“ข้าวไทยไปอวกาศ”
งานวิจัยของ ดร. สุริยันตร์ ฉะอุ่ม
สินีนาฎ ทาบึงกาฬ
ดร. สุริยันตร์ ฉะอุ่ม นักวิจัย ศูนย์พันธุ วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ผู้พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ปลอดจีเอ็มโอ เป็นข้าวสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่ทนความเค็มและให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 1.5 เท่า
หลังจากที่ประสบความสำเร็จครั้งนั้นแล้ว นักวิจัยท่านนี้ก็ได้เดินหน้าโครงการใหม่ “ข้าวไทยไปอวกาศ”
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่พูดกันเล่น ๆ แต่เป็นการวิจัยทดลองทางวิทยาศาส
ตร์จริง ๆ โดยฝีมือนักวิทยาศาสตร์ไทย
อวกาศ เป็นเรื่องที่จับต้องได้ ไม่ได้อยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์ และข้าวไทยก็กำลังจะได้ไปสู่อวกาศกันแล้ว แต่จะไปอวกาศด้วยวิธีใดนั้น เราได้มาพูดคุยกับ ดร. สุริยันตร์ ฉะอุ่ม ถึงเรื่องนี้กันค่ะ
อาจารย์เรียนจบมาทางด้านไหน สาขาอะไร จากที่ใดบ้างคะ
ผมจบการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เทคโนโลยีการเกษตร) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (พฤกษศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวข้อวิทยานิพนธ์: Study on Glyphosate-Tolerance in Rice (Oryza sativa L.) by Tissue Culture Technique และวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีชีวภาพ) จากมหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อวิทยานิพนธ์: Phenotypic Responses of Rice (Oryza sativa L. sub. indica) to Salt Stress Controlled by Environmental Engineering System
ได้แรงบันดาลใจจากอะไร
ชีวิตวัยเด็กก่อนเรียนมหาวิทยาลัย ประถมศึกษา โรงเรียนบ้านถิ่น (ถิ่นวิทยาคาร) มัธยมต้น โรงเรียนถิ่นโอภาสวิทยา และมัธยมปลาย โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ เป็นคนแพร่โดยกำเนิด พ่อ-แม่เป็นเกษตกร ดังนั้นช่วงชีวิตวัยเด็กจนถึงมหาวิทยาลัยตอนต้นๆ จึงได้รับการบ่มเพาะด้านการเกษตรทั้ง ทำนา ทำสวน และเพาะปลูกพืชไร่ เช่นเดียวกับเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำงานหนัก ไม่มีวันหยุด ไม่มีค่าล่วงเวลา ในรอบ 1 ปี มีงานให้ทำทุกวัน แม้ว่าต้องเรียนหนังสือ ท่องหนังสือตำราเรียน
จำได้ว่าสมัยนั้น ยังไม่มีไฟฟ้า ต้องจุดตะเกียงอ่านหนังสือ และหนังสือก็จะเป็นหนังสือที่ใช้แล้วเป็นมรดกมาจากรุ่นพี่ๆ ซึ่งไม่ต้องถามถึงความใหม่ แม้แต่ตัวหนังสือยังซีดจาง เวลาส่วนใหญ่ก็จะถูกใช้ไปกับการช่วยงานที่นาและที่สวน เคยสงสัยและถามพ่อและแม่อยู่เหมือนกันว่า “ทำไมเราต้องทำงานหนักขนาดนั้นด้วย” ซึ่งวัยเด็กยังไม่ได้คำตอบ
แต่การทำงานหนักนั้นส่งผลเมื่อเราต้องใช้เงินเป็นปัจจัยพื้นฐานในการศึกษาระดับที่สูงขึ้น ถ้าไม่ทำงานหนักเราคงไม่มีโอกาสได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ในชั้นเดียวกันที่เรียนเก่งกว่าเรา แต่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อด้วยข้อจำกัดดังกล่าว
ผลอีกประการหนึ่งของการทำงานหนักเป็นการฝึกให้รู้จักคำว่าหนักเอา-เบาสู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานา ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ความสำเร็จของการเรียนที่ผ่านมายึดหลักของ “ความพยายามอยู่ที่ใหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” และที่สำคัญต้องรู้จักประมาณตนเอง ให้รู้ถึงความรู้ความสามารถของตนเอง ไม่สุดโต่ง เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบและก้าวเดินไปในสาขาวิชานั้นๆ อย่างมั่นคง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จในการศึกษา
