ทะเลหมอก เกิดขึ้นได้อย่างไร
ช่วง 2- 3 วันที่ผ่านมา ไม่ต้องไปตามหาทะเลหมอกกันถึงยอดภู ทางเหนือของประเทศ เราก็ได้สัมผัสอากาศเย็นๆ และทะเลหมอก แต่ถ้ายังไม่บรรยากาศเย็นสมใจ คงต้องรีบเก็บกระเป๋าไปเที่ยวยังภูและดอยต่างๆ เพื่อสัมผัสอากาศหนาวกันอย่างเต็มที่ ก่อนจะหมดหน้าหนาวนี้นะคะ
ทะเลหมอกคืออะไร?
หมอกและทะเลหมอกนั้นมีพื้นฐานของการเกิดขึ้นเหมือนกัน คือเกิดจากอุณหภูมิของอากาศที่ลดลงมากจนต่ำกว่าจุดน้ำค้าง ทำให้ไอน้ำเกิดการกลั่นตัวเป็นละอองน้ำขนาดเล็ก ในบรรยากาศใกล้ผิวโลก
หมอกก็คือเมฆที่เกิดในระดับใกล้พื้นโลก
ส่วนหมอกที่เกิดสูงขึ้นไปหน่อยเรียกว่า หมอกน้ำค้าง (Mist) หรือทะเลหมอก เป็นจุดที่อากาศสามารถพยุงให้ลอยตัวอยู่ได้ แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นละอองน้ำเหล่านี้จะกลับไปเป็นไอน้ำใหม่ทำให้หมอกหายไป ปกติแล้วหมอกมักจะเกิดขึ้นในขณะที่ลมสงบในช่วงฤดูหนาวและตามหุบเขา
หมอกน้ำค้าง (Mist) - BR เป็นน้ำในอากาศหรือไฮโดรมีทิเออร์ (hydrometeor) ซึ่งประกอบด้วยละอองน้ำ เล็กมากจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือละอองน้ำดูดความชื้น (hydroscopic water droplets) ลอยอยู่ในอากาศ หมอกน้ำค้างมีลักษณะเช่นเดียวกับหมอกแต่บางกว่า เมื่อมีหมอกน้ำค้างเกิดขึ้นเหนือที่ใดมักจะแลดูคล้ายม่านบางสีเทาคลุมอยู่เหนือภูมิประเทศแห่งนั้น ทำให้ทัศนวิสัยที่ผิวพื้นโลกลดลงน้อยกว่าหมอก แต่ยังเห็นได้ไกลเกินกว่า 1 กม. ความชื้นสัมพัทธ์ในหมอกน้ำค้างมักจะน้อยกว่า 95%
หมอกน้ำค้างเป็นสภาพอากาศที่อยู่ระหว่างฟ้าหลัวชื้น (damp haze) กับหมอก
หมอกเป็นหย่อม(Fog patches) - BCFG เป็นหมอกซึ่งกระจายออกเป็นแนวไม่สม่ำเสมอกัน เป็นหย่อมๆ
หมอกตื้น (Shallow Fog) - MIFG เป็นหมอกซึ่งปกคลุมพื้นดิน ต่ำกว่า 2 เมตร
หมอกบางส่วน (Partial fog) - PRFG เป็นหมอกซึ่งปกคลุมบางส่วนของทางวิ่ง (Runway)
การเกิดหมอก ลักษณะการเกิดคล้ายเมฆ หมอกทุกชนิดเกิดเมื่ออุณหภูมิอากาศมีค่าเท่ากับอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ทำให้อากาศเกิดการอิ่มตัว (saturate) แล้วกลั่นตัว (condense) เป็นละอองน้ำเล็กๆ
หมอกสามารถแบ่งออกตามลักษณะการเกิด ดังนี้
1. หมอกที่เกิดจากการเย็นตัวของอากาศ (Cooling fog) เป็นหมอกที่เกิดขึ้นภายในมวลอากาศ บางทีเรียกว่า (Air mass fog) ซึ่งแบ่งย่อยออกได้อีก คือ
