รับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์
จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเรื่อเลวร้ายที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เพราะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้เกิดอันตรายและเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างมากมายมหาศาล สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ในขณะที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เราควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อจะได้ปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องและรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้
ภาพที่ 1 ภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหว
ที่มา https://pixabay.com
เทคโนโลยีสื่อสาร เครื่องมือสำคัญช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ
ภาพที่ 2 รถสื่อสารฉุกเฉิน
https://www.nstda.or.th/
รถสื่อสารฉุกเฉิน ที่สามารถเปิดใช้ระบบสื่อสารและอินเทอร์เน็ตได้ในภาวะฉุกเฉินหรือเกิดภัยธรรมชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) ในสังกัดของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ทำการออกแบบและพัฒนาระบบสื่อสารฉุกเฉิน EECV (Emergency and Educational Communication Vehicle) ใช้สำหรับในการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยหรือทุรกันดารได้อย่างรวดเร็ว
ภาพที่ 3 เครื่องชาร์จไฟฉุกเฉิน
https://www.nstda.or.th/
เครื่องชาร์จไฟโทรศัพท์ในยามฉุกเฉิน จากแบตเตอรี่ 12 โวลท์จากรถยนต์ โดยใช้อินเวอร์เตอร์ที่มีขนาดตั้งแต่ขนาด 80 วัตต์ จนถึง 1000 วัตต์ แปลงแรงดันจาก 12 โวลท์ดีซี เป็น 220 โวลท์เอซี จากนั้นต่อพ่วงสายแบตเตอรี่สีแดงเข้าที่ขั้วบวก (+) และสายสีดำเข้าที่ขั้วลบ (-) ของทั้งฝั่งอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ ก็ได้เครื่องชาร์จโทรศัพท์มือถือแล้ว
ระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม
ดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ถือว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก การอาศัยข้อมูลสารสนเทศจากระบบต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีตรวจวัดข้อมูลจากภาคสนามในระยะไกล ระบบตรวจจับความสั่นสะเทือนความไวสูง ระบบเครือข่ายในการเตือนภัย ระบบสมองกลฝังตัวในการเก็บข้อมูล ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ระบบวัดอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ ระบบวัดปริมาณน้ำฝน ระบบวัดความเร็วและทิศทางของลม ระบบเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ยังเว็บไซต์ส่วนกลางโดย GPRS / GSM รวมถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น เซ็นเซอร์ทั้งหมดถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนการป้องกัน การเตรียมรับมือ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยได้มีการเฝ้าระวังก่อนเกิดเหตุการณ์ หรือมีการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว และสามารถระบุพื้นที่เสี่ยงได้อย่างชัดเจน สามารถรับมือ วางแผนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงทีเมื่อมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
แคปซูล "โนอาห์" สำหรับใช้หลบภัยสึนามิ
ภาพที่ 4 Noah’ Capsule
ที่มา http://www.creativemove.com/
‘Noah’ Capsule อุปกรณ์ที่สร้างมาเพื่อการใช้งานสำหรับเหตุการณ์ซึนามิโดยเฉพาะ นวัตกรรมหลบภัยพิบัติฉุกเฉินที่มีลักษณะคล้ายลูกเทนนิสขนาดยักษ์สีเหลือง เพื่อง่ายต่อการมองเห็น ลักษณะวงกลมก็เพื่อให้สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตร มีหน้าต่างเล็ก ๆ สามารถมองออกไปด้านนอกได้ และมีช่องสำหรับหายใจ ทำขึ้นจากไฟเบอร์กลาสเสริมแรงชนิดพิเศษ มีความแข็งแกร่งสูง สามารถกันน้ำและกันกระแทก แคปซูลดังกล่าวผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยและการรับน้ำหนักซึ่งสามารถบรรจุคนได้ทั้งหมด 4 คน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ล้วนเป็นที่มาให้เกิดนวัตกรรมหรือเครื่องมือที่จะสามารถช่วยให้มนุษย์เราป้องกันและเตรียมตัวรับมือปัญหาภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แหล่งที่มา
(2553,29 ตุลาคม). เทคโนโลยีสื่อสาร เครื่องมือสำคัญช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ. สืบค้นเมื่อ22 สิงหาคม 2560, จาก
https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/2432-communication-technology-for-emergency-preparedness
เทียนชัย จำรัสสกุล. ระบบเตือนภัยดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก. สืบค้นเมื่อ22 สิงหาคม 2560, จาก
http://www.most.go.th/main/en/2015-04-20-09-12-37/2015-04-20-09-17-36/116-nstda/1687-2010-06-09-05-19-08
Noah Capsule นวัตกรรมหลบภัยฉุกเฉินป้องกันภัยพิบัติจากซึนามิ. สืบค้นเมื่อ22 สิงหาคม 2560, จาก
http://www.creativemove.com/design/noah-capsule/
-
7467 รับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์ /index.php/article-science/item/7467-2017-09-08-03-04-41เพิ่มในรายการโปรด