การประยุกต์ใช้เลือดจากยุงรำคาญในการประมาณภาวะการติดเชื้อไข้เลือดออกในประชากรมนุษย์
การระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศทางเขตร้อนชื้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เนื่องมาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการ และการตรวจสอบหาภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้เลือดออกทั้งชนิดที่สร้างขึ้นหลังจากติดเชื้อมานานแล้ว (IgG) และชนิดที่สร้างขณะที่กำลังติดเชื้ออยู่ (IgM) โดยการเจาะเลือดโดยตรงจากประชากรตัวอย่างเป็นไปได้ยาก จึงทำให้การประมาณอัตราการติดเชื้อเดงกิไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก คณะผู้ทำการวิจัยจึงเสนอแนวทางในการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกิในประชากรมนุษย์โดยประยุกต์ใช้เลือดจากยุงแทน และทำการทดสอบสมมุติฐานโดยวางกับดักชนิด BG sentinel เพื่อเก็บตัวอย่างยุงรำคาญเป็นจำนวน 30 จุดบริเวณชนบทในอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึง ธันวาคม พ.ศ.2549 จากนั้นนำมาระบุหาสายพันธุ์ และคัดแยกยุงที่ดูดเลือดเพื่อตัดส่วนท้องไปวิเคราะห์หาที่มาของเลือดว่ามาจากสัตว์ชนิดใด โดยใช้ antibody ที่จำเพาะต่อ IgG ของมนุษย์ ไก่ และหมู ด้วยวิธี Enzyme-Linked Immunosorbent Assay (ELISA) จากยุงทั้งหมด 181 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบว่าเป็นเลือดของมนุษย์ 23 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 12.71% เป็นเลือดของไก่ 106 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 58.56% และจากการตรวจตัวอย่าง 40 ตัวอย่างพบว่าไม่มีเลือดของหมูเลย เมื่อนำตัวอย่างเลือดจากยุงที่ดูดเลือดมนุษย์ทั้ง 23 ตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์หาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกิโดยใช้ HRP-labeled anti-human IgG และIgM ที่จำเพาะต่อเชื้อด้วยวิธี Sandwich ELISA พบว่าเลือดตัวอย่างมีภูมิคุ้มกันชนิด IgG ต่อเชื้อเดงกิเป็นจำนวน 12 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 52.17% และมีภูมิคุ้มกันชนิด IgM ต่อเชื้อเดงกิเป็นจำนวน 1 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 0.04% จากผลการทดลองสามารถยืนยันว่าเลือดที่ได้มาจากยุงสามารถนำมาตรวจหาภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อเดงกิทั้งชนิด IgG และ IgM ในมนุษย์ได้ และเราสามารถนำผลที่ได้มาประเมินภูมิคุ้มกันของทั้งประชากรต่อเชื้อเดงกิได้
-
6366 การประยุกต์ใช้เลือดจากยุงรำคาญในการประมาณภาวะการติดเชื้อไข้เลือดออกในประชากรมนุษย์ /index.php/project-all/item/6366-2016-09-09-03-49-23-6366เพิ่มในรายการโปรด