การศึกษาผลของสารสกัดจากเมล็ดมะขาม ฟักทอง น้อยหน่า มะละกอ ต่อตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum) ที่เลี้ยงนอกร่างกาย (in vitro)
พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum) เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง ซึ่งตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิชนิดนี้ทำให้เกิดโรคพยาธิตัวจี๊ดในคน (Gnathostomiasis) โดยพยาธิจะเคลื่อนที่ไปตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายและทำให้เกิดพยาธิสภาพได้ทุกที่ เช่น อาการบวมเคลื่อนที่ตามผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ทำให้ตาอักเสบหรือบอดได้ หากพยาธิเคลื่อนที่เข้าระบบประสาทอาจทำให้ปากเบี้ยว เป็นอัมพาตหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากคนไม่ใช่โฮสต์ที่แท้จริงของพยาธิชนิดนี้ จึงไม่พบพยาธิระยะตัวเต็มวัยในระบบทางเดินอาหารของคน และยังไม่มียาที่รักษาให้หายขาดได้ วิธีรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การผ่าตัดพยาธิออกมา การศึกษาในครั้งนี้จึงทำการศึกษาผลของสารสกัดจากเมล็ดมะขาม ฟักทอง น้อยหน่าและมะละกอ ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่ใช้ในการรักษาโรคพยาธิตัวกลม ส่วนที่ได้จากการละลายใน 10%ethanol ในความเข้มข้น 100 mg/ml มาทดสอบกับตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิตัวจี๊ดซึ่งเป็นระยะติดต่อ โดยนำพยาธิมาจากการย่อยตับปลาไหลด้วยเปปซิน จากนั้นแบ่งพยาธิเป็น 6 ชนิด คือ ชุดควบคุมน้ำกลั่น ชุดควบคุม10%ethanol ชุดทดลองมะขาม ฟักทอง น้อยหน่า และมะละกอ ในแต่ละชุดแยกเลี้ยงออกเป็น 3 (3 ซ้ำ) กลุ่ม กลุ่มละ 5 ตัว โดยเลี้ยงพยาธิในจานเลี้ยงเชื้อ (petri dish) ในตู้บ่ม 5% ที่ โดยใช้ RPMI-1640 + 10% FCS เป็นอาหาร ใช้อัตราส่วนระหว่างอาหารต่อสารที่ทดสอบเป็น 1 ml : 1 ml สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงทุก 24 ชั่วโมงและเปลี่ยนอาหารให้พยาธิทุก 48 ชม. โดยเลี้ยงเป็นเวลา 21 วัน พบว่ากลุ่มควบคุมที่ใส่น้ำกลั่นลงไปแทนส่วนของสารสกัดที่จะทดสอบ พยาธิตายก่อนกลุ่มทดลองโดยตายหมดทั้ง 3 ซ้ำในวันที่ 7 ของการทดลอง ส่วนพยาธิในกลุ่มควบคุม 10%ethanol และกลุ่มทดลองสารสกัดจากเมล็ดพืชทั้ง 4 ชนิด ต่างมีอัตราการตายของพยาธิใกล้เคียงกัน โดยส่วนมากตายหมดในวันที่ 10-13 ของการทดลอง แต่มีพยาธิ 2 ตัว คือพยาธิจากกลุ่มควบคุม 10%ethanol และกลุ่มทดลองสารสกัดจากเมล็ดมะขาม มีชีวิตอยู่จนครบกำหนด 21 วัน ทั้งยังมีการเคลื่อนไหวดีจนจบการทดลอง ต่างกับพยาธิที่ตายก่อนครบกำหนดซึ่งการเคลื่อนไหวจะลดลงก่อนตาย จากการศึกษาในครั้งนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สารสกัดจากเมล็ดพืชทั้ง 4 ชนิดด้วย 10% ethanol ในความเข้มข้น 100 mg/ml มีผลต่อตัวอ่อนระยะ 3 ของพยาธิตัวจี๊ดหรือไม่ เนื่องจากพยาธิส่วนใหญ่ตายตั้งแต่ยังไม่ครบกำหนด 21 วัน รวมถึงกลุ่มควบคุม สาเหตุที่พยาธิตายอาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากพยาธิที่นำมาทดลองอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว จึงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน และสำหรับกลุ่มควบคุมน้ำกลั่นที่พยาธิตายก่อนกลุ่มอื่น อาจเนื่องมาจากกลุ่มควบคุมน้ำกลั่นมีสภาวะบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิตัวจี๊ด ทำให้พยาธิที่อ่อนแออยู่แล้วตายก่อนกลุ่มอื่น ทั้งนี้จะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม
-
5032 การศึกษาผลของสารสกัดจากเมล็ดมะขาม ฟักทอง น้อยหน่า มะละกอ ต่อตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum) ที่เลี้ยงนอกร่างกาย (in vitro) /index.php/project-mathematics/item/5032-3-gnathostoma-spinigerum-in-vitroเพิ่มในรายการโปรด