วุ้นตาเสื่อม
โดย :
Administrator
เมื่อ :
วันพุธ, 27 มีนาคม 2556
Hits
35576
วุ้นตา (vitreous humour) เป็นสารใสคล้ายเจลบรรจุอยู่ภายในลูกตา ไม่มีหลอดเลือดเลี้ยง มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำ มีส่วนประกอบสำคัญเป็นคอลลาเจน รวมถึงมีโปรตีนอื่นๆ ทำให้วุ้นตามีลักษณะคงรูปอยู่ได้ วุ้นตามีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจริญของตา เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน มีส่วนในการป้องกันการเจริญของแบคทีเรียและการอักเสบ มีส่วนช่วยในการรักษาเลนส์ และเป็นตัวพยุงลูกตาให้คงรูปเป็นทรงกลมอยู่ได้
โดยทั่วไปวุ้นตาจะมีลักษณะใสแต่อาจมีลักษณะที่ขุ่นได้ เช่น การมีเลือดออกจากการกระทบกระแทก หรือหากมีสิ่งแปลกปลอมใดๆ อยู่ในวุ้นตา ก็จะเป็นเหมือนสิ่งที่มาบดบังทางเดินของแสงเช่น จะทำให้รู้สึกเห็นเหมือนมีเงาลอยไปมา โดยอาจเห็นแตกต่างกันได้หลายแบบ เช่น เป็นจุดเล็กๆ กระจาย เป็นวงกลม เป็นเส้น หรือใยแมงมุม จะรู้สึกและสังเกตได้ง่ายขึ้นเวลามองไปยังพื้นผิวที่เรียบและเป็นสีอ่อน เช่น ผนังห้องสีขาว กระดาษสีขาว หรือท้องฟ้า โดยจะเห็นเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมลอยไปมา และมีลักษณะเคลื่อนหนีเมื่อพยายามเพ่งมอง ทำให้เรียกลักษณะอาการแบบนี้เราว่า vitreous floater ซึ่งโดยทั่วไปจะพบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากขึ้น
การเกิด vitreous floater
โดยที่จริงแล้วสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในคนอายุน้อยอาจเกิดจากมีการรวมตัวกันของคอลลาเจนเป็นเส้น ซึ่งโดยทั่วไปจะเห็นเงาลักษณะเป็นเส้น มีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเกิด vitreous floater ในผู้ป่วยที่อายุมาก
ในกรณีของผู้สูงอายุวุ้นตาจะมีลักษณะเปลี่ยนไปเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบภายในวุ้นตา อาจมีการหดตัวของวุ้นตาทำให้มีการลอกของวุ้นตาทางด้านหลัง (posterior vitreous detachment, PVD) หรือด้านที่ติดกับจอตาหรือเรตินา (retina) ที่เป็นส่วนสำคัญของการรับภาพ การลอกของวุ้นตาจากจอตาจะทำให้เห็นลักษณะของแสงแฟลชซึ่งอาจรู้สึกได้ชัดขึ้นในตอนกลางคืน การหลุดลอกของวุ้นตาอาจทำให้มีอันตรายต่อการมองเห็นที่รุนแรงตามมา อาจทำให้เกิดการดึงรั้งจอตาจนเกิดการฉีกขาด หรือเส้นเลือดที่จอตาฉีกขาดจนมีเลือดออกในวุ้นตาได้ รวมถึงอาจมีการหลุดลอกของจอตาตามมา ทำให้การมองเห็นในตำแหน่งที่จอตาหลุดลอกมืดไป และถ้าทิ้งไว้นานจอตาบริเวณนั้นจะตาย ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรและมักจะลุกลามจนทำให้ตาข้างนั้นบอดได้การเกิด vitreous floater
สำหรับคนที่มีภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจจอตา เมื่อรู้สึกว่ามีเงาดำ หรือ floater ใหม่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หรือเห็นมากขึ้นแล้วค่อยๆหายไป หรือรู้สึกมีแสงสว่าง (flashing) คล้ายฟ้าแลบหรือไฟแฟลชกล้องถ่ายรูปเกิดขึ้นในลูกตาข้างใดข้างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวบ่อยๆ ซึ่งแสงที่เห็นเกิดขึ้นจากการฉีกขาดของจอตา
