สัตว์ปีกน่ารู้
สัตว์ปีก เป็นสัตว์ที่เราทุกคนคุ้นเคยพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน มีหลากหลายสายพันธ์แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่างๆ สัตว์ปีกจัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้น Aves โดยจัดเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีลักษณะแตกต่างจากสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ ตรงที่สัตว์ปีกเป็นสัตว์เลือดอุ่นและมีกระดูกสันหลังชนิดเดียวที่เมื่อไข่มีการปฏิสนธิภายในร่างกายแล้วมีการออกไข่และมีการเจริญของตัวอ่อนนอกร่างกายแม่ นอกจากนี้สัตว์ปีกยังมีอวัยวะปกคลุมร่างกายที่แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ
ภาพตัวอย่างสัตว์ปีก
ที่มา : https://pixabay.com ,analogicus
ลักษณะของสัตว์ปีก
ลักษณะสำคัญที่เป็นจุดเด่นของสัตว์ปีกแทบจะทุกชนิดนั้นคือ มีขนเป็นลักษณะเฉพาะตัว คือ เป็นขนแบบแผง โดยขนเส้นเล็กๆ แต่ละเส้นจะเรียงชิดติดกันอยู่บนก้านยาว จะมีส่วนโคนฝังอยู่ที่บริเวณผิวหนัง ปากจะเป็นจงอย จะมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับการกินอาหาร อาหารจะถูกกลืนลงสู่ทางเดินอาหาร โดยไม่การเคี้ยว เพราะในปากไม่มีฟัน อาหารจะเคลื่อนผ่านหลอดอาหารลงสู่กระเพาะพักเพื่อเก็บสะสม แล้วจึงส่งต่อให้กระเพาะจริง เรียกว่า กระเพาะบดหรือกึ๋น ช่วยบดอาหารให้ละเอียด โดยใช้เม็ดกรวดและทรายที่สัตว์พวกนี้จิกกินเข้าไปจากนั้นส่งต่อให้ลำไส้เล็กเพื่อย่อยจนสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้ จะเหลือกากอาหารจะถูกขับออกทางทวารหนักพร้อมปัสสาวะ เพราะท่อปัสสาวะของสัตว์ปีกจะมาบรรจบที่ปลายลำไส้พอดี มูลจึงมีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว
เท้าของสัตว์ปีกจะมีลักษณะที่แตกต่างกันเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ที่บริเวณขาและนิ้วเท้าจะพบว่ามีเกล็ดอยู่ทุกชนิด มีปอดเป็นอวัยวะแลกเปลี่ยนก๊าซ สัตว์ปีกจะมีถุงลมที่บริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่ฐานของคอ ที่ท้อง ที่ทรวงอก ช่วยเก็บอากาศเพื่อส่งไปแลกเปลี่ยนก๊าซที่ปอด และถุงลมในร่างกายยังช่วยให้ร่างกายมีหนักเบาทำให้ลอยตัวอยู่ในอากาศได้ดี
โครงกระดูกสัตว์ปีกจะเบามาก เนื่องจากกระดูกหลายชิ้นมีช่องกลางและมีโครงสร้างแบบรังผึ้งที่แข็งแรงอยู่ภายใน สัตว์กลุ่มนี้มีถุงลมติดกับปอด โดยหายใจเอาอากาศเข้าออกจากถุงลม ซึ่งกระจายอยู่ในร่างกายเหนือปอด โดยอากาศจะไหลผ่านปอดไปด้วยและความสำคัญของอวัยวะต่าง ๆ แยกเป็นดังนี้
- ปีก ใช้บิน
- ปาก ใช้กินอาหาร
- ตา ใช้ในการมองเห็น
- หู ใช้รับฟังเสียงและการทรงตัว
- จมูก ใช้ดมกลิ่น
- ขาและเท้า ใช้ในการทรงตัวและเคลื่อนที่
การสืบพันธุ์ของสัตว์ปีก สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ มีการปฏิสนธิภายใน โดยออกลูกเป็นไข่ วางไข่บนบก ไข่มีจำนวนไม่มากนัก ไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม
การแบ่งประเภทสัตว์ปีก สามารถแบ่งสัตว์กลุ่มนี้ตามลักษณะการบินได้ 2 พวก คือ
-
สัตว์ปีกจำพวกบินได้ สามารถใช้ปีกในการบินไปมาในอากาศได้อย่างรวดเร็ว แต่มีบางพวกปรับโครงสร้างของร่างกาย ให้เหมาะสมกับสถานที่อยู่อาศัย จึงบินได้ต่ำ เช่น ไก่ เป็ด นกชนิดต่าง ๆ
-
สัตว์ปีกจำพวกบินไม่ได้ ส่วนใหญ่จะมีปีกขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของลำตัว จึงไม่สามารถบินได้ การเคลื่อนที่จะอาศัยขาเดิน และวิ่งอย่างรวดเร็ว นกที่บินไม่ได้ โดยธรรมชาติเท่าที่มีเหลืออยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ได้แก่ นกกระจกเทศ นกอีมู นกคาสโซวารี่ นกเรีย นกเพนกวินสายพันธุ์ต่างๆ
