แผ่นห้ามเลือดแผลภายนอกร่างกาย
โดย :
Administrator
เมื่อ :
วันพุธ, 06 มีนาคม 2556
Hits
48658
ชีวิตของมนุษย์เป็นเรื่องไม่แน่นอน หลายชีวิตต้องจากโลกไปก่อนเวลาอันควรเพราะอุบัติเหตุต่างๆ แม้หลายรายจะไม่เสียชีวิตทันที แต่ก็เสียชีวิตระหว่างทางไปโรงพยาบาล เนื่องจากเสียโลหิตมาก ดังนั้นการปฐมพยาบาลห้ามเลือดผู้ประสบเหตุจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก
กลไกการห้ามเลือดของร่างกาย
กลไกการห้ามเลือด (Hemostasis) ตามธรรมชาติ ร่างกายมนุษย์เป็นจักรกลมีชีวิตที่มหัศจรรย์มาก ทันทีที่ร่างกายเกิดบาดแผลและมีเลือดไหล กลไกบางอย่างในร่างกายจะทำงานเพื่อห้ามเลือดทันทีดังนี้
1.หลอดเลือดหดตัว หลอดเลือดปกติมีสมบัติยืดหยุ่นดี สามารถหดหรือขยายตัวได้ เมื่อเกิดบาดแผลมีเลือดไหลออกมาร่างกายจะตอบสนองโดยทำให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อลดการเสียเลือด
2.การกระจุกตัวของเกล็ดเลือด ทันทีที่เลือดไหล เกล็ดเลือดซึ่งลอยปะปนอยู่ในกระแสเลือดจะเข้าไปกระจุกตัวบริเวณที่หลอดเลือดฉีกขาด เกล็ดเลือดนอกจากจะมีบทบาทในการแข็งตัวของเลือดแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้เกิดการแข็งตัวของเลือด (platelet factors I, II, III และ IV) ด้วย
3.การเปลี่ยนโปรตีนที่แฝงในน้ำเลือดให้เป็นวุ้นอุดบาดแผล เมื่อร่างกายเกิดบาดแผลจะเกิดการกระตุ้นเปลี่ยนโปรตีนในเลือดให้กลายเป็นวุ้นอุดที่บาดแผล นอกจากนี้ยังมีเซลล์อีกชนิดหนึ่งทำหน้าที่สร้างเส้นใย โดยสานเป็นร่างแหเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหล ระบบห้ามเลือดทั้ง 3 แบบของร่างกายจะทำงานต่อเนื่องและสอดรับกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างไฟบริน ซึ่งเป็นโครงร่างตาข่ายหุ้มกลุ่มเกล็ดเลือดให้แข็งแรงและให้เลือดหยุดไหลในที่สุด
ความเป็นมาแผ่นห้ามเลือด
แม้ร่างกายจะมีกลไกการห้ามเลือดตามธรรมชาติอยู่ แต่การปฐมพยาบาลเพื่อห้ามเลือดยังคงเป็นสิ่งจำเป็น วิธีห้ามเลือดที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันคือ การกดแผล การกดเส้นเลือดแดงเหนือแผล การใช้สายรัด นอกจากวิธีทั่วไปเหล่านี้วงการแพทย์ยังพยายามพัฒนาวิธีห้ามเลือดแบบใหม่ออกมาเพื่อช่วยชีวิตผู้คน ซึ่งการใช้แผ่นปิดแผลห้ามเลือดก็เป็นเทคโนโลยีการห้ามเลือดแบบหนึ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
คนทั่วไปอาจนึกว่า การใช้แผ่นปิดห้ามเลือดเป็นวิธีห้ามเลือดแบบใหม่ แต่ความจริงการพัฒนาวัสดุห้ามเลือดเริ่มมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1909 แล้ว โดยนายเบอร์เจล (Bergel) ได้ทำการทดลอง และรายงานว่า ผงไฟบริน (fibrin – โปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกายที่ทำให้เลือดแข็งตัว) มีสมบัติช่วยห้ามเลือดได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1938 นักวิทยาศาสตร์สามารถสกัดสารทรอมบิน (thrombin) ให้บริสุทธิ์ได้ จึงนำไปผสมกับสารไฟบรินทำแผ่นปิดแผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดผิวหนังให้แผ่นปิดแผลที่ปลูกถ่ายให้ทหารที่โดนไฟลวก
การใช้แผ่นปิดแผลที่มีสารไฟบริน และสารทรอมบินเป็นองค์ประกอบเป็นที่ยอมรับของประเทศแถบยุโรปตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่ไม่ได้รับการยอมรับในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากวงการแพทย์อเมริกันกังวลถึงโอกาสการติดเชื้อจากแผ่นปิดแผล
