อันตรายจากไซบูทรามีน ในยาลดน้ำหนัก
เรื่องที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะสาวๆที่อยากให้รูปร่างหน้าตาของตนดูดีดึงดูดเพศตรงข้าม จนบางครั้งหลงลืมไปว่าตัวช่วยต่างๆที่เราใช้เสริมทำให้หุ่นของเราดูดี ได้แก่ ยาลดน้ำหนักนั้น อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ บทความนี้ได้นำเรื่องเตือนภัยคุณผู้หญิงที่ต้องการฟิตหุ่นให้ดูดีด้วยวิธีการรับประทานยาลดน้ำหนักมาเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ เพื่อให้การดูแลหุ่นของเราให้ผอมเพรียวนั้นเป็นไปได้อย่างปลอดภัย
ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนผู้บริโภคว่าอย่าซื้ออย่าใช้ยาชุดลดความน้ำหนักสูตรค็อกเทล หลังตรวจพบเป็นสูตรตัวยาแผนปัจจุบันหลายชนิดรวมกัน หวั่นอาจได้รับผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งในรายงานข่าวระบุว่า นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีที่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับข้อมูลจากหน่วยควบคุมกำกับด้านยา (Health Sciences Authority หรือ HSA) ประเทศสิงคโปร์ว่า มีการตรวจพบผู้โดยสารหญิงนำยาเม็ดไม่ระบุชื่อ จำนวนหลายชนิด สั่งจ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย เมื่อนำไปตรวจวิเคราะห์พบว่า เป็นยาชุดลดน้ำหนักสูตรค็อกเทลของตัวยาแผนปัจจุบันหลายชนิด ได้แก่ bisacodyl, chlorpheniramine, fluoxetine, thyroxine, frusemide, sibutramine และ hydrochlorothiazide โดยขนาดของยาไซบูทรามีน (sibutramine) เป็นขนาดที่ใกล้หรือมากกว่าขนาดยาที่ใช้ในการรักษาสูงสุดต่อวัน หรือ 15 มิลลิกรัม ซึ่งยาชุดดังกล่าวมีการจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ตและ online forum ในชื่อ “Slimming Pills” ยี่ห้อต่างๆ
ข้อมูลการทดลองทางคลินิกชี้ให้เห็นว่า ยาเพิ่มความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองถึงร้อยละ 16 นอกจากนี้ยังมีอาการที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน อย. ได้เพิกถอนยาไซบูทรามีนออกจากตลาดแล้ว
สำหรับยาแผนปัจจุบันตัวอื่นๆ ที่ตรวจพบในสูตรค็อกเทล หากใช้โดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงได้ เช่น การใช้ bisacodyl ซึ่งเป็นยาระบายร่วมกับ frusemide ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะ ร่วมกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียและขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
อย่างไรก็ดี ยาลดน้ำหนักที่ทาง อย.ตรวจพบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยาลดน้ำหนักที่ไม่ได้มารตฐาน และผลเสียร้ายแรงต่อร่างกายผู้ใช้ยา ยังมียาลดน้ำหนักที่ผิดกฏหมาย เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอีกจำนวนมาก
ประเภทของยาลดน้ำหนัก
ได้รับทราบข่าวเตือนภัยยาลดน้ำหนักกันไปแล้ว ต่อไปนี้คือเกล็ดความรู้เกี่ยวกับประเภทต่างๆของยาลดน้ำหนักที่มีการจำหน่ายกันในปัจจุบัน
1. ยาควบคุมความหิว ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมความหิวในสมอง ทำให้ไม่รู้สึกอยากรับประทานอาหารและอิ่มเร็ว แต่เนื่องจากยาประเภทนี้ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยตรง ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนค่อนข้างมาก เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หงุดหงิด ใจสั่น ปากแห้ง
2. ยาเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เป็นการนำยาในกลุ่ม "ไทรอยด์ฮอร์โมน" ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไทรอยด์มาใช้ เพราะยากลุ่มนี้สามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน น้ำหนักจึงลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่เกิดจากมวลรวมของร่างกาย แทนที่จะเป็นไขมัน ดังนั้น ยานี้จึงส่งผลข้างเคียงสูง แถมยังเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
3. ยาระบายและยาขับปัสสาวะ เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากทำให้เห็นผลเร็วและน้ำหนักลดลงมาก แต่ความจริงแล้วเป็นภาพลวงตา เพราะสิ่งที่ลดลงไม่ใช่ไขมัน แต่เป็นน้ำภายในร่างกาย การใช้ยาประเภทนี้จะส่งผลข้างเคียง เช่น ทำให้ขาดเกลือแร่ที่สำคัญ และอาจทำให้ไตมีปัญหาได้
4. ยาที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นพวกใยอาหาร (ไฟเบอร์) เช่น บุก แมงลัก ซึ่งมักทำให้เกิดอาการท้องอืด
5. ยาลดการดูดซึมไขมัน ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของน้ำย่อย ที่มีหน้าที่ย่อยสลายไขมัน เมื่อไขมันไม่ถูกย่อยก็จะไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย และในที่สุดจะถูกขับถ่ายออกไป อย่างไรก็ตาม ยาประเภทนี้มีผลข้างเคียงทำให้มีลมในลำไส้มาก ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำมัน ผายลมมีน้ำมันปนออกมา อุจจาระบ่อย หรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่
