รับมือเด็ก`สมาธิสั้น LD ออทิสติก`
เคยสังเกตมั้ยว่า เด็กรูปร่างหน้าตาดี ฉลาดเฉลียว ไม่บ่งบอกว่ามีอาการป่วยหรือมีความผิดปรกติทางร่างกายแต่อย่างใด ทำไมจึงเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่ออก เข้ากับเพื่อนๆ ไม่ได้ หรือนั่งนิ่งๆไม่ได้เลย
ในทางการแพทย์เด็กเหล่านี้อยู่ในข่ายของอาการ "สมาธิสั้น-บกพร่องทางการ เรียนรู้-ออทิสซึ่ม" ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางการเรียนรู้ และแสดงพฤติกรรม "แตกต่าง" กันไปตามอาการของโรค ซึ่งมักเป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ของเด็กในชั้นเรียนมากที่สุดในยุคนี้
ในการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก 3 กลุ่มคือ สมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder-LD) และออทิสซึ่ม หรือออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาเรื่องพฤติ กรรมในชั้นเรียน สามารถแยกได้ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านพฤติกรรมทั่วไป ด้านภาษา ด้านความสัมพันธ์ ด้านการรับรู้ความเป็นจริง ด้านความเคลื่อน ไหวและสมาธิ
ปัญหาที่เห็นชัดเจนของเด็กแต่ละกลุ่มก็คือ เด็กแอลดีมักจะมีปัญหาชัดเจนเรื่องการเรียน เรียนรู้ได้ช้า ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเขาบกพร่องทางการเรียน มีปัญหาด้านการเรียนมากกว่าการปรับตัว หรืออาการเจ็บป่วยอื่นๆ ส่วนเด็กสมาธิสั้น ปัญหาที่มักจะพบก็คือ การรบกวนในห้องเรียน เดินไปเดินมา อยู่ไม่นิ่ง ขยับตัวไปมา ทำเสียงโวยวายหงุดหงิด หรือรบกวนเพื่อน แกล้งเพื่อน
ขณะที่เด็กออทิสติกจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวสื่อสาร หรือพูดกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่อง กินอะไรซ้ำๆ เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทักษะสังคมไม่ค่อยดี เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ เด็กออทิสติกจึงมีปัญหาเรื่องการปรับตัวมากกว่าปัญหาเรื่องการเรียน
เด็กแอลดีจะไม่มีภาวะบกพร่องทางด้านสติปัญญา สมองของเขาปรกติดี แต่จะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ เพราะการรับรู้ประสาทสัมผัสดี แต่พอมาถึงการแปลความจะแปลความสับสน ทำให้พูดออกมากลับกัน สับสนซ้ายขวา ตัวหนังสือหัวเข้า หัวออก ใช้ไม้เอกไม้โทไม่ถูกต้อง
ส่วนเด็กสมาธิสั้นจะมีภาวะของสารเคมีในสมองที่หลั่งผิดปรกติ มีพลังเยอะ เป็นเด็กที่ตื่นตัวตลอดเวลา เวลาเราสั่งงานจึงต้องให้ขอบเขตและกติกาอย่างชัดเจน ขณะที่เด็กออทิสติกจะกลัวมากถ้ามีอะไรกะทันหันโดยที่ไม่บอกเขาล่วงหน้า เพราะปรับตัวไม่ค่อยได้
