"หินสีนำโชค" จริงหรือปลอม ดูยังไง!!
“หินสีนำโชค” จากความเชื่อสมัยโบราณกลายมาเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อเหล่าดาราดังสวมใส่ ยิ่งทำให้ขายดิบขายดี แล้วแบบไหนคือของแท้ และจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีพลังเสริมดวงชะตาได้จริงๆ !
เรื่องราวของ หินสีนำโชค
ศาสตร์ของจีนโบราณ มีการใช้หินเพื่อการบำบัดโรคมานานแล้ว ในอียิปต์โบราณ กรีก และประเทศในเอเชียตะวันออกหลายแห่ง ก็มีหลักฐานแสดงถึงการนำหินมาใช้ในการรักษาโรค โดยมีหลักฐานเก่าแก่ที่กล่าวอ้างถึงการรักษาสุขภาพ ปรากฏอยู่บนกระดาษปาปิรุสของอียิปต์ที่มีอายุราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขียนถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีวิธีการใช้หินและรัตนชาติเพื่อการบำบัดอยู่ด้วย รวมทั้งการใช้หินเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำอาง อย่างเช่น พระนางคลีโอพัตราที่นิยมนำหินสีเขียวมาบดละเอียดทำเครื่องสำอางเปลือกหิน เป็นต้น
ส่วนชาวตะวันตกเมื่อพูดถึง "หิน" จะหมายรวมไปถึงเพชรด้วย แต่คนไทยมักจะแบ่งลักษณะความมีค่าเป็นหินรัตนชาติและความนิยม ความนิยมของหินจะขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศเปรู จะนิยมหินสีดำที่ได้จากพื้นดินที่ดำสนิทเท่านั้น ซึ่งหมายถึงความมั่นคงของประเทศชาติ ลักษณะของหินที่ว่าจะคล้ายกับหินภูเขาไฟ ยิ่งมีรูพรุน มีการกัดเซาะของน้ำและลม ยิ่งสื่อถึงความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมของเขา ส่วนใหญ่จะใช้ในการรักษาโรค รวมทั้งเป็นเครื่องประดับ หรือในมลรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมองว่าเทอร์คอยซ์เป็นผืนฟ้าของเขา จึงนับถือเป็นที่สุด
ในโบราณกาล "หิน" เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานภาพของผู้สวมใส่ว่าอยู่ในระดับใด อย่างที่ประเทศธิเบต จะมีหินอยู่ 3 ชนิดที่ใครมีไว้ในครอบครอง จะหมายถึงการเป็นผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมที่สูง (ในระดับเสนาบดีขึ้นไป) หินทั้ง 3 ชนิดนี้คือ เทอคอยซ์ อำพัน และปะการัง ในวันที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เสด็จมาเยือนประเทศไทย จะเห็นว่าแม้แต่พระราชินีของภูฏานก็จะสวมหินทั้งสามชนิดนี้ ในประเทศไทยเอง เมื่อก่อนก็นิยมเครื่องประดับอัญมณีที่เรียกว่า "นพเก้า" ประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ มาทำเป็นหัวแหวน จี้สร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหู สวมใส่กันเป็นชุดใหญ่
สีของหินเกิดจากอะไร?
“ขึ้นชื่อว่าหินสี เรื่องสีจึงเป็นสิ่งสำคัญแต่หินแบบที่ใสไม่มีสีก็มี สีที่แตกต่างกันของหินเกิดจากสีในแร่ที่แตกต่างกัน โดยธาตุให้สีอาจเป็นองค์ประกอบในสูตรเคมีของแร่ ถ้าเป็นแร่ชนิดเดียวกันจะทำให้เกิดสีสันสวยงามที่ความเข้มระดับแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณแร่สี แต่ถ้าเกิดแร่นั้นเข้าไปอยู่กับเนื้อหินหรือเนื้อแร่ที่เป็นคนละชนิดกัน แร่นั้นจะถูกเรียกว่า "มลทิน" หรือขยะที่อยู่ในหิน ซึ่งพวกเรามักรู้จักกันดีในชื่อของ “ไหมทอง” ที่เกิดจากแร่รูไทล์เข้าไปอยู่ในแร่ควอตซ์เกิดเป็นเส้นสีทองสวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหินบางประเภทได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเราเรียกว่ามันว่าสิ่งสกปรก"
วิธีแยกหินสีของจริง-ของปลอม
หินสีที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ มีทั้งหินสีธรรมชาติที่เป็นของจริง หินสีปลอมที่ทำจากแก้ว เรซิ่น และพลาสติก ซึ่งมีวิธีเบื้องต้นสำหรับตรวจสอบดังนี้
1.ใช้ลูปส่องพระ ขนาดกำลังขยาย 10 เท่าส่องเข้าไปที่เม็ดหิน หากเป็นหินปลอมที่ทำขึ้นจากแก้วหรือเรซิ่น ภายในจะเต็มไปด้วยฟองอากาศขนาดเล็กเต็มไปหมด ที่เกิดจากกระบวนการหล่อของโรงงานที่สามารถยืนยันได้ทันทีว่าหินนี้เป็นของปลอม
2.เมื่อนำไปตากแดดแล้วนำมาสัมผัส หรือนำมาอังไว้ที่แก้ม หินสีธรรมชาติจะยังคงความเย็นอยู่ ในขณะที่แก้วหรือเรซิ่นจะร้อน เพราะมีคุณสมบัติในการดูดความร้อน
3.ดูเส้นไหล หินปลอมจากพลาสติกหรือแก้วจะมีเส้นไหล ที่มีลักษณะเหมือนเป็นลายน้ำเชื่อมที่เกิดจากการหลอมของพลาสติก ซึ่งจะไม่พบในหินแท้จากธรรมชาติ
4.ดูแนวเชื่อม ถ้าหากมีแนวเชื่อมของเม็ดหินแสดงว่าเป็นหินปลอมที่เกิดจากเครื่องหล่อที่ไม่มีประสิทธิภาพ
5.ดูลวดลาย หากลวดลายหรือตำหนิบนหินมีลักษณะเหมือนๆ กัน หรือตรงกันทุกจุด ก็สันนิษฐานได้ทันทีว่ามาจากโรงงาน เพราะหินในธรรมชาติแทบจะไม่มีก้อนไหนเลยที่มีลักษณะเหมือนกัน
6.ราคาอาจใช้เทียบไม่ได้ เพราะเกิดจากความพึงพอใจระหว่างคนขายคนซื้อ และเครดิตของร้านค้า
7.น้ำหนัก ใช้เทียบไม่ได้ เพราะแก้วบางชนิดมีน้ำหนักใกล้เคียงกับหินสีของแท้
8.วิธีสุดท้ายที่ง่ายที่สุด สำหรับการแยกหินสีแท้กับพลาสติก คือ การนำไปเผาไฟ แต่อาจไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ค้า
http://www.manager.co.th/Science
http://horoscope.kapook.com/view107694.html
http://www.manager.co.th/Daily
http://www.mglobemall.com/
-
4704 "หินสีนำโชค" จริงหรือปลอม ดูยังไง!! /index.php/article-science/item/4704-qq-1022เพิ่มในรายการโปรด