ไขความรู้วิทยาศาสตร์ "ดินสอพอง" ที่เพิ่มความสนุกวันสงกรานต์
วันสงกรานต์ของไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย เป็นประจำทุกปี “สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือดวงอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 14 เมษายนเป็น “วันเนา” และวันที่ 15 เมษายน เป็น “วันเถลิงศก”
ด้านวิทยาศาสตร์ (S) ดินสอพอง (ดินขาวพองเมื่อโดนน้ำ) หรือเราเรียกดินมาร์ล มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต อุดมไปด้วยเนื้อปูนที่มีองค์ประกอบของแร่เคลย์และอาราโกไนต์ มาร์ลเป็นคำโบราณที่ถูกนำมาใช้เรียกวัตถุที่หลากหลายโดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุเนื้อหลวมๆ ของดินที่มีองค์ประกอบหลักของเนื้อผสมระหว่างดินเคลย์และแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดแวดล้อมที่เป็นน้ำจืด เป็นวัตถุเนื้อดินประกอบด้วยแร่เคลย์ประมาณ 65% และคาร์บอเนต 35%
ทางด้านล่างของชั้นชอล์คไวต์คลิฟออฟโดเวอร์ประกอบไปด้วยชั้นมาร์ลเนื้อกลอโคไนต์ตามด้วยการแทรกสลับของชั้นหินปูนและชั้นมาร์ล การลำดับชั้นหินยุคครีเทเชียสตอนบนในเยอรมนีเปรียบเทียบได้กับแรงขับอันเกิดจากความแปรผันเป็นวัฏจักรของวงโคจรโลกแบบมิลานโกวิตช์ (Milankovitch orbital forcing)
มาร์ลเกิดในทะเลสาบพบได้ทั่วไปในตะกอบทะเลสาบปลายยุคน้ำแข็งโดยปรกติแล้วจะพบวางตัวอยู่ใต้ชั้นพีต มาร์ลมีประโยชน์เป็นตัวปรับสภาพดินและเป็นตัวการปรับสภาพดินที่เป็นกรดให้มีสภาพเป็นกลาง มีลักษณะอ่อน ร่วนซุย และเป็นวัตถุเนื้อดินที่มีองค์ประกอบที่แปรผันของแคลเซี่ยมคาร์บอเนต เคลย์ และตะกอนขนาดทรายแป้งและพบเป็นปฐมภูมิภายใต้สภาพแวดล้อมแบบน้ำจืด (Hubbard and Herman, 1990)
ดินสอพองในประเทศไทย
พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ได้ให้นิยามดินสอพองว่าเป็นหินปูนเนื้อมาร์ล (marly limestone) ที่เป็นดินที่เนื้อเป็นสารประกอบแคลเซี่ยมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเอามะนาวบีบใส่ น้ำมะนาวมีกรดซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซี่ยมคาร์บอเนตเกิดเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นฟองฟูขึ้น ดูเผินๆก็เห็นว่าดินนั้นพองตัว จึงเรียกกันว่า ดินสอพอง โบราณใช้ทำแป้งประร่างกายเพื่อให้เย็นสบาย เมื่อผสมน้ำหอมเข้าไปด้วยกลายเป็นแป้งกระแจะ ปัจจุบันนี้ใช้มากในการแก้ดินเปรี้ยว ผสมทำธูป ทำปูนซีเมนต์ เพราะเสียค่าขุดและค่าบดต่ำกว่าใช้หินปูนซึ่งมีเนื้อเป็นสารประกอบชนิดเดียวกัน แหล่งใหญ่ในประเทศไทยมีในท้องที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ประโยชน์ของดินสอพอง
1. ดินสอพองถือเป็นสมุนไพรรสยาเย็น ใช้แก้พิษร้อนกับร่างกาย ถอนพิษอักเสบ แก้ผด ผื่น และคัน และที่พิเศษคือเป็นยาห้ามเหงื่อนอกจากไม่ทำให้ร่างกายเหนียวเหนอะจากอากาศร้อนแล้ว ยังทำให้ร่างกายเย็นสบาย
2. การใช้ดินสอพองประหน้า สามารถป้องกันแดดด้วยมีฤทธิ์คล้ายยากันแดดชนิดกายภาพ และนักวิจัยเพิ่งพบว่าเป็นยากันแดดได้ดี
3. มีสรรพคุณช่วยขจัดสิวเสี้ยน ลดอาการปวดบวมจากการอักเสบเขียวช้ำ ช่วยปรับสภาพผิวให้ดีขึ้น เมื่อนำมาผสมกับสมุนไพรแล้วนำมาขัดผิว ขัดตัว พอกหน้า จะได้ผลดียิ่งขึ้น เหมาะกับผิวมัน เพราะหากใช้กับผิวแห้งจะทำให้ผิวยิ่งแห้งไปกว่าเดิม
4. ใช้ขัดผิว คือ ดินสอพองผสมขมิ้นและมะขามเปียก ขัดหน้าขัดผิว ช่วยให้ผิวพรรณสดใสสวยงาม หรือใช้ดินสอพองผสมขมิ้น ลิ้นทะเล และพิมเสน ใช้ลอกฝ้า เป็นต้น
5. นำดินสอพองมาผสมกับใบทองพันชั่ง ก็มีสรรพคุณชั้นเยี่ยมในการรักษากลากเกลื้อนได้เช่นกัน
6. ใช้ดินสองพอง ขมิ้นชัน ไพล เหงือกปลาหมอ ผสมรวมกันถ้าใช้เต็มสูตรนอกจากได้สีออกเหลืองๆ แล้ว เมื่อนำไปทาตัวไปจะเป็นเหมือนการขัดผิวนั่นเอง
