รู้จักชีวสารสนเทศศาสตร์
คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีล้วนมีประโยชน์มากมาย เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกศาสตร์ทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ด้านชีววิทยา และสิ่งที่นำมาซึ่งความสำคัญในการประยุกต์ใช้นี้ก็คือข้อมูลทางด้านชีววิทยานั่นเอง สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวของศาสตร์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแขนงหนึ่งที่มีชื่อว่า “ชีวสารสนเทศศาสตร์”
ภาพประกอบบทความชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics)
ณัฐดนัย เนียมทอง
ชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) คือศาสตร์การเรียนรู้สาขาหนึ่งที่ประยุกต์ใช้ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ในแขนงต่าง ๆ เช่น สารสนเทศ วิทยาศาสตร์การคำนวณ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ผสมผสานกับความรู้ในด้านชีววิทยาแขนงต่าง ๆ เช่น อณูชีววิทยา พันธุศาสตร์ ชีวเคมี จุลชีววิทยา ไม่ใช่แค่นั้นยังมีศาสตร์ความรู้อื่นก็นำมาประยุกต์ใช้รวมกันด้วยอย่าง คณิตศาสตร์ประยุกต์ สถิติศาสตร์ เคมี เพื่อทำการเก็บรวบรวมประมวลผลและสรุปผลข้อมูลทางชีววิทยาทางการแพทย์ โดยมีงานหลักคือการสืบค้นข้อมูลทางชีววิทยาอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังช่วยให้การทำงานและวิจัยเพื่อการหาคำตอบและความรู้ใหม่ ๆ ในทางชีววิทยา รวมไปถึง การสร้างแบบจำลองเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อมูลใหม่ ๆ ในศาสตร์ความรู้ใหม่ ๆ เช่น เมตาบอโลมิกส์ การถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโรคหรือพืชที่สำคัญ และการผลิตยาใหม่ เป็นต้น
ตัวอย่างสำคัญและเป็นที่มาของจุดเริ่มของชีวสารเทศคือความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพ คือ จีโนม (Genome) ข้อมูลทางด้านพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต จีโนมิกส์ (Genomics) เป็นการศึกจีโนมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต โปรตีนโอมิกส์ (Proteomics) เป็นการศึกษาหาโปรตีนชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิต ประกอบกับวิทยาการด้านฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้
องค์ประกอบหลักสำคัญของชีวสารสนเทศศาสตร์
- ฐานข้อมูลที่ใช้จัดเก็บ
- ขั้นตอนระเบียบวิธีการทางคอมพิวเตอร์และสถิติ
- การใช้เครื่องมือด้านคอมพิวเตอร์
แต่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งไปกว่าองค์ประกอบใด ๆ ก็คือ บุคคลากรชีวสารสนเทศศาสตร์ ในยุคที่เราให้ความสำคัญกับข้อมูล เพราะในปัจจุบันเรื่องของข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก ข้อมูลในอดีตมีผลประโยชน์ต่ออนาคต โดยเฉพาะการสืบค้นข้อมูลในฐานข้อมูลชีววิทยา (biological database) ที่บรรจุข้อมูลต่าง ๆ ทางด้านชีววิทยาไว้มากมาย การสืบค้นข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์และประมวลผลนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านคอมพิวเตอร์และชีววิทยา อีกทั้งยังรวมไปถึงความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และสถิติอีกด้วย
ประเทศไทยเองมีความต้องการเป็นอย่างมากที่จะสร้างบุคลากรด้านชีวชีวสารสนเทศศาสตร์ แน่นอนว่าบนพื้นฐานการศึกษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วผู้มีความรู้จะมีความรู้ในศาสตร์ที่ตนเองชอบหรือเรียนมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะมีความรู้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาความรู้เพิ่มเติม ขยายความก็คือ คนที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ก็ควรมีการให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทางด้านชีววิทยา ส่วนคนที่ความรู้ด้านชีววิทยาก็ควรได้รับความรู้เพิ่มเติมด้านคอมพิวเตอร์ หรือสรุปก็คือ พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในศาสตร์ทั้งสองด้านนั่นเอง
สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า ชีวสารสนเทศศาสตร์เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่สำคัญ จำเป็นที่ต้องพัฒนาต่อไปรวมถึงการพัฒนาบุคคลกรให้มีความรู้ความสนใจศาสตร์นี้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำประโยชน์ข้อมูลสาธารณะที่ได้จากศาสตร์สาขานี้ ไปใช้ในการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ ของประเทศต่อไป
แหล่งที่มา
ชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) คือ อะไร (What is Bioinformatics ?) . สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.thaibiotech.info/what-is-bioinformatics.php
ชีวสารสนเทศ คืออะไร?. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.si.mahidol.ac.th/simi/bioinfo/bi_what.html
ผศ.ดร.ชุติมา คงจรูลและอ.เอกวิทย์ ตรีเนตร. ชีวสารสนเทศทางก้านการเกษตรและอุตสหกรรม. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.e-manage.mju.ac.th/openFile.aspx?id=MTE1NjEy
-
8486 รู้จักชีวสารสนเทศศาสตร์ /index.php/article-technology/item/8486-2018-07-18-04-23-12เพิ่มในรายการโปรด