พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยใฝ่รู้และทรงศึกษาอย่างจริงจัง ทรงนำวิทยาการสมัยใหม่ของต่างประเทศมาศึกษา ตลอดจนความรู้ทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่ เข้ามาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างระมัดระวัง และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ของประเทศ ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากการนำเทคโนโลยีทางด้านต่าง ๆ มาใช้พัฒนาและประยุกต์งานด้านต่าง ๆ ในพระราชกรณียกิจของพระองค์ และเนื่องจากวันนี้ เป็นวันเทคโนโลยีของไทย จึงขอนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาให้ได้อ่านกัน เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์ และพระวิริยะอันสูงส่งที่ทรงศึกษา ค้นคว้า วิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่พัฒนาประเทศ อันนำมาซึ่งความเจริญ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมากมายมหาศาล
ภาพการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่มา ภาพจากงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2560
19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของไทย จากการศึกษาและค้นพบวิธีการทำฝนเทียมสูตรใหม่ของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการ และก็ประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ สร้างความประทับใจและยินดีแก่คณะผู้แทนรัฐบาลสิงค์โปร์ และผู้เฝ้าทูลละออง ธุลีพระบาท ในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้มีมติว่า ให้ความเห็นชอบพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันเทคโนโลยีของไทย"
การทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีย่างต่อเนื่อง ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ
โครงการแกล้งดิน เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว
โครงการหญ้าแฝก เทคโนโลยีป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
โครงการแหลมผักเบี้ย เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย
โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย
โครงการคลองลัดโพธิ์ เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม
ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงงาน ภาพที่เราเห็นจนชินตา จากทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยาก เมื่อพบปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร พระองค์จะทรงนำกลับมาขบคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการปัญหานั้น ๆ พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อนแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้แก่ปวงชนชาวไทย
แหล่งที่มา
ชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ . (2559,17 ตุลาคม). เทิดพระเกียรติ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” 19 ตุลาคม “วันเทคโนโลยีของไทย”. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2560, จาก
https://www.most.go.th/main/th/about/hostory/father-of-technology/item/5729-22225
-
7470 พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย /index.php/article-technology/item/7470-2017-09-08-03-18-58เพิ่มในรายการโปรด