การตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ
น้อง ๆ คงเคยเห็นด่านตำรวจที่ตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ ส่วนมากที่เราเข้าใจกันคือถ้าผลตรวจเป็นสีม่วง นั่นก็หมายถึงคน ๆ นั้น ต้องสงสัยว่ามีสารเสพติดในร่างกายหรือมาการเสพยามานั่นเอง วันนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ การตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ ให้น้อง ๆ ได้เข้าใจว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และมีการนำความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการตรวจหรือไม่
ภาพที่ 1 การตรวจหาสารเสพติด
ที่มา https://pixabay.com/th/ ,PublicDomainPictures
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ให้ความหมายของ สารเสพติด ไว้ว่า สารเคมีหรือวัตถุชนิดใด ๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยวิธีรับประทาน ดม สูบ หรือด้วยวิธีการใด ๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ ได้แก่ มีความต้องการเสพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เสพมีสุขภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลง เมื่อหยุดเสพหรือลดปริมาณการเสพลงมาจะเกิดอาการขาดยา หรือ ถอนยา ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติเนื่องจากมีอาการขาดยา และจะทำทุกทางที่จะทำให้ได้เสพยาหรือสารนั้น
การตรวจสารเสพติดสามารถตรวจได้จากปริมาณสารเสพติดที่ตกค้างในร่างกายได้หลายวิธี ได้แก่ เลือด ปัสสาวะ เส้นผม และเล็บ แต่การตรวจจากปัสสาวะนั้นเป็นวิธีที่สะดวกกว่าวิธีอื่น เพราะเก็บตัวอย่างได้ง่าย มีระยะเวลาในการตรวจพบนานกว่าในเลือด
ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณสารเสพติดในปัสสาวะ ได้แก่ เภสัชจลศาสตร์ น้ำหนักของผู้เสพ ปริมาณของการเสพ ระยะเวลา/ความถี่ของการใช้ยา และความเป็นกรดเป็นด่างของปัสสาวะ ยกตัวอย่าง ผู้ที่เสพยาบ้า หรือยาไอซ์ จะสามารถตรวจพบ เมทอมเฟตามีนหรือแอมเฟตามีน ในผู้เสพที่ไม่ประจำใน 1-3 วัน หลังเสพ และ 2-3 วัน สำหรับผู้ที่เสพประจำ จนถึง 2-3 สัปดาห์สำหรับผู้เสพเรื้อรัง และแตกต่างกันไปสำหรับผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับเภสัชจลศาสตร์ของสารที่ใช้ด้วย
ภาพที่ 2 ช่วงเวลาที่มีโอกาสตรวจเจอสารเสพติดในปัสสาวะแบ่งตามชนิดของสารเสพติดและลักษณะการเสพ
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ขั้นตอนการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ มี 3 ขั้นตอน ดังนี้
ภาพที่ 3 ขั้นตอนการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- การเก็บปัสสาวะ ในขั้นตอนนี้มีสิ่งที่ควรคำนึง ดังนี้
-
สถานที่เก็บ ต้องจัดให้มีบริเวณสำหรับปัสสาวะ และมีผู้ควบคุม ต้องไม่มีสบู่ ผงซักฟอก ปิดวาล์วก๊อกน้ำ อ่างล้างหน้าให้หมด และให้ใส่สารสีฟ้าลงในโถชักโครกหรือน้ำที่กักเก็บไว้ เพื่อป้องกันการนำน้ำมาเจือจาง ในปัสสาวะ
-
ภาชนะที่บรรจุ เป็นขวดแก้ว หรือพลาสติกที่แห้งสะอาด มีฉลากติดรายละเอียด ครบถ้วน ชัดเจน หลังบรรจุปัสสาวะแล้ว พันทับปากขวดด้วยเทปกาว พร้อมลายเซ็น เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยน ปลอมปน
-
ปริมาตรปัสสาวะ ที่ใช้ในการตรวจจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของสารเสพติดที่ตรวจ แต่โดยรวมจะอยู่ที่ มากกว่า 15 มิลลิลิตร โดยยาบ้า ยาอี จะใช้ปัสสาวะไม่น้อยกว่า 15 มิลลิลิตร กัญชา ใช้ปัสสาวะไม่น้อยกว่า 30 มิลลิลิตร ส่วนมอร์ฟีน และ โคเคนใช้ปัสสาวะไม่น้อยกว่า 60 มิลลิลิตร ตามลำดับ
ภาพที่ 4 ลักษณะการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้อง