สัตว์ปีกที่จะกล่าวตอไปนี้ที่เรานิยมศึกษาด้านวิวัฒนาการ ความสวยงาม ความหลากหลายของสายพันธุ์นั้นคือ นกเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญเป็นอันมากทั้งต่อระบบนิเวศและต่อชีวิตมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนกมีมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม การเกื้อกูลกันระหว่างนกกับสรรพสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติก็พบเห็นได้ทุกพื้นที่
วิวัฒนาการของนก คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมของนก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อการดำรงอยู่ซึ่งเผาพันธุ์ นกมีความคล้ายคลึงกับสัตว์เลื้อยคลานหลายประการ เช่น โครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อ เกล็ดที่ขา การออกลูกเป็นไข่ และการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จึงเชื่อกันว่านกในปัจจุบันถือกำเนิดมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ทุกส่วนในร่างกายของนกถูกดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการบินบนท้องฟ้า เริ่มจากกระดูก ที่ภายในมีลักษณะกลวงคล้ายรวงผึ้ง ทำให้เบาแต่แข็งแรง
นอกจากนี้อวัยวะภายในบางอย่างของนกจะถูกตัดทอนออกไปเพื่อลดน้ำหนักตัวให้ได้มากที่สุด เช่นรังไข่ของตัวเมียที่เหลือเพียงข้างเดียว และปากที่ไร้ฟัน โดยนกจะไม่เคี้ยวอาหาร แต่กลืนลงไปย่อยในกึ๋นแทนการบินของนกต้องใช้พลังงานจากเมแทบอลิซึมเป็นอย่างมาก นกจึงมีระบบหายใจและระบบหมุนเวียนโลหิตอันทรงประสิทธิภาพ จากหัวใจที่มี 4 ห้อง และท่อที่เชื่อมต่อระหว่างปอดกับถุงลมทั่วลำตัว เพื่อความปลอดภัยในการบิน นกจึงต้องมีสัมผัสอันว่องไว โดยเฉพาะสัมผัสทางสายตา นกบางชนิดมีสายตาอันคมกริบ นกมีสายตาที่ดีที่สุดในบรรดาสายตาของสัตว์มีกระดูกสันหลังด้วยกัน สมองส่วนรับภาพของนกพัฒนาไปมาก เช่นเดียวกับสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว เพราะการบินที่ดีต้องอาศัยการประสานงานที่ดีของทุกส่วนในร่างกายนั่นเอง ส่วนขนนกนั้นนับว่าเป็นพัฒนาการที่พิเศษสุดอย่างหนึ่งในบรรดาพัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ขนนกเป็นส่วนประกอบของเคราติน มีลักษณะเบาแต่แข็งแรง ขนนกช่วยป้องกันนกจากแสงแดด ช่วยในการหาคู่ ช่วยในการปรับอุณหภูมิของร่างกาย และที่สำคัญที่สุดคือช่วยในด้านการบินของนก เนื่องจากการบินของนกจำเป็นต้องใช้พลังงานสูงมาก นกจำเป็นต้องได้รับพลังงานจากอาหารให้เพียงพอสำหรับการบินจึงทำให้นกต้องกินอาหารในปริมาณมาก การปรับตัวของระบบทางเดินอาหารให้นกสามารถกินอาหารได้มากและเพียงพอกับความต้องการของร่างกายประการหนึ่งคือ การขยายตัวของหลอดอาหารเป็นกระเพาะพัก เพื่อเป็นที่พักอาหารก่อนที่อาหารนั้นจะถูกส่งผ่านเข้าสู่ระบบการย่อยต่อไป นกส่วนใหญ่จะเก็บอาหารไว้ในกระเพาะพักจากนั้นก็จะค่อย ๆ ส่งอาหารนี้เข้าสู่ระบบการย่อยในช่วงกลางคืนเพื่อให้นกมีพลังงานเพียงพอที่จะใช้บินในตอนเช้า มีนกหลายชนิดอย่างเช่น พวกนกน้ำและนกที่หากินกลางทะเล
แหล่งที่มา
กลุ่มนก. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.thaiwildlife.info/group.php?Act=View&ID=2
การผลิตสัตว์ปีก (ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย, 2560) 1 พันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ปีก.สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.as.mju.ac.th/E-.pdf
-
9794 สัตว์ปีกน่ารู้ /lesson-biology/item/9794-2019-02-21-07-00-57เพิ่มในรายการโปรด