การแยกสารเนื้อเดียว (สกัดด้วยตัวทำละลาย/ตกผลึก/กลั่น/โครมาโทกราฟี)
สารเนื้อเดียว ( Homogeneous Substance ) เป็นสารที่มีองค์ประกอบชนิดเดียวหรือหลายชนิดผสมกันอยู่อย่างกลมกลืน ทำให้มองเห็นเป็นเนื้อเดียวกันตลอด ถ้านำส่วนใดส่วนหนึ่งของสารไปทดสอบก็จะมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ เช่น น้ำเกลือ น้ำส้มสายชู น้ำอัดลม เหล็ก ทองคำ ทองแดง อากาศ แก๊สหุงต้ม เป็นต้น
ภาพที่ 1 บทเรียนการแยกสารเนื้อเดียว (การกลั่น)
ที่มา : https://pixabay.com/ ,OpenClipart-Vectors
นักวิทยาศาสตร์ จำแนกสารเนื้อเดียวออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- สารบริสุทธิ์ ( Pure Substance ) เป็นสารเนื้อเดียวที่ประกอบด้วยสารเพียงอย่างเดียวไม่มีสารอื่นเจือปน ได้แก่ ธาตุ และสารประกอบ
- สารละลาย ( Solution ) เป็นสารเนื้อเดียวที่ประกอบด้วยสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปผสมกันด้วยอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน ไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น สารที่เกิดขึ้นจากการผสมจะมีคุณสมบัติไม่คงที่ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารบริสุทธิ์ที่นำมาผสมกัน สารละลายประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวทำละลาย และตัวถูกละลาย
ในบทนี้ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีการแยกสารเนื้อเดียว ได้แก่ การกลั่น การตกผลึก การสกัดด้วยตัวทำละลาย และโครมาโทกราฟี ซึ่งจะขอเสนอรายละเอียดในแต่ละหัวข้อดังนี้
- การกลั่น ( Distillation ) เป็นกระบวนการในการแยกของเหลวผสมของสาร 2 ชนิดขึ้นไป โดยอาศัยคุณสมบัติ จุดเดือด ที่แตกต่างกัน โดยเมื่อให้ความร้อนกับของเหลวจนอุณหภูมิถึงจุดเดือดของสารที่มีจุดเดือดต่ำกว่า สารชนิดนั้นจะระเหยออกมาเป็นไอ เมื่อไอนั้นเคลื่อนที่ผ่านท่อที่มีการลดอุณหภูมิ ( โดยการใช้ความเย็นหล่อเลี้ยงรอบท่อนั้น ) ทำให้เกิดการควบแน่นกลับมาเป็นของเหลวอีกครั้ง
การกลั่นมีหลายประเภท ในการพิจารณาว่าจะใช้วิธีการกลั่นแบบใดในการแยกสาร ให้พิจารณาจากจุดเดือดของสารองค์ประกอบ โดยถ้าสารที่เป็นองค์ประกอบในสารที่ต้องการแยกมีจุดเดือดต่างกันมาก จะใช้การกลั่นธรรมดา หรือการกลั่นแบบง่าย แต่ถ้าสารที่เป็นองค์ประกอบในสารที่ต้องการแยกมีจุดเดือดใกล้เคียงกัน จะเหมาะกับการกลั่นลำดับส่วน และถ้าสารที่เป็นองค์ประกอบในสารที่ต้องการแยกนั้นเป็นสารอินทรีย์ ระเหยง่าย ไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำ เหมาะที่จะใช้วิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ ซึ่งรายละเอียดของการกลั่นแต่ละประเภทมีดังนี้
1.1 การกลั่นแบบง่าย ( Simple distillation ) หรือกลั่นธรรมดา เป็นการกลั่นที่ใช้แยกสารผสมออกจากกัน โดยสารองค์ประกอบในสารผสมนั้นต้องมีอุณหภูมิต่างกัน 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อกลั่นเสร็จแล้วจะมีของแข็งเหลือที่ก้นภาชนะ
ภาพที่ 2 อุปกรณ์ที่ใช้แยกสารโดยการกลั่นแบบง่ายหรือกลั่นธรรมดา
ที่มา: http://www.digitalschool.club/digitalschool/science1_2_2/science15/index15.php
