สารเปปไทด์ "ไฮโปครีติน" คือสารแห่งความสุข?
อะไรที่ทำให้เรามีความสุข? ครอบครัว? เงิน? ความรัก? และมันเกี่ยวข้องกับเปปไทด์อย่างไร?
ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของมนุษย์และพฤติกรรมทางสังคมยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด นักวิทยาศาสตร์จาก UCLA จึงได้ทำการตรวจวัดการหลั่งของสารเปปไทด์จำเพาะซึ่งเป็นสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ชื่อว่าไฮโปครีติน (hypocretin)
การศึกษานี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ฉบับเดือนมีนาคม โดย Jerome Siegel ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Center for Sleep Research at UCLA's Semel Institute for Neuroscience and Human Behavior ได้อธิบายภาวะง่วงนอนและภาวะซึมเศร้าที่พบได้บ่อยในโรคลมหลับ (narcolepsy) ซึ่งเขาพบว่าภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์อย่างมากกับโรคลมหลับ และคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคลมหลับนี้จะมีอาการทางระบบประสาท เช่น ไม่สามารถควบคุมช่วงเวลาของการนอนหลับลึกได้ โดยพบว่า 95% มีสารไฮโปครีตินของเซลล์ประสาทในสมองลดลงมากกว่าในคนที่ไม่มีความผิดปกติ
Siegal และทีมวิจัยของเขาจึงได้เริ่มศึกษาสารไฮโปครีตินและความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ของการเกิดภาวะซึมเศร้า รวมถึงตรวจวัดสารเปปไทด์ ที่ชื่อว่า melanin conncentrating hormone หรือ MCH ด้วย นักวิจัยได้ทำการตรวจวัดปริมาณสารไอโปครีติน และ MCH ที่หลั่งจากสมองโดยตรง ในผู้ป่วยจำนวน 8 ราย ซึ่งได้รับการรักษาโรคลมชักที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา (intractable epilepsy) โดยผู้ป่วยจะถูกสังเกตทุกๆ 15 นาที ในขณะที่พวกเขาดูโทรทัศน์, มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การพูดคุยกับแพทย์ พยาบาล หรือครอบครัว, การกิน, และการตื่น-นอน หลังจากนั้นเมื่อทำการตรวจวัดปริมาณจะพบว่าระดับสารไฮโปครีตินพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นในระหว่างอารมณ์เชิงบวก, มีความสุข, การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการตื่นนอน และมีปริมาณลดลงเมื่อพวกเขามีอารมณ์เศร้า แสดงให้เห็นว่าการทำงานของสารไฮโปครีตินสามารถเพิ่มอารมณ์และความตื่นตัวของมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม ระดับของ MCH จะมีปริมาณสูงสุดในระหว่างการนอนหลับ และมีปริมาณน้อยในขณะตื่นหรือระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แสดงให้เห็นว่าสารเปปไทด์ MCH มีบทบาทสำคัญในการนอนหลับของมนุษย์
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการขาดสารไฮโปครีตินอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และรูปแบบการกระตุ้นการทำงานที่ผิดปกติของระบบเหล่านี้อาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ ในปัจจุบันบริษัทยาต่างๆ ได้พัฒนาสารต่อต้านไฮโปครีตินเพื่อใช้เป็นยานอนหลับ ซึ่งยาเหล่านี้จะเปลี่ยนอารมณ์ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันการให้สารไฮโปครีตินจะช่วยยกระดับอารมณ์และความตื่นตัวในมนุษย์
ขอขอบคุณบทความจาก วิชการ.คอม
-
3429 สารเปปไทด์ "ไฮโปครีติน" คือสารแห่งความสุข? /index.php/article-science/item/3429-qq-828เพิ่มในรายการโปรด