7. ใช้ทาแก้ผิวหนังแพ้ ลมพิษ และผื่นคัน ให้ผสมดินสอพองกับใบเสลดพังพอนตัวเมีย(พญายอ) สูตรนี้เป็นแป้งน้ำไทยหรือเรียกว่าคาลาไมน์สมุนไพร (จะมีสีเขียว) ถ้าจะเปลี่ยนเป็นสีสันฉูดตาขึ้นบ้าง เหยาะน้ำยาอุทัยใส่ดินสอพอง ละลายน้ำก็จะได้แป้งน้ำสีสวยๆ อีกขนานหนึ่งหรืออยากได้สีส้มแสด ก็เอาชาดอกคำฝอยมาชงน้ำร้อน ใช้น้ำมาผสมดินสอพอง หรือต้องการสีน้ำเงินม่วงเด็ดดอกอัญชันมาขยี้ละลายน้ำ ถ้าต้องการสีแดง ไปถากเอาเปลือกต้นสะเดาใส่น้ำต้มให้เดือด หรือที่หาง่ายๆก็ใช้ดอกกระเจี๊ยบแดงต้มน้ำก็ได้สีแดง
8. ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษเผ็ดที่โดนพริก ใช้ดินสอพองผสมน้ำทาบริเวณที่ร้อน
9. ผสมน้ำมะกรูด หรือน้ำมะนาว ทาแก้หัวโน
คำแนะนำและข้อควรระวัง
เนื่องจากดินสอพองเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากดินธรรมชาติผสมกับน้ำแล้วนำมาตากแดดกลางแจ้ง ดังนั้นจึงมีโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ควรระมัดระวังในการใช้ อย่าใช้กับบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก หรือเข้าปาก เพราะจะเป็นทางที่เชื้อจุลินทรีย์จะเข้าสู่ร่างกายได้ อาจมีผลให้เกิดการอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อ Pseudomonas aeruginosa อาจทำให้ตาอักเสบรุนแรงถึงตาบอดได้ สำหรับเชื้อ Escherichia coli, Salmonella spp. และ Clostridium spp ถ้าเข้าร่างกายทางปากอาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้
ปัจจุบันมีการนำดินสอพองมาใช้เล่นสงกรานต์ โดยนำมาผสมกับสีต่างๆ อาจมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ หรือเชื้อก่อโรคอื่นๆ และหากนำมาเล่นโดยไม่ระมัดระวังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ ดินสอพองยังใช้แก้ดินเปรี้ยวได้ เนื่องจากดินเปรี้ยวมีสภาพเป็นกรด มีค่า pH4 เมื่อเติมดินสอพอง ที่มีค่า pH 9.22-9.63 มีความเป็นด่าง โดยใช้คณิตศาสตร์ (M) เป็นตัวช่วยในการหาปริมาณที่เหมาะสมก็จะแก้ดินเปรี้ยวได้ส่วนดินสอพองที่ใช้ในเทศกาลสงกรานต์ต้องปรับค่า pH ให้เหมาะ กับผิวหนังของเรา คือ มี pH 5.0-8.0 โดยใช้สารสกัดจากพืชเป็นส่วนผสม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แนะประชาชนหากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองในการเล่นสงกรานต์ ควรเลือกซื้อดินสอพองสีขาว และควรหลีกเลี่ยงดินสอพองที่มีสีสันฉูดฉาดที่ไม่มีฉลากระบุแหล่งผลิตที่แน่นอน และควรระวังไม่ให้ดินสอพองและแป้งนวลเข้าตา ปาก หรือจมูก เพราะมีฤทธิ์เป็นด่าง สามารถทำให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะแป้งนวลมีองค์ประกอบหลักเป็นแคลเซียมซัลเฟต หรือยิปซั่ม เมื่อหายใจเข้าไป อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและหลอดลมได้
พร้อมทั้งฝากเตือนให้ระวังเรื่องแหล่งน้ำที่ใช้ในการเล่นสงกรานต์ ที่ไม่สะอาด อาจเกิดการปนเปื้อนของ ของเสียและสิ่งขับถ่ายจากคนและสัตว์ หากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างการอาจทำให้เจ็บป่วยได้
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.siamchemi.com
http://www.manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000039055
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9580000040825&utm_source=twitterfeed&utm_medium=twitter
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000038287
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th
-
4739 ไขความรู้วิทยาศาสตร์ "ดินสอพอง" ที่เพิ่มความสนุกวันสงกรานต์ /index.php/article-science/item/4739-qq-1024เพิ่มในรายการโปรด