การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของตะกอนในทะเลสาบสงขลากับค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็ก
ได้ทำการเก็บตัวอย่างตะกอนท้องน้ำที่มีความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 20-30 cm. จากจุดเก็บตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 12 จุดภายในทะเลสาบสงขลา การเก็บตัวอย่างใช้เครื่องเก็บตะกอนทะเลสาบที่ออกแบบผลิตขึ้นที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การระบุตำแหน่งของจุดเก็บตัวอย่างบนแผนที่ใช้เครื่องบอกพิกัดภูมิศาสตร์ด้วยดาวเทียม นำแท่งตะกอนทั้ง 12 แท่งมาอบไล่ความชื้นในเตาอบด้วยอุณหภูมิ 100 องศา เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำมาแยกเป็นขนาดต่าง ๆ โดยการร่อนตะแกรงร่อน 4 ขนาด คือ ขนาด 0.3, 0.15, 0.106 และ 0.075 mm. ตามลำดับ นำมาหาเปอร์เซ็นต์โดยปริมาตรและความหนาแน่นของตะกอนขนาดต่าง ๆ ในแต่ละแท่งทำการวัดค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็กด้วยเครื่อง UGF Kappabridge รุ่น KLY-3S จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดลอง พบว่าค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็กของตะกอนในทะเลสาบสงขลามีความสัมพันธ์กับขนาดของตะกอน ซึ่งจำแนกได้เป็น 4 ส่วนดังนี้ 1. ตะกอนในทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออก ตะกอนที่มีขนาดเล็กมีค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็กต่ำกว่าตะกอนที่มีขนาดใหญ่และมีเปอร์เซ็นต์โดยปริมาตรของตะกอนขนาดใหญ่ (มากกว่า 0.15 mm.) พอ ๆ กับตะกอนขนาดเล็ก (น้อยกว่า 0.15 mm.) 2. ตะกอนในทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันตกตอนบน ตะกอนที่มีขนาดเล็กมีค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็กสูงกว่าตะกอนที่มีขนาดใหญ่ และเปอร์เซนต์โดยปริมาตรของตะกอนที่มีขนาดใหญ่ (มากกว่า 0.15 mm.) พอ ๆ กับตะกอนขนาดเล็ก (น้อยกว่า 0.15 mm.) 3. ตะกอนในทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันตกตอนกลาง ตะกอนที่มีขนาดเล็กมีค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็กต่ำกว่าตะกอนที่มีขนาดใหญ่ และมีเปอร์เซนต์โดยปริมาตรของตะกอนขนาดใหญ่ (มากกว่า 0.15 mm.) พอ ๆ กับตะกอนขนาดเล็ก (น้อยกว่า 0.15 mm.) 4. ตะกอนในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ตะกอนที่มีขนาดเล็กมีค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็กสูงกว่าตะกอนที่มีขนาดใหญ่ และมีเปอร์เซนต์โดยปริมาตรของตะกอนขนาดใหญ่ (มากกว่า 0.15 mm.) สูงกว่าตะกอนขนาดเล็ก (น้อยกว่า 0.15 mm.) จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับทะเลสาบสงขลา พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อขนาดของตะกอนในทะเลสาบคือ ชนิดของสารในตะกอน ตะกอนของสารอินทรีย์จะเป็นตะกอนที่มีขนาดใหญ่ ส่วนตะกอนของสารอินทรีย์จะเป็นตะกอนที่มีขนาดเล็ก ความใกล้ไกลจากปากคลองที่ไหลลงสู่ทะเลสาบ บริเวณที่อยู่ใกล้ปากคลองที่ไหลลงสู่ทะเลสาบ จะมีตะกอนที่มีขนาดใหญ่มากกว่าบริเวณที่อยู่ห่างออกไป ความแรงของกระแสน้ำ บริเวณที่มีความแรงของกระแสน้ำมาก จะทำให้ตะกอนขนาดเล็กยังคงแขวนลอยอยู่ในน้ำได้ ส่วนตะกอนขนาดใหญ่จะตกตะกอน ซึ่งตะกอนขนาดเล็กจะตกตะกอนในบริเวณที่มีความแรงของกระแสน้ำน้อย ปริมาณพืชที่ปกคลุมอยู่ในบริเวณนั้น บริเวณที่มีปริมาณพืชน้ำปกคลุมอยู่มาก มีผลต่อการเดินทางออกของตะกอนกล่าวคือ ทั้งใบและรากของพืชน้ำเหล่านั้น จะเป็นสิ่งขวางกั้นตะกอนขนาดใหญ่ไว้เปรียบเหมือนกับการกรองเอาตะกอนขนาดใหญ่ออกไปตะกอนที่ผ่านออกไปได้จึงเป็นตะกอนขนาดเล็กเท่านั้น ดังนั้นค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็กจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยประกอบด้วย ซึ่งจะทำการศึกษาต่อไป
-
4894 การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของตะกอนในทะเลสาบสงขลากับค่าสภาพรับไว้ได้ทางแม่เหล็ก /index.php/project-biology/item/4894-2016-09-09-03-24-54_4894เพิ่มในรายการโปรด