เหตุใดถึงสนใจเป็นนักวิจัย
ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี-ปริญญาโท ต้องพยายามหางานพิเศษทำเพื่อให้ได้เงินบางส่วนมาใช้ในการดำรงชีพ เช่น ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงหาทุนการศึกษาบางส่วน เนื่องจากมาจากต่างจังหวัด ฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวย พ่อ-แม่ช่วยชำระเงินในส่วนของค่าเทอม ค่าหอพัก
งานพิเศษที่ทำเป็นการช่วยงานวิจัยและพัฒนาในโครงการต่างๆ ที่ท่านอาจารย์ได้รับมาจากแหล่งทุน โดยรับผิดชอบในการศึกษาวิจัย เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำรูปแบบข้อมูลนำเสนอ เพื่อจัดทำรายงานให้แหล่งทุนต่อไป
ในสมัยที่เรียนหนังสือ เวลาไปของานอาจารย์ทำ ไม่เคยถามอาจารย์ที่ปรึกษา ดร. ศรีสม สุรวัฒนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าจะให้เงินเดือนเท่าใด ถามแต่เพียงว่าอาจารย์มีอะไรให้ผมทำไหม ขอเป็นงานวิจัย
สิ่งนั้นทำให้ชีวิตของการเรียนไม่ได้อยู่แต่ในตำรา แต่เป็นการค้นคว้าข้อมูลที่ทันสมัยใหม่ๆ จากวารสารที่มีการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ การกำหนดโจทย์วิจัย และการมีส่วนร่วมในการคิดแก้ปัญหาแบบเป็นเหตุ-ผล ตามหลักของวิทยาศาสตร์ นั่นคือจุดจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นความสนใจในการเป็นนักวิจัย
เมื่อจบปริญญาโท ได้รับโอกาสจากท่าน ดร. เฉลิมพล เกิดมณี ให้เข้าร่วมทีมวิจัยใน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำให้ได้มีโอกาสได้ทำงานวิจัยในโครงการ “การวิจัยพื้นฐานและพัฒนาพันธุ์ไม้ป่ายืนต้นทนค็ม” และได้ศึกษาต่อจนจบในระดับปริญญาเอก ที่ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ดร. กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยในการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นการเรียนพร้อมทั้งทำงานไปด้วยกัน เมื่อจบการศึกษาก็ยังคงดำเนินงานวิจัยในด้านการพัฒนาพันธุ์พืชทนเค็มโดยเน้นข้าวเป็นพืชหลัก ณ ไบโอเทค
โครงการนำข้าวไทยไปทดลองปลูกในอวกาศมีความเป็นมาอย่างไร
โครงการวิจัยนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง แจ๊กซ่า (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น และ สวทช. ประเทศไทย โดยกรอบความร่วมมือได้ร่วมกันลงนามมาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีกิจกรรมและโครงการวิจัยที่ทำร่วมกัน เช่น การเชิญนักบินอวกาศจากประเทศญี่ปุ่นมาบรรยาย และให้สัมภาษณ์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ การส่งโครงการวิจัยของนักศึกษาไทยในระดับปริญญาตรีเพื่อทำการศึกษาการไหลเวียนของของเหลวในสภาวะไร้น้ำหนักแบบ parabolic flight และการศึกษาติดตามสภาวะการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในสภาพ biosphere จำลอง เป็นต้น
ในส่วนของโครงการนี้ได้รับการแนะนำจากทีมนักวิจัยจาก JAXA ในการที่จะนำพืชในสภาพหลอดทดลอง (in vitro culture) หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปเลี้ยงในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในส่วนโมดูลคิโบ (KIBO) ของประเทศญี่ปุ่น จึงได้นำเสนอโครงร่างโครงการวิจัยที่เป็นไม้ดอก 4 ชนิด ประกอบด้วย ต้นเทียน ต้นหงอนไก่ ต้นสร้อยไก่ และต้นกุหลาบหนู นำเสนอไปยัง JAXA โดยมุ่งศึกษาถึงปัจจัยด้านสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศ ที่มีผลต่อการเกิดสีของดอกไม้ทั้ง 4 ชนิด
