อิทธิพลของการกระตุ้นด้วยความเค็มต่อความสามารถในการทนแล้งในข้าวระยะต้นกล้า
ศึกษาอิทธิพลของการกระตุ้นด้วยความเค็มต่อความสามารถในการทนแล้งและลักษณะทางสรีรวิทยาบางประการในต้นกล้าข้าวสายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทนเค็มปานกลาง โดยทำการปลูกต้นกล้าข้าวในกระถางบรรจุดินจนต้นกล้าข้าวมีอายุ 25 วัน แล้วแบ่งกลุ่มทดลองดังนี้ กลุ่มควบคุม รดน้ำต่อเนื่อง 12 วัน กลุ่มที่ 2 รดน้ำต่อเนื่อง 5 วัน และปล่อยให้อยู่ในสภาวะแล้ง 7 วัน กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 รดด้วยสารละลาโซเดียมคลอไรด์ 20 ,50 มิลลิโมลาร์ต่อเนื่อง 5 วัน ตามลำดับ และปล่อยให้อยู่ในสภาวะแล้ง 7 วัน พบว่าสภาวะแล้งทำให้ค่าน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งลดลง แต่จะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยเกลือความเข้มข้น 20 มิลลิโมลาร์ นอกจากนั้นสภาวะแล้งที่ถูกกระตุ้นด้วยเกลือ 50 มิลลิโมลาร์ จะทำให้ค่าน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งลดลงด้วย ค่าความยาวรากและลำต้นทุกกลุ่มทดลองเมื่ออยู่ในสภาวะแล้งจะมีค่าลดลง ปริมาณน้ำสัมพัทธ์ของต้นกล้าข้าวที่อยู่ในสภาวะแล้งจะมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่จะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยเกลือความเข้มข้น 20 มิลลิโมลาร์จากการวิเคราะห์ปริมาณคาร์โบไฮเดรตในใบข้าวพบว่า ปริมาณน้ำตาลรวมเพิ่มขึ้นเมื่อต้นกล้าข้าวปลูกในสภาวะแล้ง ในขณะที่ต้นกล้าข้าวที่ปลูกในสภาวะแล้งและถูกกระตุ้นด้วยเกลือความเข้มข้น 20 มิลลิโมลาร์จะมีค่าปริมาณน้ำตาลรวมลดลง ปริมาณน้ำตาลซูโครสและฟรุกโตสในทุกกลุ่มทดลองมีค่าเพิ่มขึ้น ปริมาณแป้งในใบของต้นกล้าข้าวที่อยู่ในสภาวะแล้งจะมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่จะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยเกลือความเข้มข้น 20 มิลลิโมลาร์ นอกจากนี้ยังพบว่ากิจกรรมของเอนไซม์ sucrose phosphate synthase เอนไซม์ acidic invertase และเอนไซม์ alkali invertase ในต้นกล้าข้าวที่อยู่ในสภาวะแล้งจะมีค่าลดลง แต่จะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยเกลือความเข้มข้น 20 มิลลิโมลาร์ ดังนั้นสรุปว่าสภาวะแล้งเป็นสาเหตุให้การเจริญเติบโตของพืชลดลง แต่เมื่อมีการกระตุ้นด้วยเกลือความเข้มข้นที่พอเหมาะซึ่งในการทดลองคือ 20 มิลลิโมลาร์ จะสามารถลดปัจจัยที่ทำให้พืชไม่เจริญเติบโตได้
-
5805 อิทธิพลของการกระตุ้นด้วยความเค็มต่อความสามารถในการทนแล้งในข้าวระยะต้นกล้า /project-all/item/5805-2016-09-09-03-41-37เพิ่มในรายการโปรด