ฝูงบิน Drone เพื่อการโจมตีรูปแบบใหม่
ระยะหลังมานี้ เราได้เห็นอยู่เสมอว่า โดรน (Drone) ถูกนำไปใช้ประโยชน์ใหนหลากหลายวงการด้วยกัน ในทางด้านการทหาร หรือการสงครามก็เช่นกัน โดรน ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการโจมตีอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงรูปแบบใหม่ทางการทหาร
ภาพที่ 1 อากาศยานไร้คนขับหรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle)
ที่มา https://pixabay.com
โดรน มีการทำงานโดยใช้ระบบควบคุม (Control System)ทำงานโดยใช้ระบบการบินอัตโนมัติที่อาจควบคุมการบินได้จาก 2 วิธีคือ การควบคุมอัตโนมัติจากระยะไกล หรือการบินด้วยตนเองจากการสั่งการโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกตั้งการทำงานไว้โดยอัตโนมัติ มีระบบการส่งและกลับคืน (Launch and Recovery System) จากฐานที่ตั้งบนภาคพื้นดิน อาจมีรันเวย์หรือไม่มีก็ได้ มีระบบนำร่องและนำวิถี (Navigation and Guidance System) เช่น จีพีเอส (GPS) เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนตามทิศทางที่กำหนด และควบคุมจากทั้งคอมพิวเตอร์หรือนักบินที่บังคับการบิน มีระบบสัญญาณรับส่งข้อมูลโดยใช้คลื่นวิทยุ มีการติดตั้งกล้องเพื่อเก็บบันทึกภาพหรือวีดีโอระยะไกลไว้บนตัวเครื่อง ซึ่งสามารถบันทึกได้ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน ภาพหรือวีดีโอจะถูกส่งสัญญานมายังจอภาพที่ควบคุมจากภาคพื้นดิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรุ่นหรือลักษณะการนำไปใช้ของโดรนแต่ละรุ่น
โดรน ที่ใช้ในทางการทหาร เรียกว่า อากาศยานไร้คนขับหรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในระดับยุทธศาสตร์ทางทหารของหลายประเทศ โดยมีข้อมูลทางการ 11 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน อิสราเอล ปากีสถาน อิหร่าน อิรัก ไนจีเรีย โซมาเลีย แอฟริกาใต้ และอิตาลี
การรบที่เปลี่ยนรูปแบบไปใช้ โดรน หรือหุ่นยนต์ในอนาคต ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ในอดีตแล้ว เช่นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 โดรน ถูกใช้เป็นอุปกรณ์สอดแนม ลาดตระเวน หาข่าวในสนามรบ และทำลายเป้าหมาย โดยมีประสิทธิภาพที่สามารถบินต่อเนื่อง ถือเป็นการโจมตีที่ลดการสูญเสียทางชีวิต เพราะทำให้อาจมีทหารเสียชีวิตในสนามรบได้น้อยลง แต่ในทางความสามารถในการทำภารกิจต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายและซับซ้อนไร้การควบคุม ก็อาจทำให้ผลลัพธ์ของสงครามนั้นรุนแรงยิ่งกว่าปกติเช่นเดียวกัน
สิ่งที่น่าสนใจการปฏิบัติการและการโจมตีที่ใช้โดรน
- มีอยู่ 3 ประเทศคือ สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล ที่นำโดรนมาใช้ในการโจมตีนอกเขตแดนประเทศตน
- ประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศมุสลิม
- การโจมตีก็มีอยู่ 2 ลักษณะคือ เพื่อทำสงครามระหว่างประเทศ กับใช้เพื่อโจมตีเป้าหมายกลุ่มขบวนการติดอาวุธมุสลิม เช่นกลุ่มก่อการร้าย
- การโจมตีทางอากาศโดยใช้โดรนมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
- การโจมตีทางอากาศไม่สามารถแยกแยะระหว่างผู้บริสุทธิ์กับกลุ่มติดอาวุธได้
ส่วนในประเทศไทยได้มีการนำโดรนมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ใช้ในภารกิจตรวจการณ์และถ่ายภาพ ปี พ.ศ.2546 ใช้ในภารกิจตรวจการณ์ ชี้เป้า และเป็นผู้ตรวจการณ์หน้า ในการยิงปืนใหญ่ ต่อมาก็มีการจัดซื้อโดรนขนาดเล็ก ในภารกิจตรวจการของหน่วยทหารใน จชต. จนกระทั่งปัจจุบัน และใช้ในส่วนของภาคพลเรือน เป็นโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตร รวมทั้งใช้รายงานภาพข่าวในวงการสื่อสารมวลชน
ถ้ามองมุมมองด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี บทบาทของโดรนในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีจะมีศักยภาพที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อทำลายเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ก็อาจเป็นผลเสียที่ร้ายแรงตามมาได้เช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา
เทคโนโลยีโดรน : บทบาทจริยธรรมในการนำมาใช้. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2560, จาก
http://www.sc.mahidol.ac.th/ic/SSC/ASEAN%20Weekly%20Focus11-17Nov13.pdf
DRONE ATTACK:การโจมตีแบบไม่พลีชีพ. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2560, จาก
http://www.komchadluek.net/news/scoop/156435
waraporn. (2559, 27 พฤษภาคม). อากาศยานไร้คนขับ. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2554, จาก
https://www.dronecademy.org/unmanned-aircraft/
-
7462 ฝูงบิน Drone เพื่อการโจมตีรูปแบบใหม่ /index.php/article-technology/item/7462-droneเพิ่มในรายการโปรด