แต่เมื่อเสนอไปแล้วได้รับการแนะนำจากนักวิจัยของทางญี่ปุ่นว่าพืชที่จะใช้เป็นต้นแบบในการศึกษา น่าจะมีผลกระทบสูงต่อวงการวิทยาศาสตร์ และมีโอกาสสูงที่จะใช้เป็นแหล่งอาหารให้กับนักบินอวกาศได้ในอนาคต ดังนั้นจึงเลือกใช้ข้าวเป็นพืชต้นแบบในการศึกษาวิจัย โดยใช้ข้าว 4 พันธุ์ คือ ข้าวญี่ปุ่น Nipponbare ข้าวไทย ประกอบด้วย ข้าวขาวดอกมะลิ 105 (ข้าวเจ้าไวแสง) ข้าวปทุมธานี 1 (ข้าวเจ้าไม่ไวแสง) และข้าว กข 10 (ข้าวเหนียวไวแสง)
อย่างไรก็ตามการศึกษาการเจริญของต้นกล้าข้าวในสถานีอวกาศนานาชาติมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง แต่โจทย์ที่ท้าทายของงานนี้มี 2 จุด คือ การทำให้ต้นข้าวติดดอกออกรวงในสภาวะความสูงของพื้นที่ปลูกเพียง 10 เซนติเมตร ในตู้ควบคุมสภาวะแวดล้อม และปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่กระตุ้นการติดดอกออกรวงจนถึงติดเมล็ดได้ ซึ่งโจทย์ทั้ง 2 ข้อนี้ ต้องทำการศึกษาในห้องปฏิบัติการที่มีสภาวะแรงโน้มถ่วงของโลก (ground base) ก่อนการส่งต้นข้าวออกไปยังสภาวะไร้น้ำหนัก (space station) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่มาของโครงการข้าวไทยในอวกาศ
เหตุใดอาจารย์ถึงสนใจทำการวิจัยเรื่องนี้ การทำงานนี้เกี่ยวข้องอะไรกับความฝันวัยเยาว์หรือเปล่า
โดยธรรมชาติของนักวิจัยแล้วชื่นชอบโจทย์วิจัยที่ท้าทาย และงานวิจัยที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงมีผลกระทบสูงต่อวงการวิทยาศาสตร์ ในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารชั้นนำ ที่มีค่า citation index สูง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
หากเราเข้าใจองค์ความรู้ของการติดดอกออกรวงในข้าว ว่าเกิดจากปัจจัยในด้านใด เช่น แสง คาร์บอนไดออกไซด์ สารควบคุมการเจริญเติบโต และปริมาณน้ำตาลที่สะสมในต้นข้าว จะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในการกระตุ้นการออกดอกติดรวงในข้าว และองค์ความรู้ดังกล่าวจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการผสมพันธุ์ในหลอดทดลอง (in vitro breeding) และการเพาะปลูกข้าวในแปลงปลูกให้มีรอบการปลูกที่ถี่ขึ้น น่าจะส่งผลให้เราปลูกข้าวได้มากกว่า 4 ครั้งต่อปี ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ของการได้มาซึ่งอาหารที่เป็นแหล่งแป้งของชาวโลกจากข้าวในยุคข้าวแพงได้ นอกจากนี้องค์ความรู้ดังกล่าวน่าจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้ในพืชกลุ่มที่เป็นธัญพืชได้ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต และข้าวไรต์ เป็นต้น
ในวัยเด็กเคยคิดว่าทำไมเราต้องปลูกข้าวปีละหน ด้วยสาเหตุที่เป็นข้าวเหนียว กข 6 พันธุ์ไวแสง กล่าวคือเมื่อถึงฤดูหนาว กลางวันสั้นกว่ากลางคืน ต้นข้าวที่ปลูกในนาจึงจะออกดอกติดรวง เรียกว่าข้าวพันธุ์ไวต่อแสงวันสั้น และอีกสาเหตุหนึ่งคือนาที่ทำเป็นนาน้ำฝน หากปีไหนฝนแล้งหรือฝนตกน้อยจะทำให้ทำนาไม่ได้ หรือไม่ได้ผลผลิต ในระบบการบริหารจัดการหากเรากำหนดได้หรือมีข้อมูลที่มากเพียงพอ มีการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยในระบบการเพาะปลูกข้าวได้มากกว่า 1 รอบ ในพื้นที่นาน้ำฝน ส่งผลให้มีผลผลิตที่มากขึ้น และมีแหล่งอาหารสำรองมากขึ้น
การวิจัยนี้มีการดำเนินงานกี่ระยะ และคาดหวังไว้ว่าอย่างไรบ้าง
การศึกษาวิจัยในโครงการนี้ มี 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การทดลองเพาะปลูกข้าวเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ
