ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเผชิญปัญหาและความสุขในชีวิตของนักศึกษา
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมเผชิญปัญหาและระดับความสุขในชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปรียบเทียบความสุขในชีวิตของนักศึกษา จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเผชิญปัญหาและความสุขในชีวิตของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวน 407 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย แบบสอบถามปัจจัยส่วนบุคคล แบบสอบถามพฤติกรรมเผชิญปัญหา และแบบสอบถามความสุขในชีวิต สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีพฤติกรรมเผชิญปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และมีพฤติกรรมเผชิญปัญหาแบบมุ่งแก้ไขปัญหาและแบบมุ่งอารมณ์อยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกัน นักศึกษาส่วนใหญ่มีความสุขในชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง การเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลกับความสุขในชีวิตพบว่า นักศึกษาที่มีสถานที่ศึกษาและมีคะแนนเฉลี่ยสะสมแตกต่างกัน มีความสุขในชีวิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่า พฤติกรรมเผชิญปัญหาแบบมุ่งแก้ไขปัญหาและแบบมุ่งอารมณ์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
-
6465 ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเผชิญปัญหาและความสุขในชีวิตของนักศึกษา /index.php/project/item/6465-2016-09-09-03-51-05-6465เพิ่มในรายการโปรด