ดังนั้นถ้ารู้สึกว่ามีอาการมองเห็นเงาลอยไปมา ควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจจอตาอย่างละเอียดว่า วุ้นตาที่เสื่อมนี้เป็นชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ ส่วนความรู้สึกที่มีเงาลอยไปมาจะค่อยๆ ลดลงไปเองเมื่อเวลาผ่านไป และก่อให้เกิดความรำคาญน้อยมาก แม้ว่าในบางคนอาจยังรู้สึกอยู่ได้นานเป็นปีไม่จำเป็นต้องให้การรักษา เนื่องจากภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อมโดยลักษณะแล้วไม่ได้ถือว่าเป็นโรค แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติของร่างกายเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากโรคจอตาเสื่อมที่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง
นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ปัจจัยที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการเกิด vitreous floater และ PVD คือ การมีสายตาสั้น ซึ่งพบว่าคนที่มีสายตาสั้นจะมีการเกิดการเสื่อมของวุ้นตาและมี PVD เร็วกว่าคนที่สายตาปกติหรือสายตายาว รวมถึงการป่วยเป็นเบาหวานก็พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของวุ้นตาด้วย
การรักษาภาวะวุ้นตาเสื่อม
1. ไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานที่รักษาการเสื่อมของวุ้นตาได้ แต่การรักษาและวิธีรักษาขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
2. เนื่องจากภาวะนี้เป็นการเสื่อมของวุ้นตา เมื่อเกิดความเสื่อมก็จะคงอยู่ไปตลอด แต่การเสื่อมจะไม่มีอันตรายหากไม่มีการดึงรั้งจอตาให้ฉีกขาดซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้มากในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากที่เริ่มมีอาการของภาวะวุ้นตาเสื่อม
3. ถ้าแพทย์ตรวจพบการฉีกขาดของจอตา แพทย์อาจรักษาเพื่อหยุดการฉีกขาดโดยการใช้แสงเลเซอร์ แต่ถ้าไม่พบการฉีกขาด แพทย์อาจนัดเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัด แต่หากพบว่ามี floaters เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันหรือมีแสงแฟลชถี่ขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียด โดยไม่ต้องรอพบตามนัด
เอกสารอ้างอิง
1. Gella L, Raman R, Kulothungan V & Sharma T. Prevalence of posterior vitreous detachment in the population with type II diabetes mellitus and its effect on diabetic retinopathy: Sankara Nethralaya Diabetic Retinopathy Epidemiology and Molecular Genetic Study SN-DREAMS report no. 23. Jpn J Ophthalmol 2012 56 262-267.
1. Gella L, Raman R, Kulothungan V & Sharma T. Prevalence of posterior vitreous detachment in the population with type II diabetes mellitus and its effect on diabetic retinopathy: Sankara Nethralaya Diabetic Retinopathy Epidemiology and Molecular Genetic Study SN-DREAMS report no. 23. Jpn J Ophthalmol 2012 56 262-267.
2. Kleinberg TT, Tzekov RT, Stein L, Ravi N & Kaushal S. Vitreous substitutes: a comprehensive review. Surv Ophthalmol 2011 56 300-323.
3. Sendrowski DP & Bronstein MA. Current treatment for vitreous floaters. Optometry 2010 81 157-161.
4.Bishop PN. Structural macromolecules and supramolecular organisation of the vitreous gel. Prog Retin Eye Res 2000 19 323-344.
เรียบเรียงข้อมูลโดย ต่อศักดิ์ อินทรไพโรจน์
คำสำคัญ
ตา,เสื่อม
ประเภท
Text
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
Administrator
วิชา
ชีววิทยา
ระดับชั้น
ม.4, ม.5, ม.6
กลุ่มเป้าหมาย
ครู, นักเรียน, บุคคลทั่วไป
-
3440 วุ้นตาเสื่อม /index.php/article-biology/item/3440-2013-03-27-07-11-48เพิ่มในรายการโปรด