6. อาหารเสริมที่อ้างว่าสามารถช่วยลดน้ำหนัก เช่น ไคโตซาน ส้มแขก
7. วิตามิน ถูกจ่ายควบคู่มาด้วย เนื่องจากผลข้างเคียงของยาต่างๆ ข้างต้นทำให้ไม่รู้สึกหิว กินอาหารไม่เพียงพอ หรือระบายน้ำออกจากร่างกายมากไป ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่และวิตามิน
ที่ผ่านมา อย.ได้ประชาสัมพันธ์อันตรายของยาลดน้ำหนักให้ประชาชนรับทราบมาโดยตลอด ว่าอย่าหลงเชื่อการโฆษณา หากไม่แน่ใจ สงสัยว่าจะมียาไซบูทรามินผสมอยู่ สามารถส่งมาให้ อย.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศตรวจสอบ ข้อสังเกตง่ายๆ คือถ้ามีการนำไปผสมในอาหารเสริม เครื่องดื่ม จะมีการโฆษณาว่าลดความอ้วนได้ผล ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่ามีการผสมยาไซบูทรามิน โดยยาตัวนี้หากรับประทาน เข้าไปจะมีผลข้างเคียงคือ มีอาการใจสั่น ไม่อยากอาหาร หดหู่ ถ้าหากหลงรับประทานเข้าไปต้องหยุดทันที หากรับประทานต่อจะเป็นอันตรายต่อหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนมากๆ ผู้มีโรคประจำตัว สุขภาพไม่แข็งแรง โอกาสที่จะหัวใจวายเฉียบพลันมีมาก
ไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นยาลดความอยากอาหาร กลไกหลักในการออกฤทธิ์คือไปขัดขวางการ reabsorb ของฮอร์โมนบางตัว และยังช่วยเผาผลาญไขมันที่สะสมในร่างกายด้วย
สารนี้จัดเป็นยาในกลุ่ม ที่เรียกว่า serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor ออกฤทธิ์ที่สมองส่วน ventomedial hypothalamus โดย 5-HT0t จะจับกับ 5- HT 2A/2C receptor ส่วน NE จะจับกับ alpha 1 และ beta 1 receptors บริเวณ lateral hypothalamus ทำให้ลดความหิว นอกจากนั้น NE ยังกระตุ้น beta 2 receptors ที่ brown fat ทำให้เกิดการสลายไขมัน
มีการอ้างสรรพคุณไว้ว่า การกินยาในขนาด10-15 mg/day นานติดต่อกันมากกว่า หกเดือน ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดอาหารลง จะสามารถลดน้ำหนักลงได้ ประมาณ11 kgs ช่วยลด cholesterol และ triglyceride ลงได้ด้วย
ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียง ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนัก แต่มีผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา ผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก
ยา นี้ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจ ขาดเลือด ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ดี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีโรคต้อหิน รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น
“ไซบูทรามีน” (Sibutramine) จัด เป็นยาลดความอ้วนและเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ และขายได้เฉพาะ ในสถานพยาบาลเท่านั้น นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังเป็นยาที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการการติดตามความปลอดภัยในสถาน พยาบาลอีกด้วย
อาหาร ที่มีการตรวจพบยาไซบูทรามีนเจือปนอยู่ จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับกรณีการผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะมีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่น บาท และกรณีที่เข้าข่ายการผลิตหรือจำหน่ายอาหารปลอม ซึ่งเป็นอาหารที่มีการแสดงฉลากเพื่อลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าได้รับเลข สารบบ อาหารแล้ว จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 1 แสนบาท
รักษาโรคอ้วนที่ดี ประหยัดและปลอดภัยที่สุด คือการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารอย่างถูกวิธี รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามใจปาก รวมทั้งความเกียจคร้าน ทำให้ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนไม่มีเวลาที่จะปฏิบัติตามวิธีการรักษาดังกล่าว ทำให้การใช้ยาลดความอ้วนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับสาววัยรุ่นที่ต้องการ รูปร่างผอมและใส่เสื้อผ้าสวยงาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้ยาลดความอ้วนจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีและเห็นผลเร็ว แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจรับประทานยาลดความอ้วนหรือยาใด ๆ ก็ตาม ควรศึกษาวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง และข้อมูลความปลอดภัยของยาจากเภสัชกร หรือเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ที่มา :www.hed.go.th/frontend/theme/content.php?Submit=Clear&ID_Info=00021009&Type=3&PHPSESSID=e9dd28032fd87e242202cc05bfb15613
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1415680202
http://rama4.mahidol.ac.th/ramachannel/index.php/knowforhealth-20140912-3/
-
4416 อันตรายจากไซบูทรามีน ในยาลดน้ำหนัก /index.php/article-science/item/4416-2014-11-27-07-06-46เพิ่มในรายการโปรด