1.1 หมอกที่เกิดจากการแผ่รังสีความร้อน (Radiation fog) เป็นหมอกที่เกิดเหนือพื้นดินในเวลากลางคืน และจางหายไปในเวลาเช้า ภายหลังดวงอาทิตย์ขึ้น หมอกชนิดนี้มักเกิดในวันที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส ลมอ่อน และอากาศมีความชื้นสูง เกิดจากในตอนกลางคืน พื้นดินจะคายความร้อนหรือแผ่รังสีออกได้มากเป็นเหตุให้พื้นดินเย็นลง อากาศในชั้นล่างที่อยู่ติดพิ้นดินจะเย็นลงด้วย จนมีอุณหภูมิเท่ากับจุดน้ำค้าง ทำให้ไอน้ำในอากาศที่อยู่ใกล้พื้นดินกลั่นตัวเกิดเป็นหมอก
1.2 หมอกที่เกิดจากการพาความร้อนในแนวนอน (Advection fog) หมอกที่เกิดขึ้นในชั้นต่ำ ๆ ของมวลอากาศชื้นซึ่งเคลื่อนที่ไปบนผิวพื้นที่เย็นกว่าจนทำให้อุณหภูมิของอากาศข้างล่างลดลงต่ำกว่าอุณหภูมิจุดน้ำค้าง หมอกชนิดนี้มักเกิดจากอากาศชื้นเคลื่อนที่ไปบนผิวพื่นน้ำที่เย็นจัด (เช่น หมอกทะเล - sea fog)
1.3 หมอกลาดเนินเขา (Up-slope fog) หมอกที่เกิดตามลาดเนินเขาด้านรับลม เนื่องจากอากาศยกตัวสูงขึ้นตามลาดเขาทำให้เกิดการขยายตัวแบบแอเดียแบติค (adiabatic expansion) แล้วเย็นลงจนถึงอุณหภูมิจุดน้ำค้างจนไอน้ำกลั่นตัวกลายเป็นหมอก
2. หมอกที่เกิดจากการระเหย (Evaporation fog) หมอกซึ่งเกิดขึ้นโดยการระเหยอย่างรวดเร็วของน้ำจากผิวหน้าน้ำที่อุ่นและกระจายเข้าไปในมวลอากาศเย็นและมีเสถียรภาพคือมีการทรงตัวดี ทำให้มวลอากาศเย็นนั้นอิ่มตัวและเกิดเป็นหมอก ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
2.1 หมอกในแนวปะทะอากาศ (Frontal fog) หมอกซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณแนวปะทะอากาศ โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ หมอกซึ่งเกิดก่อนแนวปะทะอากาศอุ่น (warm - front pre - frontal fog) หมอกซึ่งเกิดตามหลังแนวปะทะอากาศเย็น (cold - front post - frontal fog) และหมอกซึ่งเกิดขณะแนวปะทะอากาศเคลื่อนผ่าน (frontal - passage fog)
2.2 หมอกไอน้ำ (Steam fog) หมอกที่เกิดจากการระเหย คือเมื่อไอน้ำระเหยเข้าไปหรือเพิ่มเข้าไปในอากาศซึ่งเย็นจัดกว่ามากและมีการทรงตัวดี ตัวอย่างเช่น มวลอากาศเคลื่อนผ่านแนวน้ำแข็ง (stretches of ice) ก่อนจะผ่านไปเหนือผิวพื้นทะเลที่อุ่น
การพยากรณ์หมอก : Fog forecast หมอกจะเกิดขึ้นเมื่ออากาศมีคุณสมบัติต่อไปนี้
1.ท้องฟ้าไม่มีเมฆ (Clear sky) หรือมีเมฆเล็กน้อย
2. ลมอ่อน ไม่เกิน 5 นอต (Light wind)
3. ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศสูง (High relative humidity)
4. อัตราส่วนผสมของอากาศจะต้องคงที่หรือเพิ่มขึ้น (Constant or Mixing ratio)
5. อากาศมีการทรงตัวดี (Stable air) และมี inversion ที่ระดับต่ำ
การพยากรณ์หมอกสลายตัว : หมอกจะสลายตัวมีหลักสังเกตดังนี้
1. เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้น เช่น ดวงอาทิตย์ส่องในตอนเช้า หมอกเมื่อได้รับความร้อนก็จะยกตัวกลายเป็นเมฆหรือระเหยกลายเป็นไอหมด