สำหรับปัญหาพฤติกรรมของเด็ก 3 กลุ่มที่มักพบในชั้นเรียนคือ การที่เด็กควบคุมอารมณ์ตัวเองได้น้อยและอยู่ไม่นิ่ง มาจากสาเหตุ 2 ประเด็นด้วยกันคือ การอบรมเลี้ยงดูจากที่บ้านที่ไม่ค่อยมีวินัย และตัวเด็กเองมีความกังวล
โดยเฉพาะเด็กสมาธิสั้นจะกังวลมากถ้าเขาได้เรียนวิชาที่ต้องใช้สมาธิมากๆ อยู่นิ่งๆ หรือต้องนั่งนิ่งๆ ฟังอะไรนานๆ แต่เด็ก LD จะกลัวที่สุดคือ กลุ่มวิชาทางด้านภาษาและคณิตศาสตร์ ส่วนเด็กออทิสซึ่มจะเกลียดและกังวลที่สุดคือ วิชาลูกเสือ เพราะต้องอยู่ในกฎระเบียบที่ต้องทำตาม ทำ ให้รู้สึกหงุดหงิด
ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ไม่ให้รู้จักความลำบาก ทำให้เด็กติดความสบาย ขาดความกระตือรือร้น ขาดความอดทน มีความพยายามน้อย เรามักจะเจอในเด็กออทิสติกกับสมาธิสั้น กรณีเด็กออทิสติก ครูสังเกตได้ง่ายๆ คือ "ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว"
ไม่สบตา คือเวลาคุยด้วยไม่สบตา ไม่พาที คือไม่ค่อยพูด ไม่บอกว่าต้องการอะไร สื่อสารไม่ค่อยได้ ส่วนไม่ชี้นิ้ว ก็คือไม่สนใจว่าต้องการอะไร คือไม่สามารถชี้นิ้วได้ นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กชอบเดินเขย่งเท้า เพราะผิวสัมผัสเขาไม่ค่อยดี แล้วก็ชอบเล่นนิ้ว คือเอาเล็บจิกกับนิ้วตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา
การรักษาที่จะให้ผลดีในระยะยาวที่ดีที่สุดคือ การรับประทานยาควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กร่วมด้วย เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยให้เด็กมีระเบียบวินัยมากขึ้น รู้จักการยับยั้งตัวเองได้ อยู่ในกฎกติกาและเข้าใจว่าควรจะทำอะไร จะทำให้อาการของเด็กค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการบำบัดอื่นๆ เช่น ในเด็กสมาธิสั้นให้สวดมนต์ นั่งสมาธิ เล่นกีฬา รวมถึงการฝึกให้อยู่ในกฎระเบียบ ซึ่งจะได้ผลดีในระยะยาว
สำหรับเทคนิคการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ในชั้นเรียนมีคำแนะนำดังนี้
1. ครูควรวางขอบเขตพฤติกรรมของเด็ก ต้องไม่ทำร้ายข้าวของ ไม่ทำร้ายคนอื่น และได้สิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น การใช้เวลาไม่เกินคนอื่น ไม่อนุญาตให้เล่นของเล่นหรือมีสิทธิพิเศษมากกว่าเด็กคนอื่น
2. ในกรณีที่เด็กมีปัญหาอยู่ด้วยกันจำนวนมากๆ ในเวลาเรียน ครูควรจัดโต๊ะเรียนเป็น กลุ่ม 4-6 คน อย่าให้เขาจัดกลุ่มเองเด็ดขาด เพราะเพื่อนไม่อยากเอาเข้ากลุ่ม และใช้จิตวิท ยากลุ่ม เช่น เวลาครูสอนให้ถาม คำถามเป็นช่วงๆ เป็นคำถามง่ายๆที่เขาตอบได้ จะทำให้เขามีความสนใจมากขึ้น เพราะเพื่อนๆ จะช่วยให้เขาตอบคำถาม
