"ยานอก-ยาใน" ยาไหนดี?
แพทย์เผยหลักเลือกยาง่ายๆ ระหว่างยาแพงของนำเข้ากับยาราคาย่อมเยาผลิตในประเทศ
มุมสุขภาพ วันนี้ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ แนะหลักชั่งใจสำหรับการเลือกซื้อยาใกล้ตัวเพื่อความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไป... ในบรรดายาหาซื้อง่ายตามร้านยาทั่วไปนั้นมักจะมีอยู่ 2เกรดง่ายๆ คือ “ยาใน” กับ “ยานอก” เป็นคำพูดติดปากที่ชอบพูดกันแถมคนส่วนใหญ่คิดว่า ยานอกต้องดีกว่า ทั้งที่ไม่จริงเสมอไป
ยกตัวอย่างการเลือกซื้อยา ถ้าเป็นคนทั่วไป ใครจะรู้ว่าอะไรคือยาใน ไหนคือยานอก เช่น ยาง่ายๆ อย่าง พาราเซตามอล (อะเซตามิโนเฟน) รู้หรือไม่ว่าเป็นยาในหรือยานอก ทั้งนี้ มีตัวอย่างยานอกและยาในที่ใช้บ่อยมาเล่าสู่กันฟัง แม้จะออกฤทธิ์เหมือนกันแต่บางชนิดราคาแพงต่างกันลิบลับเลย
กลุ่มยาแก้ปวด อย่างพาราเซตามอล มีหลายยี่ห้อหลากบริษัท เมื่อถูกจัดเกรดเป็น “ยานอก” แล้วราคาก็จะสูงขึ้น จากถูกสุดเม็ดละไม่ถึงบาทอาจเพิ่มขึ้นเป็น 100%ได้ การเลือกใช้ก็ดูที่ “ขนาด(Dosage)” มี 2 แบบคือ 325 กับ 500 มิลลิกรัม อย่างแรกมักใช้ในเด็ก ส่วนผู้ใหญ่ถ้าตัวเล็กก็อาจเริ่มที่ 500 มิลลิกรัมเม็ดเดียวก่อน ไม่จำเป็นต้อง 2 เม็ดดังในโฆษณาเสมอไป ในกรณีกินยาเม็ดไม่ได้ พาราเซตามอลแบบน้ำก็มีให้เลือก
กลุ่มยาแก้หวัด คนขายก็มักจะให้เลือกว่ามีแบบ “ง่วง” กับ “ไม่ง่วง” จะเอาแบบไหน หลักง่ายๆ คือ เลือกที่เหมาะกับการใช้ชีวิต เช่น ถ้าต้องขับรถทั้งวันอย่าไปเลือกยาง่วงเข้า แต่ถ้ามีเวลาหยุดงานก็เลือกแบบง่วงเพราะช่วยให้ได้พักผ่อน ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ตัวยาแบบไม่ง่วงส่วนใหญ่มักเป็นยานอกซึ่งมีให้เลือกมากชนิด ท่านสามารถใช้ได้ หรือถ้าอยากประหยัดงบก็จบลงที่ยาแก้หวัดที่ดีและถูกอย่าง “คลอเฟนิรามีน” ที่เม็ดละแค่ 10สตางค์
กลุ่มยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะคือชื่อของยากลุ่มนี้ มีทั้งฆ่าเชื้อคออักเสบ, ตาเจ็บ, แผล และท้องเสีย ในเด็กมักอยู่ในรูปยาน้ำขวดละสิบกว่าบาท ถ้าในส่วนของยานอกจะแพงหลักร้อยกว่าขึ้นไป ฤทธิ์ของยาแรงก็จริง แต่ใช่ว่าจะรักษาได้มากกว่ายาราคาถูก เพราะขึ้นอยู่กับ “ชนิดเชื้อ” ที่ใช้ ยกตัวอย่าง คออักเสบ แต่ถ้าไปซื้อยานอกที่ฆ่าไม่ตรงเชื้อก็จะไม่หาย
ส่วนยาฆ่าเชื้อของผู้ใหญ่ อย่างอะม็อกซีซิลลิน แก้คอเจ็บนี้ ถ้าเป็นยานอกก็ราคาต่างกันเป็นเท่าตัว หรืออย่างยาแพงพวก อะม็อกซีคลาวูลิเนต หรือ อะซิโทรมัยซิน ที่กิน 6เม็ดก็ปาเข้าไปเกือบสี่ห้าร้อยบาทแล้ว จะเห็นว่าเม็ดละเป็นร้อยก็มี
กลุ่มวิตามิน แบบของนอกมีทั้งมาจากจีนหรืออินเดีย ซึ่งคุณภาพสินค้าก็จะอีกเกรดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดี ของอย่างนี้ต้องดูที่ชนิด, ปริมาณ และการดูดซึม ไม่จำเป็นต้องแพงเกิน และไม่ควรต้องเลือกแช่อยู่ยี่ห้อเดียว อาจเลือกกระจายกันไปหลายยี่ห้อได้ ข้อควรดูอีกประการ คือ หีบห่อที่ป้องกันแดด และการจัดวางในร้านให้หลบมุมไม่ตากแดดลมจนเกินไป
กลุ่มเวชภัณฑ์อื่น เช่น ยาฉีด, น้ำเกลือ, ออกซิเจน, อุปกรณ์ทำแผล อย่างยาฉีดก็ไม่จำเป็นว่ายานอกต้องดีเสมอไป เพราะในบ้านเราก็ผลิตยาคุณภาพดีได้ไม่แพ้กัน เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ขององค์การเภสัชกรรมก็ทำออกมาได้ในราคาถูกกว่าของนอกเป็นเท่าตัว ช่วยประชาชนคนหาทางเลือกได้เยอะ ทำให้คนเข้าถึงยาได้ ไม่ต้องไปโรงพยาบาลเอกชนรับยาแพงเสมอไป
ขอขอบคุณบทความจาก วิชาการ.คอม
-
3359 "ยานอก-ยาใน" ยาไหนดี? /index.php/article-science/item/3359-q-q-818เพิ่มในรายการโปรด