การทดลองนี้เริ่มต้นตังแต่ปี พศ 2551-2552 โดยการทำการศึกษาเบื้องต้นถึงปัจจัยสภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพและเคมีในการกระตุ้นให้ต้นข้าวออกดอกในสภาพการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดยใช้วัสดุเพาะเลี้ยงเป็น Magenta box ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งให้ทางญี่ปุ่นพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบในการดำเนินการในระยะที่ 2 ต่อไป
ระยะ ที่ 2 การทดลองเพาะปลูกข้าวในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงจำลอง
งานในระยะที่ 2 (ปี พศ. 2553) จะเป็นการศึกษาร่วมกับนักวิจัยญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์และมีเครื่องมือในการจำลองสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยใช้สภาวะแวดล้อมที่ได้พัฒนาขึ้นในระยะที่ 1 ในการกระตุ้นให้ต้นข้าวออกดอกในสภาพการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
ระยะที่ 3 การทดลองเพาะปลูกข้าวในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศนานาชาติ
ในระยะที่ 3 คาดว่าจะดำเนินการในช่วงปลายปี พศ. 2553 หรือ ต้นปี พศ. 2554 จะเป็นการนำต้นกล้าข้าวขึ้นสู่อวกาศในส่วนโมดูลคิโบ (KIBO) ของประเทศญี่ปุ่น
ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้คืออะไร
งานวิจัยนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในด้านของการกระตุ้นให้นักเรียน-นักศึกษาให้ความสนใจในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยในอวกาศ เป็นโจทย์ที่ท้าทายนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาศึกษาวิจัย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความร่วมมือกันทำงานทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติต่อไป ดังที่กล่าวมาแล้วว่าผลของการศึกษาในด้านปัจจัยที่กระตุ้นการติดดอก-ออกรวงของข้าวจะถูกนำไปใช้ในการควบคุมรอบของการเพาะปลูกข้าวในแปลงของเกษตรกร นอกจากนี้การทำให้ต้นข้าวออกดอกในขวดยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการทำการผสมพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ในหลอดทดลอง (in-vitro breeding) ได้อีกด้วย
มีความรู้สึกอย่างไรเมื่อข้าวไทย จะได้ไปสู่อวกาศ
หากผลการศึกษาเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งใว้ ก็จะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการเพาะปลูกธัญพืช ในอวกาศ และ/หรือในดาวดวงอื่น เช่น ดวงจันทร์ และดาวอังคาร เป็นต้น ซึ่งยังคงต้องการการศึกษาวิจัยในระดับที่ใหญ่ขึ้น (large scale) ต่อไป
ในส่วนของความรู้สึก หากข้าวไทยได้ไปอวกาศ ก็ดีใจและภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นงานในโครงการนี้ อย่างไรก็ตามผลงานหรือแนวคิดทั้งหมดได้รับมาจากผู้เชี่ยวชาญ ทีมวิจัย และเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมงาน
ทุกท่าน ซึ่งพยายามผลักดันงานให้เกิดผลสำเร็จ คน 1 คน คงไม่สามารถเก่งในทุกเรื่องและทุกด้าน ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับชาติและนานาชาติ หรือการทำงานเป็นทีมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ก่อนหน้านี้อาจารย์มีงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมาแล้ว ผลงานวิจัยที่ภูมิใจมาที่สุดคืออะไรบ้าง และเหตุใดอาจารย์ถึงมุ่งทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับข้าว
พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในชั้นใต้ดินมีภูเขาหินเกลือขนาดใหญ่ ถึงขนาดที่มีการพยากรณ์ว่า “เกลือดังกล่าวสามารถใช้เลี้ยงประชากรโลกได้นานถึง 1000 ปี” และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมคุณภาพดีที่สุดในโลก คือ ข้าวขาวดอกมะลิ 105
