เผย แอสไพริน ยาขายดีที่สุดในโลก
ประวัติศาสตร์การแพทย์ได้บันทึกว่า ในอดีตเมื่อ 2,440 ปีก่อนนี้ Hippocrates ได้เคยให้คนไข้ที่มีอาการเจ็บปวดตามตัวกินใบหลิว และเคี้ยวเปลือกต้นหลิว อีก 2,000 ปีต่อมา Felix Hoffmann นักเคมีชาวเยอรมันผู้ทำงานประจำที่บริษัท Bayer ได้สังเคราะห์กรด acetylsalicylic ซึ่งสามารถระงับความเจ็บปวด และลดอาการไข้ได้ แต่บริษัท Bayer ได้เรียกผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่นี้ว่า aspirin แอสไพริน ซึ่งอ่านง่ายกว่า โดยใช้อักษร a ในคำ aspirin จาก acetyl และ spirin จากพืช Spiraea ulmaria ซึ่งให้กรด salicylic ที่ประกอบด้วยคาร์บอน 7 อะตอม ไฮโดรเจน 6 อะตอม และออกซิเจน 3 อะตอม
ณ วันนี้ แอสไพรินเป็นยาที่มนุษย์ใช้ในการรักษาบรรเทา และป้องกันสารพัดโรคนับตั้งแต่โรคหัวใจ โรคเส้นโลหิตอุดตัน ใช้กินป้องกันการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และอัลไซเมอร์ บรรเทาอาการ migraine ช่วยให้สัตว์ไม่ตกลูกก่อนกำหนด รักษาปอดไม่ให้เป็นแผล และรักษาแผลไฟไหม้ เป็นต้น การติดตามประวัติความเป็นมาของแอสไพรินในช่วงเวลา 250 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ว่า ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2306 บาทหลวง Edmond Stine แห่งเมือง Chipping-Norton ใน Oxford shire ประเทศอังกฤษได้ส่งงานวิจัยเรื่อง An Account Success of the Bark of the Willow in the Cure of Agues ให้ Earl of Macclesfield ผู้เป็นนายกฯ ของ Royal Society อ่าน โดยได้รายงานว่าเมื่อท่านบาทหลวงนำเปลือกของต้นหลิว (Salix alba) มาบด แล้วนำผงละเอียดที่ได้มาละลายน้ำให้คนไข้ดื่มทุก 4 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า คนไข้โรคมาลาเรียมีอาการดีขึ้น และเมื่อบาทหลวงดื่มน้ำยาดังกล่าว เขาก็พบว่า มันมีรสขมพอๆ กับเปลือกของต้น cinchona ที่แพทย์ในสมัยนั้นใช้รักษาคนเป็นโรคมาลาเรีย อนึ่ง ท่านบาทหลวงยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า การที่ต้นหลิวชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มาลาเรียโปรดปราน เป็นการยืนยันความเชื่อของแพทย์ในสมัยนั้นว่า ที่ใดมีโรคที่นั่นมียารักษา
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2376 E. Merck นักเคมีชาวเยอรมันก็ประสบความสำเร็จในการสกัด salicin บริสุทธิ์ได้ และอีก 5 ปีต่อมาRaffaela Piria นักเคมีชาวอิตาลีก็สังเคราะห์กรด salicylic ได้จากเปลือกหลิว และพบว่าสารที่สกัดได้สามารถลดความเจ็บปวด และรักษาไข้ได้ และในปี พ.ศ. 2402 Herman Kolbe นักเคมีชาวเยอรมันแห่งมหาวิทยาลัย Marburg ก็พบโครงสร้างเคมีของ salicin
ในปี พ.ศ. 2491 L. Craven แพทย์อเมริกันได้สังเกตเห็นว่า เวลาให้คนไข้โรคหัวใจกินยาแอสไพริน อาการโรคหัวใจจะบรรเทาลง ในปี พ.ศ. 2531 วารสาร New England Journal of Medicine ฉบับเดือนเมษายน ได้รายงานว่า ในการสำรวจคน 22,071 คน ที่ได้บริโภคยาแอสไพรินวันละ 325 มิลลิกรัม ได้มีการพบว่า อุบัติเหตุการเป็นโรคหัวใจในกลุ่มคนนี้ ได้ลดลงถึง 44%
ในปี พ.ศ. 2538 John Snow แห่ง Harvard Medical School ก็ได้พบเช่นกันว่า คนไข้โรคหัวใจที่อาการกำเริบมาก หากได้กินยาแอสไพรินวันละเม็ดเป็นเวลานาน 30 วัน ภาพรวมของการเสียชีวิตจะลดลงถึง 23% และถ้ากินยาต่อไปเรื่อยๆ อัตราการตายจะลดลงอีก 15% และนั่นก็หมายความว่า คนอเมริกัน 1.5 ล้านคน ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ ถ้ากินยาแอสไพรินสม่ำเสมอ จำนวนคนที่เสียชีวิตจะลดลงได้หลายหมื่นคน
จึงเป็นว่า ณ วันนี้ นักเคมีเภสัชได้พบแล้วว่า เปลือกต้นหลิวมีสารประกอบ salicylate ในรูปของกรด acetylsalicylic ที่โลกรู้จักในนามง่ายๆ ว่า แอสไพริน และยาชนิดนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เพราะบริษัท Bayer ผลิตยาชนิดนี้มากถึง 80 ล้านเม็ด/ปี จึงคิดเป็นน้ำหนักสูงถึงแสนแปดหมื่นตัน และอเมริกันกินยานี้ 117 เม็ด/คน/ปี