1.2 การกลั่นแบบลำดับส่วน ( Fractional distillation ) เป็นการกลั่นที่ใช้หลักการเหมือนการกลั่นแบบง่ายแต่เป็นการกลั่นสารผสมที่สารองค์ประกอบมีจุดเดือดใกล้เคียงกัน การกลั่นนี้ต้องใช้อุณหภูมิที่เที่ยงตรงมาก ๆ ไม่เช่นนั้นจะทำให้สารที่แยกได้ไม่บริสุทธิ์ การกลั่นแบบลำดับส่วนจะใช้ในการกลั่นน้ำมันดิบ โดยน้ำมันดิบนั้นมีการขุดเจาะมาจากใต้ดินทำให้มีสารต่าง ๆ ที่มีสมบัติ และจุดเดือดที่แตกต่างกันออกไปตามจำนวนของคาร์บอน โดยเราจะแบ่งหอกลั่นได้ 8 ชั้น สารที่มีคาร์บอนน้อย จุดเดือดต่ำกว่า เดือดเร็วกว่า จะลอยขึ้นไปอยู่ด้านบน สารที่มีคาร์บอนสูง มีจุดเดือดสูง จะเดือดช้า และควบแน่นอยู่ชั้นล่าง ๆ ของหอกลั่น เมื่อเรียงลำดับตามจำนวนคาร์บอนน้อยไปมาก ได้ดังนี้ มีเทน บิวเทน แนฟทาเบา แนฟทาหนัก น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น พาราฟิน น้ำมันเตาและยางมะตอย
ภาพที่ 3 แผนภาพแสดงลำดับสาร ต่างๆ ภายในหอกลั่นลำดับส่วนที่กลั่นได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ
ที่มา: http://www.digitalschool.club/digitalschool/science1_2_2/science15/index15.php
การกลั่นแบบสกัดด้วยไอน้ำ ( Steam distillation ) นิยมใช้ในการสกัดสารที่ระเหยเป็นไอได้ง่ายและไม่รวมตัวกับน้ำ เช่น สกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชชนิดต่าง ๆ โดยใช้ไอน้ำในการพาน้ำมันหอมระเหยออกมา และเมื่อไอนั้นเคลื่อนที่ไปยังส่วนที่ควบแน่น น้ำมันและไอน้ำจะควบแน่นกลายเป็นของเหลว และแยกชั้นกัน จากนั้นเราสามารถแยกน้ำมันหอมระเหยออกจากน้ำด้วยวิธีการทิ้งให้แยกชั้น หรือใช้วิธีสกัดด้วยสารละลายต่อไป
ภาพที่ 4 แผนภาพแสดงการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโดยการกลั่นแบบสกัดด้วยไอน้ำ
ที่มา: https://chemistryprosite.wordpress.com/2017/03/19/บทที่-1-ความรู้พื้นฐานเค/
- การตกผลึก ( Crystallization ) เป็นการแยกของแข็งที่ละลายเป็นเนื้อเดียวกันกับตัวทำละลายที่เป็นของเหลว โดยการนำสารผสมนี้ไปต้มให้ตัวทำละลายระเหยออกไปจนได้สารละลายอิ่มตัว ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นที่อุณหภูมิห้อง จะได้ของแข็งแยกตัวตกผลึกออกมา การตกผลึกเป็นกระบวนการเก่าแก่กระบวนการหนึ่งที่อุตสาหกรรมทางเคมีใช้กัน เนื่องจากประสิทธิภาพของการแยกสารที่ดี โดยเฉพาะประสิทธิภาพด้านพลังงานที่ประหยัดพลังงานมากกว่าการแยกสารด้วยวิธีการอื่นๆ
ภาพที่ 5 แผนภาพแสดงการแยกน้ำเกลือโดยวิธีการตกผลึก
ที่มา: https://chemistryprosite.wordpress.com/2017/03/19/บทที่-1-ความรู้พื้นฐานเค/
- การสกัดด้วยตัวทำละลาย ( Solvent extraction ) เป็นวิธีการแยกสารที่เป็นของเหลว หรือของแข็งปนอยู่กับของแข็ง โดยอาศัยสมบัติของการละลายของสาร หลักการสำคัญของการสกัดด้วยตัวทำละลายคือ การเลือกตัวทำละลายที่เหมาะสมในการสกัดสารที่ต้องการออกมาให้ได้มากที่สุด โดยหลักการในการเลือกตัวทำละลายที่เหมาะสม มีข้อควรคำนึงดังต่อไปนี้
- ต้องละลายสารที่ต้องการสกัดได้ดี และไม่ละลายสารอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการออกมาด้วย
- ไม่ทำปฏิกิริยากับสารที่ต้องการแยก
- ราคาถูก และหาได้ง่าย
- ไม่มีพิษ มีจุดเดือดต่ำ
- ควรแยกออกจากสารที่เราต้องการสกัดได้ง่าย และทำให้บริสุทธิ์ได้ง่าย เพื่อที่จะสามารถนำกลับมาใช้อีกได้
การสกัดด้วยตัวทำละลาย ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในวงการอุตสาหกรรม ได้แก่ การสกัดน้ำมันพืชออกจากเมล็ดพืชชนิดต่างๆ การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืช รวมถึงการสกัดตัวยาออกจากสมุนไพร
