรวจเพิ่มขึ้น 30% แต่สามารถดำเนินคดีเมาแล้วขับได้เพียง 10,397 ราย ลดลง 10% เฉลี่ยแล้วมีการตรวจจับเมาแล้วขับ 135 รายต่อจังหวัด และจังหวัดละ 20 คดีต่อวันเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตำรวจจะต้องเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น" นพ.ธนะพงศ์เผย ข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย จากข้อมูลสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ระบุว่า กลุ่มรถจักรยานยนต์ที่เสียชีวิตจำนวน 286 คน คิดเป็น 68.3% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในช่วงปีใหม่ มีผู้ไม่สวมหมวกกันน็อก 86%
สำหรับเมาแล้วขับ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุคือ เมาแล้วขับ ร้อยละ 41.24 รองลงมาคือ ขับเร็ว 20.42% ขณะที่ข้อมูล สพฉ. ระบุว่า ผู้เสียชีวิตร้อยละ 51 เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์
-
2572 นักวิชาการแนะลดตายปีใหม่ ต้องเข้ม กม.จับเมาแล้วขับ /index.php/article-science/item/2572-2011-12-24-08-01-57เพิ่มในรายการโปรด