ผลของตัวผสานต่อพฤติกรรมการเสื่อมสภาพด้วยความร้อนของคอมโพสิทระหว่างโพลีโพรพิลีนและโพลิเมอร์ผลึกเหลว (Rodrun LC5000)
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลของตัวผสานต่อสมบัติเชิงความร้อนของโพลิเมอร์ผสมระหว่างโพลีโพรพิลีนกับโพลิเมอร์ผลึกเหลว (Rodrun LC5000) โดยใช้ตัวผสานสองชนิดคือ สไตรีน-(เอทิลีน บิวทิลีน)-สไตรีน (SEBS G1652) และสไตรีน-(เอทิลีน บิวทิลีน)-สไตรีนกราฟท์ด้วยมาเลอิคแอนไฮไดรด์ (SEBS G1652-g-MA) ทำการศึกษาพฤติกรรมการเสื่อมสภาพด้วยความร้อนของโพลิเมอร์ผสมที่มี LC5000 30 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักและมีตัวผสาน 0, 1, 3 และ 5 เปอร์เซ็นต์โดยใช้วิธี thermogravimetry(TGA)แบบอุณหภูมิไม่คงที่ในบรรยากาศของไนโตรเจนและอากาศ พบว่า ในไนโตรเจนโพลิเมอร์คอมโพสิทที่ไม่เติมตัวผสานเสื่อมสภาพ 1 ขั้นในช่วงอุณหภูมิ 300-480 องศาเซลเซียส และในอากาศ พบการเสื่อมสภาพ 2 ขั้นในช่วงอุณหภูมิ 200-380 และ 380-580 องศาเซลเซียส โพลิเมอร์คอมโพสิทที่มีการเติมตัวผสานมีพฤติกรรมการเสื่อมสภาพ 1 ขั้นในช่วงอุณหภูมิ 330-500 องศาเซลเซียสในบรรยากาศของไนไตรเจนและพบการเสื่อมสภาพ 2 ขั้นในช่วงอุณหภูมิ 230-400 และ 350-580 องศาเซลเซียสในอากาศ จากผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าโพลิเมอร์คอมโพสิทที่เติมตัวผสานมีความเสถียรต่อความร้อนดีกว่าโพลิเมอร์คอมโพสิทที่ไม่เติมตัวผสานและความเสถียรต่อความร้อนไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเพิ่มปริมาณตัวผสาน นอกจากนี้ยังพบว่าโพลิเมอร์คอมโพสิทมีการทนต่อความร้อนในไนโตรเจนดีกว่าในอากาศ
-
6280 ผลของตัวผสานต่อพฤติกรรมการเสื่อมสภาพด้วยความร้อนของคอมโพสิทระหว่างโพลีโพรพิลีนและโพลิเมอร์ผลึกเหลว (Rodrun LC5000) /index.php/project-all/item/6280-rodrun-lc5000เพิ่มในรายการโปรด