- โครมาโทกราฟี ( Chromatography ) เป็นวิธีการแยกสารผสมเนื้อเดียวออกจากกัน โดยอาศัยหลักการที่ว่าสารองค์ประกอบในสารผสมแต่ละชนิดมีความสมบัติที่แตกต่างกันในการกระจายอยู่ใน 2 เฟส ( Phase ) ได้แก่ เฟสที่อยู่กับที่ ( Stationary Phase ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับสารที่ต้องการแยก ส่วนมากจะใช้เป็นอะลูมินา ( alumina, Al203 ) หรือ ซิลิกาเจล ( silica gel, Si02 ) และเฟสที่เคลื่อนที่ ( Mobile Phase ) ทำหน้าที่เป็นตัวพา หรือตัวทำละลายสารที่ต้องการแยกให้เคลื่อนที่ไปบนตัวดูดซับ เช่น เฮกเซน เอทิลแอลกอฮอล์ เอทิลแอซิเทต แอซิโตน และปิโตรเลียมอีเทอร์ เป็นต้น
เทคนิคการแยกสารแบบโครมาโทกราฟีมีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่ โครมาโทกราฟีแบบกระดาษ ( paper chromatography ) ทินเลเยอร์โครมาโทกราฟี ( thin-layer chromatography : TLC ) คอลัมน์โครมาโทกราฟี ( column chromatography ) หากน้อง ๆ สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครมาโท กราฟีแต่ละแบบได้
ภาพที่ 6 แผนภาพประกอบการอธิบายการแยกสารโดยวิธีโครมาโทกราฟีแบบกระดาษและ TLC
ที่มา: https://glossary.periodni.com/glossary.php?en=retardation+factor
ผู้เขียนขออธิบายวิธีการแยกสารโดยใช้โครมาโทกราฟีแบบกระดาษและทินเลเยอร์โครมาโทกราฟี จากแผนภาพที่ 6 เริ่มต้นจากการกำหนดจุดเริ่มต้น ( Base line ) และจุดสิ้นสุด ( Solvent front ) ก่อน แล้วจึงหยดสารผสมที่ต้องการแยกลงบน Base line แล้วนำแผ่นกระดาษ หรือ แผ่น TLC ไปจุ่มลงในภาชนะปิดที่อิ่มตัวด้วยไอของตัวทำละลายที่เตรียมไว้ เมื่อตัวทำละลายเคลื่อนที่ผ่านตัวดูดซับที่มีของผสมอยู่ องค์ประกอบแต่ละชนิดในของผสมจะมีการเคลื่อนที่ไปบนตัวดูดซับ องค์ประกอบที่ละลายในตัวทำละลายได้ดีจะถูกดูดซับได้น้อย จึงเคลื่อนที่ออกมาก่อน และได้ระยะทางมากกว่า ( Rf มากกว่า ) ส่วนองค์ประกอบที่ละลายในตัวทำละลายได้น้อย จะถูกดูดซับได้นาน จึงเคลื่อนที่ออกมาภายหลัง หรือเคลื่อนที่ได้ระยะทางน้อยกว่า ( Rf น้อยกว่า ) จึงทำให้สารองค์ประกอบต่าง ๆ แยกออกจากกันได้ ซึ่งเราสามารถคำนวณค่า Rf ( Retention factor ) ของสารองค์ประกอบแต่ละตัวได้โดยใช้สูตรข้างล่างนี้ ( โดย Rf จะมีค่า ไม่เกิน 1 )
ภาพที่ 7 สูตรการคำนวณ Retention factor ของสารองค์ประกอบแต่ละตัว
ที่มา: ศุภาวิตา จรรยา
แหล่งที่มา
ปิยะวัฒน์ มีทรัพย์ และคณะ. Principle of Chemistry. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561. จาก https://chemistryprosite.wordpress.com/2017/03/19/บทที่-1-ความรู้พื้นฐานเค/
พิมพ์พิจิตร ไชยเจริญชัย. การแยกสาร. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561. จาก www.digitalschool.club/digitalschool/science1_2_2/science15/index15.php
Generalic, Eni. Aug 29, 2017. Retardation factor. Croatian-English Chemistry Dictionary & Glossary. Retrieved Oct 15, 2018. From https://glossary.periodni.com
สุวัฒนา ดันน์. การสกัดด้วยตัวทำละลาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 .จาก http://www.suwattana.net/separation/page8.html
-
9423 การแยกสารเนื้อเดียว (สกัดด้วยตัวทำละลาย/ตกผลึก/กลั่น/โครมาโทกราฟี) /lesson-chemistry/item/9423-2018-11-14-08-38-39เพิ่มในรายการโปรด