ซากดึกดำบรรพ์กับความอยากรู้
แน่นอนชื่อบทความนี้บ่งบอกอยู่แล้ว คำว่าดึกดำบรรพ์ ก็คงเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีตซึ่งเป็นอดีตที่มีความยาวนานมาก ๆ และด้วยความอยากรู้ว่าซากดึกดำบรรพ์คืออะไร มีอะไรบ้าง วันนี้เลยหาข้อมูลและนำมาสรุปให้ได้อ่านกัน เผื่อจะมีใครสนใจจนอยากจะเป็นนักขุดเจาะเพื่อหาข้อมูลในอดีตที่เราเรียกว่าดึกดำบรรพ์กันดูบ้าง
ซากดึกดำบรรพ์
ซากดึกดำบรรพ์มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ฟอสซิล (fossil) ซึ่งมีที่มาจากการขุดหรือค้นหาซากหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิต ที่อาจรวมทั้งพืชและสัตว์ในอดีตที่มีอายุยาวนานมาก ๆ โดยถูกแปรสภาพและถูกเก็บรักษาไว้โดยธรรมชาติในชั้นหินในเปลือกโลก ตัวอย่างเช่น กระดูก ฟัน เปลือก เกร็ด หิน ผม ไม้ที่กลายเป็น หินน้ำมัน ถ่านหิน รอยพิมพ์ และเศษดีเอ็นเอ เป็นต้น ที่เห็นจะรู้จักและคุ้นเคยมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นซากโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ ซากกระดูกไดโนเสาร์ รอยเท้าไดโนเสาร์ ซากพืชซากสัตว์ที่แห้งตายนั่นเอง
และเมื่อร่องรอยเหล่านั้นถูกขุดขึ้นมาได้จากพื้นดิน นั่นก็ทำให้มนุษย์ยุคปัจจุบันอย่างเรา ๆ ได้ประโยชน์จากความสงสัยและสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในการค้นคว้าพิสูจน์และวิจัยที่อาจเป็นข้อมูลสำคัญในอดีตว่ามีรูปแบบและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในแต่ละช่วงระยะเวลาเป็นอย่างไรบ้าง
ภาพที่ 1 ซากกระดูกของไดโนเสาร์
ที่มา https://pixabay.com/, onecrazykatie
กระบวนการเกิดซาก
ลักษณะของการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ มักให้ความความสำคัญเกี่ยวกับอายุการก่อตัว เช่นเป็นซากที่มีการก่อตัวที่มาอายุเป็นหมื่นปีถึงพันล้านปี และวิวัฒนาการจากกระบวนการเกิดซาก ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยจากการถูกแปรสภาพเป็นกระบวนการเกิดซากนั้น มีปัจจัยสำคัญสองประการ คือ โครงร่างส่วนที่เป็นของแข็งของสิ่งมีชีวิต กับกระบวนการเก็บรักษาซาก
นอกจากนี้ การเกิดซากจะมีกระบวนการ 2 อย่าง คือ การตกตะกอนทับถมลงบนซาก และการที่สารละลายของแร่ธาตุเข้าแทนที่ซากอย่างรวดเร็ว ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เมื่อแข็งตัวจึงกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ให้ศึกษาได้ ส่วนมากซากของสิ่งมีชีวิตจะถูกเก็บรักษาไว้ได้ดีบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ทะเลสาบและท้องทะเล เพราะบริเวณเหล่านี้จะมีตะกอนเม็ดเล็กสะสมตัวมาก สภาพแวดล้อมค่อนข้างสงบ ซากไม่ถูกทำลายให้แตกหักมากและถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน โดยอาจประกอบไปด้วยซากเหลือของสัตว์ พืช หรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตอื่นใด ๆ ที่ได้รับการจัดแบ่งจำแนกไว้ทางชีววิทยา และรวมถึงร่องรอยต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ
กระบวนการของการเกิดฟอสซิลที่เกิดขึ้นเมื่อฝังสิ่งมีชีวิต (Permineralization)
เป็นกระบวนการของการเกิดฟอสซิล ซากของสิ่งมีชีวิตจะมีวิวัฒนาการและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงได้ในหลายลักษณะ โดยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพตามธรรมชาติที่อินทรีย์สารเปลี่ยนแปลงจากส่วนประกอบเดิม แต่ยังคงรูปโครงสร้างให้เห็นอยู่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีหลายวิธี ดังนี้
การกลายเป็นหิน (Pertrification)
เป็นกระบวนการของการเกิดฟอสซิลที่ซากสิ่งมีชีวิตกลายเป็นหิน จากการที่เนื้อเยื่อ ผนังเซลล์ และส่วนแข็งอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบดั้งเดิมของซาก ถูกแทนที่ด้วยการแทรกซึมของแร่ธาตุในรูพรุนของโครงสร้างสิ่งมีชีวิตเดิม เช่น ถูกแทนที่ด้วยสารซิลิกาในรูปของแร่ควอรตซ์ แร่คาลซิโคนีหรือแร่โอปอ หรือ สารละลายแคลเซียมคาร์บอเนด โดยกระบวนการแทนที่ (replacement) โดยการถูกแทนที่นี้จะไม่ทำให้โครงร่างเดิมสูญเสียไป
การเพิ่มคาร์บอน (Cabonization)
เป็นกระบวนการของการเกิดฟอสซิลที่เกิดจากซากกลายเป็นสารคาร์บอนหรือถ่านติดอยู่ในชั้นหินหรือเป็นถ่านหิน
ร่องรอยหรือรอยพิมพ์ (Mold)
ร่องรอยที่ประทับไว้หรือฝังตัวอยู่ในชั้นดิน เช่น รอยเท้า รอยทางเดิน รอยหนอน รอยเจาะ รอยชอนไช ซึ่งอยู่ในชั้นตะกอน ต่อมาตะกอนแข็งตัวกลายเป็นหิน ทำให้ร่องรอยนั้นถูกเก็บรักษาในชั้นหิน เป็นต้น
การบอกอายุของซากดึกดำบรรพ์หรืออายุหิน
สามารถบอกได้ 2 แบบคือ
- อายุเปรียบเทียบ (Relative Age) คืออายุทางธรณีวิทยาของซากดึกดำบรรพ์ หิน ลักษณะทางธรณีวิทยา
- อายุสัมบูรณ์ ( Absolute age ) หมายถึงอายุซากดึกดำบรรพ์ของหิน ลักษณะหรือเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา (โดยมากวัดเป็นปี เช่น พันปี ล้านปี) โดยทั่วไปหมายถึงอายุที่คำนวณหาได้จากไอโซโทปของธาตุกัมมันตรังสี ขึ้นอยู่กับวิธีการและช่วงเวลาครึ่งชีวิต(Half life period)
เป็นอย่างไรกันบ้าง เรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์ยังเป็นที่น่าสนใจและค้นคว้าอีกมาก ไม่แน่ว่าคุณอาจเป็นคนต่อไปที่ได้ขุดพบซากดึกดำบรรพ์
แหล่งที่มา
ซากดึกดำบรรพ์. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/ซากดึกดำบรรพ์
ซากดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=7115&filename=index
ตรีเทพ สมหวัง. (2560, 8 ตุลาคม). ฟอสซิล. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
halsat.com/ฟอสซิล/
ซากดึกดำบรรพ์. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/earth-science/chapter4_1.html
กระบวนการเกิดซาก. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://usamas47511.wordpress.com/กระบวนการเกิดซาก/
-
8400 ซากดึกดำบรรพ์กับความอยากรู้ /index.php/article-technology/item/8400-2018-06-01-02-52-44เพิ่มในรายการโปรด