2. เมื่อลมมีกำลังแรงขึ้น หมอกจะสลายตัวได้เร็วชึ้น
3. เมื่อมีเมฆปกคลุมท้องฟ้ามากชึ้นจะทำให้หมอกสลายตียิ่งขึ้น
หมอกทะเล และทะเลหมอกแตกต่างกันอย่างไร เกิดขึ้นได้ที่ใดบ้างในประเทศไทย
หมอกทะเล เป็นหมอกชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของมวลอากาศในแนวนอน เกิดขึ้นเหนือผิวน้ำทะเล โดยอากาศซึ่งอยู่เหนือผิวน้ำที่อุ่นเคลื่อนที่ไปยังผิวน้ำที่เย็นกว่า ทำให้อากาศข้างล่างเย็นลงต่ำกว่าจุดน้ำค้าง
ทะเลหมอก มักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ช่วงหลังฝนตกและในช่วงฤดูหนาว ทะเลหมอกเป็นหมอกที่ปกคลุมพื้นที่กว้าง ๆ ในหุบเขาในประเทศไทยมีทะเลหมอกเกิดขึ้นได้หลายแห่ง เช่น ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตากและเชียงรายเป็นต้น
แต่สำหรับทะเลหมอกนั้นจะต่างกับหมอกทั่วไปตรงที่การเกิดทะเลหมอกต้องอาศัยปัจจัยสำคัญสองส่วนนั้นก็คือ การเกิดหมอก และทัศนวิสัยในระดับสายตาค่อนข้างชัดเจนหากไม่มีทั้งสองข้อนี่คุณก็ไม่สามารถชมทะเลหมอกได้อย่างสวยงาม จะชมได้ก็เพียงหมอกที่คละคลุ้งอยู่รอบด้านเท่านั้น โดยทะเลหมอกเกิดจากการเย็นตัวของไอน้ำในอกาศอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิที่มวลอากาศชื้นควบแน่นเป็นละอองน้ำหรือหยดน้ำ เรียกว่าจุดน้ำค้าง (Dew Point) คือการที่อากาศรับไอน้ำไว้ไม่ได้อีกแล้ว เกิดภาวะอิ่มตัว ความชื้นส่วนเกินจะคงบแน่นกลายเป็นละอองน้ำและหยดน้ำ ทำให้เห็นเป็นสายหมอกและอาจเปียกโชกได้ถ้ายืนอยู่บริเวณนั้น
ปัจจัยที่สองของการเกิดทะเลหมอกคือทัศนะวิสัยของผู้มองต้องค่อนข้างชัดเจน หมายความว่าในระดับสายตาของผู้มองต้องมีหมอกเบาบางกว่าระดับล่าง (เช่น หุบเขา) หรือไม่มีหมอกเลยจะทำให้มองเห็นทะเลหมอกขาวโพลนกว้างไกลออกไป
ปัจจัยที่ทำให้ระดับสายตาไม่มีหมอก ก็คือปัจจัยที่ทำให้หมอกสลายตัว ได้แก่ แสงแดด สายลมแรง แบะเมฆคลุมฟ้า ความร้อนจากแสงแดดทำให้หมอกระดับตัวผู้มองสลายไปก่อนจึงมองเห็นทะเลหมอกเบื้องล่าง หรือลมที่พัดผ่ายอดเขาก็ทำให้หมอกระดับตัวผู้มองสลายไปก่อนเช่นกัน และการมีเมฆคลุมฟ้าหมายถึงมีการลอยตัวของไอน้ำขึ้นไปยังชั้นเมฆ หมอกชั้นบนก็จะสลายตัวก่อนหมอกชั้นล่างนั่นเอง
ที่มา:http://www.sarakadee.com/knowledge/2001/november/doyouknow_fog.htm
http://www.aeromet.tmd.go.th/met/story/show_9.htm
http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=61
http://info.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=13&id=17209#
-
4619 ทะเลหมอก เกิดขึ้นได้อย่างไร /index.php/article-science/item/4619-2015-01-28-03-01-23เพิ่มในรายการโปรด