อันตรายจากถั่วลิสง
ถั่วเหลือง ถั่วลิสง พริกแห้ง พริกไทย งา เครื่องเทศ และของแห้งชนิดต่างๆ นับเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงที่อาจพบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา โดยเฉพาะถั่วลิสงป่น ตรวจเมื่อไหร่ก็พบมีสารพิษอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเมื่อนั้น
ความถี่ของการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงขึ้นอยู่กับฤดูกาลผลิต แหล่งผลิต และระยะเวลาที่ถั่วลิสงอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ปกติถั่วดิบ ที่มาจากเกษตรกรจะมีความถี่ของการปนเปื้อนไม่สูงมากนัก แต่หากส่งมาถึงโรงกะเทาะแล้วพบว่าความถี่ของการปนเปื้อนจะเพิ่มสูงขึ้น และยิ่งหากถั่วที่เข้าสู่โรงงานมีความชื้นสูงเกิน 12% และโรงกะเทาะขาดการจัดการที่ดี ก็จะยิ่งทำให้ความถี่ของการปนเปื้อนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
อะฟลาท็อกซิน เป็นสารพิษที่ผลิตโดยเชื้อราหลายชนิด แต่ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ Aspergillus flavus และ A. parasiticus สารพิษชนิดนี้มีความคงตัวสูงมาก ต้องใช้ความร้อนสูงถึง 260 องศาเซลเซียส จึงจะสลายตัว การต้มให้เดือดอาจช่วยฆ่าเชื้อราที่ผลิตสารพิษชนิดนี้ได้
แต่สารอะฟลาท็อกซินที่ปนเปื้อนและสะสมอยู่ในอาหารแล้วนั้น ยังคงเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค คือ เมื่อร่างกายได้รับสารพิษนี้เข้าไปจำนวนมาก หรือแม้เป็นจำนวนน้อยแต่ได้รับเป็นประจำ ก็เกิดการสะสมจนทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย หัวใจและสมองบวม
ยิ่งหากเป็นอะฟลาท็อกซินชนิดบี 1 ยิ่งมีอันตรายร้ายแรง เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างถั่วลิสงและถั่วลิสงป่น ตามร้านค้าย่านต่างๆในกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาท็อกซินอีกครั้ง ผลวิเคราะห์พบว่ามีถั่วลิสง 4 ใน 5 ตัวอย่าง พบสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อน และพบ 1 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานของไทยคือ เกิน 20 ไมโครกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ทางออกสำหรับวันนี้ ต้องช่วยกันทั้งระบบตั้งแต่ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตถั่วลิสงตามระบบ GAP ส่วนโรงงานกะเทาะ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิธีการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิต หรือ GMP ที่สำคัญ ภาครัฐต้องให้ความรู้และส่งเสริมให้ผู้ผลิตระดับครัวเรือนและท้องถิ่น ให้มีการใช้ระบบควบคุมคุณภาพการแปรรูปถั่วลิสง และปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP
ส่วนผู้บริโภคควรเลี่ยงการทานถั่วลิสงและถั่วลิสงป่นที่มีสีเหลืองคล้ำหรือมีสีดำ มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นอับ หากทำได้ทั้งหมดที่ว่านี้ ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ได้ทานถั่วลิสงอย่างปลอดภัยแน่นอน
ที่มา : postjung.com
-
3213 อันตรายจากถั่วลิสง /index.php/article-science/item/3213-2012-12-07-03-02-34เพิ่มในรายการโปรด