กระทั่งถึงปี ค.ศ. 1998 องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (Food and Drug Administration, FDA) จึงให้การรับรองผลิตภัณฑ์แผ่นปิดแผลยี่ห้อ Tisseel® ที่ผ่านการตรวจ และอนุมัติให้จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นยี่ห้อแรก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการเตรียมแผ่นปิดแผลห้ามเลือดไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์นี้ก็มีราคาสูง และประเทศไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้เสมอภาค
แผ่นปิดแผลห้ามเลือดฝีมือนักวิจัยไทย
ดร.วนิดา จันทร์วิกูล นักวิจัย และทีมวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติมีความสนใจและศึกษาการนำไคติน/ ไคโตซานมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นเพื่อเตรียมวัสดุห้ามเลือดนานแล้ว โดยเฉพาะอนุพันธ์ของไคโตซานที่ชื่อ สารคาร์บอกซีเมทิลไคโตซาน (carboxymethyl chitosan) เนื่องจากอนุพันธ์ของสารนี้มีสมบัติโดดเด่นหลายอย่าง เช่น ช่วยเร่งการแข็งตัวของเลือด สามารถละลายน้ำได้ มีความเป็นพิษต่ำ มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพ และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
หลังจากดำเนินการวิจัยและพัฒนามาระยะหนึ่ง ดร.วนิดา และทีมวิจัยก็สามารถพัฒนาต้นแบบแผ่นห้ามเลือดสำหรับแผลภายนอกสำเร็จ และได้ร่วมมือกับทีมแพทย์จากโรงพยาบาลอ่างทอง จ.อ่างทอง ในการศึกษาประสิทธิภาพการห้ามเลือดของผลิตภัณฑ์โดยการทดลองใช้จริง เพื่อเปรียบเทียบกับแผ่นปิดแผลห้ามเลือดที่มีการจำหน่าย 2 ชนิด โดยแผ่นห้ามเลือดต้นแบบถูกนำมาใช้กับแผล split thickness skin graft donor site ในผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บที่มีการปลูกถ่ายผิวหนังได้ดี
ทีมวิจัยและทีมแพทย์ได้ทดลองใช้แผ่นปิดแผลห้ามเลือดกับผู้ป่วย 12 ราย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา พบว่าวัสดุต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมาสามารถดูดซับเลือดได้ดี สามารถหยุดเลือดได้ดีกว่าวัสดุห้ามเลือดที่มีการจำหน่ายทั้ง 2 ชนิด และไม่ต้องใช้ผ้าก๊อซปิดทับวัสดุปริมาณมาก นอกจากนี้เนื่องจากแผ่นปิดแผลต้นแบบมีความสามารถในการดูดซับเลือดดีจึงช่วยให้แผลมีสภาพแห้ง และสัมผัสกับวัสดุได้ดี ส่งผลให้ประสิทธิภาพการห้ามเลือดดียิ่งขึ้น
ในปัจจุบันทีมวิจัยกำลังทำการทดสอบแผ่นปิดแผลห้ามเลือดภายนอกเพิ่มเติมเพื่อเก็บข้อมูลให้ครบจำนวน 20 ราย และในขณะเดียวกันก็กำลังติดต่อภาคเอกชนที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัสดุห้ามเลือดนี้ เพื่อนำไปผลิตใช้จริงกับผู้ป่วยในอนาคต
ความรู้ประกอบ
คาร์บอกซีเมทิลไคโตซาน เป็นสารอนุพันธ์ของไคโตซาน ที่ได้จากการทำปฏิกิริยาคาร์บอกซีเมทิลเลชัน (carboxymethylation) ของไคโตซานในสภาวะที่เป็นด่าง สารนี้ละลายได้ในน้ำ มีความเป็นพิษต่ำ และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
เรียบเรียงข้อมูลโดย บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์
คำสำคัญ
แผ่น,เลือด,แผล
ประเภท
Text
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
Administrator
วิชา
ชีววิทยา
ระดับชั้น
ม.4, ม.5, ม.6
กลุ่มเป้าหมาย
ครู, นักเรียน, บุคคลทั่วไป
-
3401 แผ่นห้ามเลือดแผลภายนอกร่างกาย /index.php/article-biology/item/3401-2013-03-06-06-58-31เพิ่มในรายการโปรด