ดินเค็มจากเกลือดังกล่าวส่งผลให้ผลผลิตของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ต่ำมาก เมื่อเทียบกับข้าวที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ โจทย์วิจัยดังกล่าวจึงถือเป็นหน้าที่หลักของนักวิจัยคือวิจัยและพัฒนาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการค้นหาพันธุ์ข้าวจากฐานพันธุกรรมที่รวบรวมใว้ เมื่อพบพันธุ์ข้าวพันธุ์ไทยทนเค็ม จึงทำการศึกษาวิจัยถึงกลไกการทนเค็มในข้าวพันธุ์ทนเค็มในข้าวสายพันธุ์ไทย
เมื่อทราบกลไกแล้ว สิ่งที่ได้คือองค์ความรู้เป็นผลงานตีพิมพ์ 3-4 ฉบับ ในวารสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากนั้นเป็นการนำพันธุ์ทนเค็มมาผสมข้ามกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ ปทุมธานี 1 เพื่อให้ข้าวปลูกทั้ง 2 พันธุ์ทนเค็ม
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการปลูกทดสอบพันธุ์ข้าวดังกล่าว เมื่อได้พันธุ์ข้าวทนเค็มแล้ว จะส่งต่อให้กับกรมวิชาการเกษตรในการขอรับรองพันธุ์และปลูกทดสอบพันธุ์ต่อไป หากได้สายพันธุ์ข้าวที่ทนเค็มและให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวที่ปลูกบนพื้นที่ดินเค็ม ประมาณ 1.5 เท่า จึงจะถือว่าเป็นความสำเร็จและเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของทีมวิจัย
ส่วนสาเหตุของการทำวิจัยเรื่องข้าวเนื่องมาจากตลอดช่วงชีวิตโตมากับนาข้าว ชีวิตชนบท และถือว่าชาวนาเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าต้องใช้เวลายาวนานในการสะสมองค์ความรู้ และประสบการณ์จากการศึกษาวิจัย ก็เป็นสิ่งจำเป็นหรือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการต่อยอดสู่การใช้งานจริง และน่าจะส่งผลกระทบเชิงกว้างต่อสังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
การเป็นนักวิจัยให้อะไรแก่ตัวเราบ้าง
แน่นอน สิ่งแรกที่ปฏิเสธไม่ได้คือทำให้เรามีงานทำ ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบและรัก การทำงานวิจัยไม่ได้เป็นการทำงานแค่วันละ 8 ชั่วโมง หากต้องเก็บผลการทดลองทุกๆ 1 ชั่วโมง ก็ต้องทำ หากต้องวิเคราะห์ผลโดยใช้เครื่องมือติดต่อกันตลอด 24 ชั่วโมง ก็ต้องอยู่ตลอด
เมื่อได้ผลการศึกษาวิจัยมาแล้วต้องรีบวิเคราะห์ผลเพื่อตอบสมมุติฐานที่ตั้งใว้ หากไม่ใช่ก็ต้องเริมทำใหม่ เป็นวงจรชีวิตที่สนุก และท้าทายตลอด ทำให้ตัวเราไม่หยุดนิ่ง ที่สำคัญคือเมื่อเราค้นพบสิ่งใหม่ๆ การตีพิมพ์ผลงานดังกล่าวในวารสารนานาชาติ เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจสูงสุดของนักวิจัย และหากผลงานดังกล่าวถูกนำไปใช้ได้จริงในระบบการผลิต ช่วยให้เกิดงาน เกิดผลผลิตที่มากขึ้น นั่นคือจุดสูงสุดของความสำเร็จ
ขอให้ฝากแรงบันดาลใจ ในการเรียนและการทำวิจัยให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา และคุณครูผู้อ่านค่ะ
มีนักวิจัยอาวุโสหลายๆ ท่าน เคยเขียนบทความลงในวารสารว่า “นักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นพรแสวง ความพยายาม และความทุ่มเท” ดังนั้นผมมีความเชื่อว่าทุกคนมีความเก่งเท่ากันหมด อยู่ที่ความขยันหมั่นเพียร ต่างหากที่แตกต่างกัน ทุกคนมีความเก่งอยู่ในตัวเพียงแต่ว่าวันนี้เราหาตัวตนที่แท้จริงของตนเองเจอหรือยัง ? หากเราค้นพบและใช้ความเก่งดังกล่าวช่วยตนเอง ช่วยพัฒนาคนรอบข้าง สังคมและประเทศชาติของเราต้องก้าวหน้าต่อไป
ภาพ: http://www.chaoprayanews.com/tag/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/
-
1296 “ข้าวไทยไปอวกาศ” /index.php/article-biology/item/1296-thai-riceเพิ่มในรายการโปรด