ผงะ!40ปีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น100เท่า กระทบชีวิตสัตว์ทะเลแปซิฟิก
ปริมาณชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กที่ ลอยเท้งเต้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่ง ตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา! รายงานดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารไบโอโลจี้ เลตเตอร์ เป็นผลงานนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ ในสหรัฐ อเมริกา ที่ได้จากการสำรวจน่านน้ำนอกชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย
มิเรียม โกลด์สไตน์ นักวิจัยกล่าวว่า การออกไปสำรวจตอนเหนือของแปซิฟิกนั้น พบอะไรได้หลากหลาย ดังนั้นการพบปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบและปริมาณมากเป็นเรื่องน่าตกใจ และเหนือความคาดหมาย พลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลและไม่จม ท้ายสุดจะถูกแดดเผา และคลื่นซัดจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บางชิ้นเล็กเท่านิ้วหรือเล็กกว่านั้น สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลคือสัตว์ทะเลทั้งหลายจะกินชิ้นส่วนพลาสติกเข้าไป ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยจากหลายหน่วยงานก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่าปลาจากบริเวณดังกล่าวร้อยละ 9 มีขยะพลาสติกในกระเพาะ รายงานชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารมารีน อิโคโลจี โพรเกรส ซีรีส์ระบุว่า ปลาในมหา สมุทรแปซิฟิกตอนเหนือย่อยพลาสติกในอัตราคร่าวๆ 12,000-24,000 ตันต่อปี
นอกจากความกังวลเรื่องสารพิษแล้ว นักวิจัยยังชี้ว่าขยะเหล่านี้กระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สัตว์หลายชนิดต้องปรับตัวเข้าหาสิ่งแปลกปลอม ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ทั้ง เพรียงและปู ปลาที่ชอบอยู่ใต้ที่ซ่อน รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ 'แปซิฟิกเหนือไม่ได้มีสาหร่ายลอยน้ำเหมือนในทะเลซาร์กัสโซของแอตแลนติกเหนือ ซึ่งสัตว์ พืชและจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนพื้นผิวแข็งจะแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันที่อาศัยอยู่กับสาหร่าย ซึ่งพลาสติกเหล่านี้กลายเป็นวัสดุพื้นผิวแข็งหลายร้อยชิ้นที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของมหาสมุทรแปซิฟิก' โกลด์สไตน์กล่าว
ขอขอบคุณบทความจาก วิชาการ.คอม
-
3436 ผงะ!40ปีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น100เท่า กระทบชีวิตสัตว์ทะเลแปซิฟิก /index.php/article-science/item/3436-40100เพิ่มในรายการโปรด