เตือน 'นักโซ้ย' เปิบปลาร้าดิบระวังมะเร็งกิน
นักวิจัยสถาบันมะเร็งฯเผยข้อมูล มะเร็งในคนไทย สาเหตุการเกิด 1 ใน 3 มาจากพฤติกรรมการกิน พบ “ปลาร้า” มีสารก่อมะเร็ง “ไนโตรซามิน” เตือนไม่ควรกินดิบๆ แนะ 9 เคล็ดลับ สู่อาหารต้านมะเร็ง ขณะเดียวกัน เจอฝุ่นไม้ก็ก่อมะเร็งโพรงจมูก ขอผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ใส่ใจหาหน้ากากป้องกันให้ลูกจ้าง
เนื่องในวันมะเร็งโลกเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีการจัดบรรยายให้ความรู้กับประชาชนเรื่อง 9 เคล็ดลับ สู่อาหารต้านมะเร็ง โดย น.ส.ศุลีพร แสงกระจ่าง นักวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีมะเร็งที่พบในร่างกายมนุษย์มากกว่า 100 ชนิด และพฤติกรรมการรับประทานอาหารถือเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็ง 1 ใน 3 ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมะเร็งได้ ขณะที่บางคนยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าบีบน้ำมะนาวจะทำให้เนื้อที่ดิบสุกขึ้นมา และฆ่าพยาธิได้ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีผลอะไรเลย และที่สำคัญยังพบด้วยว่าในปลาร้าที่นิยมรับประทานกันนั้นจะมีการใส่ดินประสิวเพื่อใช้ในการถนอมอาหารด้วย ซึ่งในดินประสิวนี้จะมีสารไนโตรซามิน ซึ่งถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับที่ 2 ที่จัดระดับโดยนักวิจัยจากทั่วโลก เรียงลำดับความรุนแรงจาก 1-4 ซึ่งหากเป็นสารก่อมะเร็งที่มีความรุนแรงมากที่สุดจะอยู่ในระดับที่ 1 ซึ่งการพบสารไนโตรซามินในปลาร้านั้นจะพบทั้งในตัวของปลาร้า และในน้ำปลาร้า ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะรับประทานปลาร้าดิบๆ เพราะจะเป็นการเพิ่มอัตราความเสี่ยงที่จะได้รับสารดังกล่าว ก่อนรับประทานปลาร้าจึงควรที่จะนำไปทำให้สุกก่อน และควรที่จะรับประทานผักด้วย
น.ส.ศุลีพรกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่าฝุ่นไม้ที่เกิดจากการเลื่อยไม้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งโพรงจมูกด้วย เนื่องจากหากได้รับฝุ่นไม้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดการอุดตันในโพรงจมูก เกิดการระคายเคือง และทำให้ก่อเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนทั่วไปยังไม่มีข้อมูล ดังนั้น จึงอยากขอให้ผู้ประกอบการผลิตเฟอร์นิเจอร์ใส่ใจในเรื่องนี้ และหาหน้ากากมาป้องกันให้กับลูกจ้างด้วย
น.ส.ศุลีพรกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้จัดทำเคล็ดลับอาหารต้านมะเร็งเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชน คือ 1.กินผักหลากสีทุกวัน 2.กินผลไม้เป็นประจำ 3.ทำอาหารจากธัญพืชและเส้นใย ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในทางเดินอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 4.ใส่เครื่องเทศเสริมรสชาติอาหาร เช่น พริก ขมิ้น กระเทียม ขิง ซึ่งมีสรรพคุณลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน 5.เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเครื่องดื่มจากธรรมชาติจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ชาเขียว น้ำแครอท น้ำดอกอัญชัน น้ำขิง เป็นต้น 6.ปรุงอาหารถูกวิธี ไม่ปิ้ง ย่างอาหารจนไหม้เกรียม ไม่รับประทานอาหารสุกๆดิบๆ และไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายๆครั้ง 7.หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน 8.ลดบริโภคเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ซึ่งเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หากรับประทานเป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้และทวารหนัก จึงควรรับประทานเพียงสัปดาห์ละ 500 กรัม เพื่อลดความเสี่ยง และ 9.ลดเกลือแกง อาหารหมักดอง
-
2672 เตือน 'นักโซ้ย' เปิบปลาร้าดิบระวังมะเร็งกิน /index.php/article-science/item/2672-2012-02-11-12-01-26เพิ่มในรายการโปรด