การวิจัยที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของแอสไพรินในการรักษานานาโรคมีมากถึง 3,500 ชิ้น/ปี จนทำให้แพทย์รู้ว่า หากให้คนไข้กินวันละเม็ด แอสไพรินสามารถป้องกันโรคหัวใจวาย และ การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดในสมอง (cerebral thrombosis) ได้ และหากให้คนไข้กินวันละ 2-6 เม็ด ยาสามารถลดอาการไข้ตัวร้อน และความรู้สึกเจ็บปวดได้ แต่ถ้าให้กินวันละ 8-16 เม็ด ยาก็สามารถทำให้อาการปวดตามข้อและโรคเกาต์ลดความรุนแรงได้
นอกจากนี้ แพทย์ก็ยังพบอีกว่า แอสไพรินยังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสูญเสียกรด uric ในไตได้ด้วย
การศึกษาบทบาทของแอสไพริน ในการรักษาไข้ ในปี พ.ศ. 2514 ทำให้เภสัชกรชาวอังกฤษชื่อ John Vane พบว่าแอสไพรินสามารถยับยั้งการผลิตฮอร์โมนชื่อ prostaglandins ในร่างกายที่ทำให้คนรู้สึกเจ็บ และเซลล์ในร่างกายคนสามารถหลั่งฮอร์โมนนี้ออกมาได้ เวลาเซลล์ถูกทำร้ายหรือกระตุ้น การพบนี้ ทำให้ Vane ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2425 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นท่าน Sir ในเวลาต่อมา
พัดนึก แต่เราก็ไม่ควรบริโภคมาก เพราะถ้ามากไปฤทธิ์กรดอาจกัดกระเพาะเป็นแผลทำให้ตกเลือดภายในได้ การสำรวจแสดงให้เห็นว่า 1-2% ของคนที่กินยาแอสไพรินประจำจะมีปัญหาเรื่องเลือดในร่างกาย ส่วนคนที่เป็นโรคหืดประมาณ 10% ก็มีปัญหาในการใช้ยาแอสไพรินเช่นกัน เพราะได้มีการพบว่า เวลาคนที่เป็นโรคหืดแพ้ยาแอสไพรินหน้าจะบวม และอาการหืดจะกำเริบ
งานวิจัยเกี่ยวกับแอสไพรินทุกวันนี้ จึงเป็นไปในทำนองหาด้านดีของแอสไพริน และหาวิธีลดความรุนแรงด้านร้ายของยาสำหรับคนไข้เช่น ในสาร Journal of the National Cancer Institute ฉบับวันที่ 7 มกราคมปีนี้ ซึ่งได้เสนอรายงานของ E.S. Schernhammer แห่ง Harvard Medical School ว่า ตามปกติอาการมะเร็งตับอ่อนในคนมักตรวจ และรักษายาก แต่เท่าที่ได้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างนางพยาบาล 88,378 คนที่ไม่มีใครเป็นมะเร็ง และหลังจากที่ได้บริโภคแอสไพริน ปรากฏว่า ในตอนหลังคน 161 คน เป็นมะเร็งตับอ่อน และ Schernhammer ได้พบว่า นางพยาบาลคนที่กินแอสไพรินมากกว่า 14 เม็ด/อาทิตย์ เป็นมะเร็งตับอ่อนมากเป็น 2 เท่าของคนที่ไม่กิน ส่วนคนที่กิน 4-6 เม็ด/อาทิตย์ เป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่กินถึง 29% ข้อสังเกตที่ได้อีกประการหนึ่งคือ ยิ่งกินแอสไพรินน้อย โอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนก็ยิ่งน้อย
ในวารสาร New Scientist ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปีนี้ G. Morgan แห่ง National Public Health Service ได้เสนอแนะว่า คนรายได้น้อยที่มักเป็นโรคมะเร็ง และโรคหัวใจพอมีอายุเกิน 50 ควรเริ่มกินแอสไพริน (แต่ไม่มาก) เพื่อให้ชีวิตยืนนาน เพราะแอสไพรินมีราคาถูก แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องตระหนักว่า แอสไพรินสามารถให้โทษได้เช่นกัน ดังนั้น งานวิจัยเกี่ยวกับคุณและโทษของแอสไพริน จึงเป็นเรื่องต้องทำ เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และมีความสำคัญต่อชีวิตคนทุกคน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าการรับประทานยาแอสไพรินจะมีประโยชน์ แต่ก็มีฤทธิ์ข้างเคียงที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ข้อสำคัญที่สุดคือถ้ารับประทานไม่เหมาะสมอาจจะเป็นสาเหตุของโรคทางกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะแผลในกระเพาะและลำไส้ ที่อาจร้ายแรงถึงเลือดออกในอวัยวะดังกล่าวได้ ดังนั้น การรับประทานจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
ขอขอบคุณบทความจาก วิชาการ.คอม
-
3360 เผย แอสไพริน ยาขายดีที่สุดในโลก /index.php/article-science/item/3360-2013-02-13-08-49-49เพิ่มในรายการโปรด