หยุดโลกร้อนด้วยความพอเพียง
เมื่อวันที่ฟ้าสวย โลกใต้ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้าน สายน้ำใสจนเห็นถึงท้องน้ำ ยอดเขายังมีต้นไม้ครึ้มเขียวปกคลุม เสี้ยวหนึ่งในภาพทรงจำในวัยเยาว์ของใครหลายคน แต่ในวันนี้ภาพสวยเหล่านั้นกลับกลายเป็นเพียงภาพในความทรงจำที่คนรุ่นปู่ย่าจะเล่าให้หลาน ๆ ฟัง เมื่อหมอกสวยกลายเป็นควันสีเทาที่ลอยปกคลุมยอดตึก
นับตั้งแต่เครื่องจักรไอน้ำเริ่มเดินสายพาน ระบบกลไกของโลกได้เริ่มต้นเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยระบบเศรษฐกิจและการผลิตแนวทางอุตสาหกรรม ความต้องการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัดแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน และแก๊สธรรมชาติ ที่หลับนิ่งอยู่ใต้ดินถูกสูบขึ้นมาเพื่อใช้อย่างล้างผลาญในระบบการผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง รวมถึงการสงคราม การผลิตเหล่านี้ดำเนินไปโดยที่ไม่มีใครตระหนักว่าเรากำลังเพาะเชื้อภัยร้ายขึ้นบนโลก
ของเสียจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมและการบริโภคก่อให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แก๊สเรือนกระจก (greenhouse gas) ที่เก็บกักความร้อนทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น และผลจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ระบบนิเวศจึงถูกทำลายลงอย่างไม่ปราณีปราศรัย ผลจากการที่ธรรมชาติถูกรุกราน คือภาวะโลกร้อน (global warming) อันเป็นที่มาของ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน (climate change) เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนนี้ โลกเคยตื่นตัวในเรื่องของ ภาวะเรือนกระจก (green house effect) แต่เรื่องราวต่าง ๆ กลับเงียบหายไปเมื่อคนส่วนใหญ่หันไปให้ความสำคัญกับเรื่องระบบเศรษฐกิจ ในวันนี้โลกกลับต้องมารับผลกระทบอย่างมากจากธรรมชาติอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลก แม้จะเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิด อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมได้ หากระดับออกซิเจนในอากาศลดลง 1 ใน 3 เราก็จะจุดไฟไม่ติด แค่เพียงอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 5 องศา ภูเขาน้ำแข็งก็จะละลายและระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น
ผลจากการถือว่าตนเองมีอำนาจสามารถบริโภคได้อย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งมักมาจากคนเพียงหยิบมือเดียวของสังคม ภายใต้ระบบแนวความคิดแบบพาณิชย์นิยมและทุนนิยมที่คนพยายามหาเหตุผลรองรับการบริโภคทรัพยากรว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องในสังคม นายทุนต้องการกำไรโดยการกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคด้วยสิ่งยั่วยุทั้งภาพและเสียงจากสื่อต่าง ๆ โดยใช้แผนการตลาดอย่างแยบยล ให้ผู้บริโภคไม่รู้จักคำว่าพอ จึงเกิดการใช้พลังงานน้ำมันและไฟฟ้าอย่างฟุ่มเฟือย การซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณประโยชน์ การสั่งอาหารบริโภคจนเหลือทิ้งกลายเป็นขยะ แต่ผลกระทบจากการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยนั้นผู้รับภาระและเดือดร้อนที่สุดกลับเป็นผู้ที่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา เด็ก หรือบุคคลในโลกที่ 3 ที่มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายและไม่สลับซับซ้อนมากนัก กลับต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ผิดปกติจากอดีต พืชผลเกษตรไม่ออกตามฤดูกาลเนื่องจากปริมาณน้ำไม่แน่นอน ความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินลดลง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ แมลงและศัตรูพืชแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น เกษตรกรหลายคนประสบปัญหาขาดทุนและเลิกการทำเกษตรกรรม ต้องดิ้นรนมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเพื่อหารายได้เลี้ยงปากและท้อง วงจรนี้จึงเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข
ปัจจุบันพิบัติภัยทางธรรมชาติได้รุมเร้ามนุษย์หนัก เช่น การเกิดพายุทอร์นาโดเป็นครั้งแรกในทวีปยุโรป และเอเชีย ในประเทศจีนมีอุทกภัยเกิดขึ้นบ่อยจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีประชาชนกว่า 4,000 คนเสียชีวิต รวมทั้งไร้ที่อยู่อาศัย ในอินเดียมีการบันทึกสถิติอุณหภูมิสูงสุดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545 ว่าสูงถึง 45.6 องศาเซลเซียส ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 1,000 คน ในญี่ปุ่นปี พ.ศ. 2547 มีบันทึกว่ามีพายุไต้ฝุ่นพัดถล่ม 10 ลูก ซึ่งเป็นไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 16 ปี ทำให้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในปลายปี พ.ศ. 2547 ฟิลิปปินส์มีไต้ฝุ่นเข้าถล่ม 4 ลูก และมีพายุโซนร้อน ทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หลายครอบครัวไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีน้ำสะอาดใช้และยังทำลายพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครเข้าไปควบคุมหรือหยุดยั้งได้ มีเพียงการชะลอภัยร้ายที่น่ากลัวกว่าที่เรากำลังเผชิญอยู่
ในการจัดอันดับประเทศที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกคือ ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งการผลิตและการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยมากที่สุด อันดับต่อมาคือประเทศจีน เนื่องจากประเทศกำลังเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยก็ผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากไม่น้อยหน้ากว่าประเทศอื่นๆ คือประมาณปีละ 172 ล้านตัน โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ สามารถสร้างมลพิษได้สูงถึง 19.35% ของปริมาณการผลิตในประเทศ เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางกิจกรรมต่าง ๆ ของประเทศ เป็นเมืองหลวงที่มีประชากรมากถึง 12 ล้านคน ทำให้ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณมากถึง 26,160,000 ตัน
สิ่งที่ประชาชนในแต่ละภูมิภาคกำลังเผชิญหน้ากับภัยโลกร้อนคือ ฤดูกาลและปริมาณน้ำฝนที่แปรปรวนไปจากอดีต ฝนที่ตกผิดฤดู ปริมาณน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนที่เพิ่มมาก จนเกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมในหลายภูมิภาคของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มในบริเวณภาคกลาง ปัญหาไฟป่าที่มาจากการลักลอบหาของป่าโดยชาวบ้านและการเผาพื้นที่เพื่อขยายที่ทำกิน จนปัญหาไฟป่าทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้เกิดไฟป่าทั่วภาคเหนือก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง หรือ การที่น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่โบสถ์วัดขุนสมุทราวาส จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเคยอยู่ห่างจากฝั่งทะเล 1 กิโลเมตร ทำให้ขณะนี้บางส่วนของโบสถ์กำลังจมน้ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องหวนกลับมาใส่ใจในสิ่งที่ได้ทำลงไปกับธรรมชาติ
ภัยใกล้ตัวที่คนทั้งโลก รวมทั้งคนไทยที่ต้องเจอภัยธรรมชาติเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจากทั่วโลกต่างได้ระดมสมองเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง มีผลจากการค้นคว้าวิจัยและประมวลผลทางสถิติ ที่นำเสนอข้อมูลซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสาเหตุการเกิดปัญหาโลกร้อน ผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการนำเสนอแนวทางการแก้ไขบรรเทา เพื่อให้มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของโลกตระหนักถึงภัยร้าย และใส่ใจกับโลกที่ตนเองอาศัยอยู่มากขึ้น
สาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อน มาจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อต้องการลดภาวะเรือนกระจก การควบคุมปริมาณการผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นเรื่องแรก ในระดับประเทศหรือองค์กรขนาดใหญ่ แนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการด้านภาษีกับธุรกิจที่ทำลายสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมการควบคุมปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมาจากธุรกิจ แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่สวนกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม แต่การรณรงค์เพื่อช่วยเหลือโลกโดยการลดการปล่อยควันพิษไปทำลายบรรยากาศ และมีมาตรการควบคุมผู้ผลิตโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้รับผิดชอบต่อของเสียจากโรงงานของตนเอง โดยคำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย รวมทั้งเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างธุรกิจพลังงานสะอาด ในระดับบุคคล การให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องโลกร้อนจะสามารถสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคให้รู้จักใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่แปรรูปเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์หรือพลังงานต่าง ๆ อย่างรู้คุณค่า พอดีกับความต้องการ ไม่สร้างขยะหรือไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนเกินไป ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้หากยิ่งเร่งแก้ไขต้นทุนจะดีกว่าการปล่อยปัญหาให้บานปลายจนสายเกินแก้
หากพิจารณาแนวทางการดำเนินนโยบายของโลกที่นักวิจัยต่าง ๆ ได้พยายามนำเสนอแล้ว จะเห็นได้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ ล้วนสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีนิยามง่ายที่สุดเป็น 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังปัจจัยสำคัญที่เป็นแก่นแท้ของ 3 ห่วง คือ 1. ความพอประมาณที่ไม่สุดโต่งจนเกินไป 2. การมีเหตุผลที่จะคิดวิเคราะห์ทุกเรื่องก่อนลงมือปฏิบัติ 3. มีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อไม่ให้กระแสโลกาภิวัฒน์เข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตของเราจนเกินไป ส่วน 2 เงื่อนไขคือ 1. ตอกย้ำความมีเหตุผล และใช้ความรู้อย่างรอบคออบและระมัดระวัง 2. คุณธรรม
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงกล่าวเป็นแนวทางมานานกว่า 25 ปี หากมีการนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากสำนึกในตัวบุคคล การลดพฤติกรรมการบริโภคอย่างพอประมาณโดยการประหยัดการใช้พลังงานทุกชนิด โดยเฉพาะพลังงานจากฟอสซิล ลดการกินทิ้งกินขว้างที่ทำให้เกิดแก๊สมีเทน ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ควรบริโภคผลิตภัณฑ์ในประเทศเพื่อลดการใช้ทรัพยากรเพื่อการขนส่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน เป็นต้น การมีเหตุผลรู้จักคิดวิเคราะห์โดยศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะโลกร้อน ระบบนิเวศ และความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น การมีภูมิคุ้มกันที่ดี อาทิ การเลือกบริโภคสินค้าหรือผลิตภัณฑ์โดยพิจารณาคุณค่าของสิ่งนั้นมากกว่าคำเชิญชวนหรือคำโฆษณาที่กระตุ้นให้ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
การศึกษาความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งบนโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เนื่องจากโลกเกิดจากความสมดุล หากเมื่อใดที่มนุษย์บริโภคอย่างไม่รู้จักพอ และทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยนำมาใช้สนองความโลภอย่างไร้ขอบเขต เมื่อนั้นสมดุลของระบบนิเวศจะผิดปกติดังความแปรปรวนที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกในทุกวันนี้ ทางออกมีขึ้นกับว่าจะมีใครใส่ใจปฏิบัติหรือไม่ โลกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แม้จะไม่มีใครสามารถหมุนโลกให้ย้อนกลับไป แม่น้ำจะไม่สวยใสดังเช่นวันเก่า แต่มนุษย์ยังต้องอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป แค่เพียงถนอมอย่าสร้างภาระให้โลกต้องมัวหมองมากกว่าที่เป็นอยู่ก็คงจะพอแล้ว
ขอขอบคุณบทความจาก วิชาการ.คอม
-
3355 หยุดโลกร้อนด้วยความพอเพียง /index.php/article-science/item/3355-2013-02-11-03-51-28เพิ่มในรายการโปรด