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- การตรวจเบื้องต้น (Screening test) มีวิธีการตรวจโดย การหยดน้ำยาทดสอบ การใช้ชุดตรวจสอบเบื้องต้นตามหลักภูมิคุ้มกันวิทยา และ การจุ่มชุดทดสอบแบบกระดาษ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอเฉพาะการใช้ชุดตรวจสอบเบื้องต้นตามหลักภูมิคุ้มกันวิทยาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ซึ่งชุดตรวจสอบนี้สามารถเลือกใช้แตกต่างกันไปตามชนิดของสารเสพติดที่ต้องการตรวจสอบ
- วิธีการอ่านและแปลผลชุดทดสอบ
กรณีที่มีผลเป็นบวก มีขีดที่ C การแปลผล คือ อาจมีสารเสพติดชนิดนั้น
กรณีที่มีผลเป็นลบ มีขีดที่ C และ T การแปลผล คือ ไม่มีสารเสพติดชนิดนั้น หรือมีสารเสพติดชนิดนั้นแต่มีความเข้มข้นน้อยกว่าค่า Cut off (ค่าปริมาณสารที่ชุดตรวจสอบจะตรวจได้)
ภาพที่ 5 วิธีการอ่านและแปลผลชุดทดสอบ
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ข้อดีของการตรวจสอบโดยใช้ชุดตรวจสอบเบื้องต้นตามหลักภูมิคุ้มกันวิทยา คือ ใช้งานง่าย รู้ผลเร็ว ผลบวกลวงน้อย มีระดับความเข้มข้นที่ตรวจได้มากกว่า 1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร วิธีนี้มีความจำเพาะเจาะจง 95 %
อย่างไรก็ตามมีสารที่ให้ผลบวกลวงในการใช้ชุดทดสอบ (ยาบ้า/ยาไอซ์) ได้คือ สารที่มีโครงสร้างคล้ายสารเสพติด เช่น ยาลดความอ้วน ยาที่ทำให้ไม่ง่วง Ranitidine Pseudoephedrine Dextromethorphan เป็นต้น
- การตรวจยืนยัน (Confirmation test) เมื่อมีการตรวจเบื้องต้นเป็น ผลบวก ก็จะมีการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจยืนยัน โดยมีวิธีการตรวจโดยใช้เทคนิคและเครื่องมือทางเคมีวิเคราะห์ที่มีความจำเพาะจงจงสูง มีความไวสูง รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ
- เทคนิคทางเคมีวิเคราะห์ที่ใช้ในการตรวจยืนยันชนิดและปริมาณของสารเสพติดในปัสสาวะในปัจจุบันมีดังนี้
- Thin Layer Chromatography (TLC Technique)
- Gas Chromatography (GC Technique)
- Gas Chromatographic – Mass spectrometry (GC-MS Technique : GC – MS, GC-MS/MS)
- Liquid Chromatography (LC Technique)
- Liquid Chromatographic – Mass spectrometry (LC-MS Technique : LC – MS, LC -MS/MS)
- LC – QTOF
เทคนิคการตรวจยืนยันที่เข้าใจง่าย ราคาไม่แพง ไม่ต้องใช้เครื่องมือชั้นสูง และใช้ในงานตรวจพิสูจน์อกลักษณ์ได้ดี นั่นก็คือ TLC Technique ซึ่งใช้หลักการโครมาโทกราฟี คือ สารตัวอย่าง (ที่อยู่ในปัสสาวะ) ที่เป็นชนิดเดียวกันกับสารมาตรฐาน จะมีค่า Rf เท่ากัน ดังภาพที่ 6 สารตัวอย่างรหัส 010536 – 010540 และ 010541, 010591- 010593 และ 010627 มีค่า Rf เท่ากันกับ M 1 ml และ M 1 ml แสดงว่าสารตัวอย่างเหล่านั้นเป็นชนิดเดียวกันกับ M (สารละลายมาตรฐาน)
ภาพที่ 6 การตรวจยืนยันโดยใช้ TLC Technique
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ส่วนเทคนิคชั้นสูงที่ใช้ตรวจยืนยันตามข้อ 2-6 นั้น จะเป็นเทคนิคที่สามารถวิเคราะห์ดีทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณที่มีความจำเพาะเจาะจงสูง มีความไวสูง ได้รับความเชื่อถือในทางคดี โดยอาศัยหลักการทางโครมาโท กราฟีว่า สารตัวอย่าง (ที่อยู่ในปัสสาวะ) ที่เป็นชนิดเดียวกันกับสารมาตรฐาน จะมีค่า Rt (Retention time) เท่ากัน นั่นเอง
แหล่งที่มา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. การตรวจพิสูจน์สารเสพติดในปัสสาวะ. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561 จาก https://bdn.go.th/th/sDetail/9/0/
สุเมธ เที่ยงธรรม. การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561. จาก https://bdn.go.th/th/sDetail/9/0/
-
9424 การตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ /lesson-chemistry/item/9424-2018-11-14-08-39-46เพิ่มในรายการโปรด