3. ใช้วิธีแรงเสริมทางบวกโดยการให้รางวัลกระตุ้นจูงใจ เช่น การให้ดาว สติ๊กเกอร์ คะ แนน รวมถึงครูสามารถให้แรงเสริมทางลบได้คือ ไม่ให้คะแนนเพิ่มเติม หรือตัดคะแนน พอถูกหักคะแนนเขาก็เริ่มกลับมากระตือรือร้นในการเรียนเพิ่มขึ้น
4.วิธีการที่จะสอนได้ดีที่สุดในเด็กแอลดี ซึ่งจะมีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ ก็คือการให้เด็กได้อ่านออกเสียงวันละ 15 นาที ไม่เกิน 30 นาที เพราะเมื่อเขาอ่าน ตาเขาเห็นตัวหนังสือ จะทำให้เกิดกระบวนการจำจากสิ่งที่เขาเห็น เสียงที่เขาอ่าน เกิดกระบวนการจำจากสิ่งที่เขาได้ยิน และจะดีมากถ้าให้เขาปิดในสิ่งที่เขาอ่าน แล้วให้เขาเล่าให้ครูฟังว่าเขาอ่านอะไรไปบ้าง ก็จะเกิดความเข้าใจจากการอ่าน
5. เด็กแอลดีมักจะเครียดมากเวลาเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย หรือคิดเลข จะรู้สึกปวดท้อง ปวดหัว ครูควรบอกเขาก่อนเรียน เช่น "เดี๋ยววิชาภาษาไทย ครูเข้าใจว่าเดี๋ยวหนูจะไม่สบาย เพราะครูรู้ว่าหนูกังวล หนูรู้สึกเครียด ถ้าหนูรู้สึกเครียด กังวล ไม่สบายใจ หนูค่อยๆบอกครูนะ แล้วหนูมาบอกครูนะว่าหนูพอไหวไหม หนูอดทนได้ไหม" วิธีนี้เป็นการเตรียมพร้อมให้เด็ก ซึ่งใช้ได้กับทั้ง 3 อาการ
6. เด็กสมาธิสั้น มักจะทำงานเร็ว แต่ชุ่ย ครูต้องบอกเขาล่วงหน้า เช่น "เดี๋ยวหนูจะทำเร็วมาก แต่ทุกครั้งงานที่หนูส่งมาให้ครูไม่ค่อยได้คะแนนเท่าไร เพราะหนูจะทำด้วยความ รวดเร็วเกินไป แต่ครูเชื่อว่าหนูมีความสามารถที่จะทำได้ดีกว่านี้" คือบอกเขาล่วงหน้าว่าถ้าเขาจะทำเร็ว แต่ทำไม่ละเอียด ก็บอกเขาว่าครูเชื่อว่าหนูสา มารถทำได้ดี ละเอียด และเรียบร้อย ถ้าหนูคิดว่าหนูทำได้ดี ละเอียดเรียบร้อยแล้ว หนูค่อยมาส่งครูนะคะ
7. เด็กออทิสติกครูต้องบอกล่วงหน้าถึงสิ่งที่เขาจะทำต่อไป และบอกด้วยว่าเราเชื่อว่าเขาทำมันได้ เพราะปัญหาของเขาคือ เรื่องการสื่อสาร ปรับตัวไม่ค่อยดี อะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่ค่อยยืดหยุ่น จึงต้องบอกเขาล่วงหน้าก่อนเสมอ เช่น "เดี๋ยวจะมีกิจกรรมลูกเสือและจะต้องเข้าแถว แล้วอากาศก็ร้อน ครูรู้ว่าหนูไม่ชอบ เพื่อนๆทุกคนก็ไม่ชอบ แต่ทุกคนต้องอดทน บางทีหนูอาจจะหงุดหงิดมากจนทำให้หนูไม่อยากทำมันเลย แต่ครูเชื่อว่าหนูสามารถทำมันได้"
8. ในการสอนเด็กออทิสติก ครูควรให้กติกาง่ายๆ สอนเขา สอนเสร็จเรียบร้อยสัก 15 นาที แล้วให้ทวนกติกาอีกครั้งหนึ่ง ทวนบ่อยๆเพื่อเตือนความจำให้กับเด็ก และชื่นชมเมื่อเด็กจำได้ว่ากติกาคืออะไร
เด็กกลุ่ม "สมาธิสั้น-LDออทิสติก" จะไม่สร้างปัญหาในห้องเรียน หากครูรู้เทคนิคการรับมือ เด็กๆ ก็พร้อมจะเรียนเสมอ
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข
-
4415 รับมือเด็ก`สมาธิสั้น LD ออทิสติก` /index.php/article-science/item/4415-ldเพิ่มในรายการโปรด