โรคตาขี้เกียจ
โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia)
สายตาขี้เกียจคืออะไร?
สายตาขี้เกียจ หมายถึง ภาวะที่ความสามารถในการมองเห็นของดวงตา ข้างใดข้างหนึ่งด้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง โดยดวงตาข้างที่เป็นสายตาขี้เกียจจะมองเห็นภาพต่าง ๆ มัวกว่าดวงตาอีกข้างที่เป็นปกติ ภาวะสายตาขี้เกียจนี้มักเกิดขึ้นในเด็กเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 -7 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจจะทำให้มีอาการตามัวเช่นนี้อย่างถาวร และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการใช้แว่นตา ทานยา หยอดยา การผ่าตัด หรือการทำเลสิกเพื่อรักษาปัญหาทางสายตา
อาการของโรคสายตาขี้เกียจ โดยปกติแล้ว มนุษย์เราจะมีการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการทางด้านต่างๆ ตามปกติ “ดวงตา” ก็เช่นกัน จะมีการพัฒนาความสามารถในการมองเห็นโดยเริ่มตั้งแต่แรกเกิด
แต่หากมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาและทำให้ดวงตาทั้งสองหรือข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่จะทำให้ดวงตาข้างที่ใช้น้อยนั้นมีพัฒนาการในการมองเห็นไม่เต็มที่ เพราะไม่ได้รับการกระตุ้น สมองจะสั่งการให้ตาข้างที่ไม่ชัดมองเห็นภาพไม่ชัดเจนเช่นนั้นตลอดไป โดยสมองจะจดจำว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพที่ชัดที่สุดที่สามารถมองเห็นได้แล้ว
โรคสายตาขี้เกียจนี้หากพ่อแม่คอยสังเกตพฤติกรรมของลูก และพาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ยังมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า สายตาขี้เกียจคืออะไร จึงไม่ได้พาลูกไปเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้พลาดโอกาสในการรักษาไปอย่างน่าเสียดาย เพราะโดยมากแล้ว หากมาเข้ารับการรักษาหลังจากที่เด็กอายุเกิน 7 ปีไปแล้ว พัฒนาการของการมองเห็นจะยุติลง การรักษาให้หายขาดจึงเป็นไปได้ยาก หรือแทบจะไม่มีเลย
สาเหตุของโรคสายตาขี้เกียจ
สายตาขี้เกียจ จากโรคตาเหล่ : เด็กที่มีอาการตาเหล่ เช่นตาเหล่เข้าด้านใน จะเกิดการมองเห็นภาพซ้อนหากใช้ดวงตาทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน สมองจึงสั่งการให้ไม่ใช้งานในดวงตาข้างที่ผิดปกติจึงทำให้ดวงตาข้างนั้นไม่ได้รับการพัฒนาทางการมองเหมือนกับดวงตาอีกข้าง
สายตาขี้เกียจ จากสายตาทั้งสองข้าง สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงไม่เท่ากัน : เช่น สายตาข้างหนึ่งสั้นมากกว่าอีกข้างหนึ่ง ภาวะเช่นนี้เด็กมักจะใช้ดวงตาข้างที่มองเห็นได้ชัดกว่าเป็นหลักในการมองภาพ ส่วนอีกข้างจะถูกใช้งานน้อย หรืออาจจะไม่ได้ใช้เลย
สายตาขี้เกียจ จากสายตาสั้น สายตายาวหรือเอียงมากทั้งสองข้าง : ภาวะนี้อาจทำให้เกิดสายตาขี้เกียจได้ในตาทั้งสองข้าง เนื่องจากจะมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งสองข้าง
โรคทางตาอื่น ๆ : เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด โรคกระจกตาดำขุ่นมัว หนังตาตกมากจนปิดรูม่านตา หรือโรคเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา เป็นต้น โรคต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้แสงเดินทางผ่านเข้าไปในดวงตาไม่ดีจึงมองเห็นภาพไม่ชัด เด็กก็จะใช้ดวงตาอีกข้างที่ดีกว่าเป็นหลักในการมอง
วิธีรักษาโรคสายตาขี้เกียจ
การรักษาโดยการผ่าตัด : กรณีที่สามารถทำการผ่าตัดเพื่อรักษาได้ เช่น ผ่าตัดต้อกระจก, เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา, หนังตาตก ควรได้รับการผ่าตัดก่อน จากนั้นจึงค่อยรับการทำการพัฒนาการมองเห็น โดยการปิดตาข้างที่ดีกว่าเพื่อกระตุ้นให้ดวงตาอีกข้างที่ด้อยกว่าได้ถูกใช้งานบ้าง
การรักษาโดยการใช้แว่นสายตา : ในกรณีที่สายตาขี้เกียจจากปัญหาความผิดปกติทางสายตา จะเริ่มโดยการใช้แว่นสายตาก่อน ซึ่งหากเด็กเริ่มมองเห็นชัดจากการใช้แว่น ก็ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการในการมองเห็นได้
การรักษาในกรณีที่มีตาเหล่ หรือเริ่มมีอาการตาขี้เกียจแล้ว : จะกระตุ้นโดยการปิดตาข้างที่ดี เพื่อให้ตาข้างที่ด้อยกว่าได้รับการใช้งาน ซึ่งควรปิดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง จนกว่าสายตาทั้งสองข้างจะมองเห็นปกติ แต่ละรายอาจจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ทั้งนี้ การรักษาโรคสายตาขี้เกียจมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ เริ่มตั้งแต่สังเกตพฤติกรรมในการมองของลูก หากพบอาการผิดปกติควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ และหากต้องการได้รับการรักษา เช่น การปิดตานั้น ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในความสำเร็จของการรักษา โดยจะต้องดูแลให้เด็กปิดตาในข้างที่กำลังรักษาตามเวลาที่แนะนำ หากเด็กไปโรงเรียนแล้วถูกเพื่อนล้อ อาจจะต้องคอยให้กำลังใจ และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
โรคตาขี้เกียจนี้ สามารถรักษาได้หากพบอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้น ทางที่ดีควรหมั่นสังเกตุบุตรหลานของท่าน หรือพาไปตรวจเช็คสายตากับจักษุแพทย์ก่อนวัยเข้าเรียนก็จะช่วยป้องกันปัญหาได้อีกทางหนึ่งนะคะ
ที่มา : Laservision International LASIK Center (Bangkok)
-
3522 โรคตาขี้เกียจ /index.php/article-biology/item/3522-2013-05-10-08-11-08เพิ่มในรายการโปรด