อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ
น้องๆ เคยเห็นบอร์ดแบบนี้ที่ไหนบ้างมั้ยคะ?
ที่มา: http://figures.boundless.com/15172/full/exchangerates.jpe
หลายคนอาจจะเคยเห็นบอร์ดลักษณะนี้แปะข้างฝาอยู่ตามธนาคารหรือบูธแลกเงินทั่วไป เจ้าบอร์ดที่ว่านี้ไม่ได้เอาไว้แค่ให้เราทายธงชาติว่าเป็นของประเทศอะไรเท่านั้นนะคะหน้าที่สำคัญของมันคือ แสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างสกุลเงินไทยบาทกับสกุลเงินชาติต่างๆ มันจะบอกถึงชื่อประเทศ สกุลเงินของประเทศนั้นๆ และจำนวนเงินบาทที่จะต้องใช้เพื่อแลกสกุลเงินชาตินั้นๆ มา (อาจจะพูดได้ว่าเราจ่ายเงินบาทไป เพื่อซื้อสกุลเงินประเทศอื่น) หรือหากเราถือสกุลเงินต่างประเทศอยู่ แล้วต้องการแลกคืนเป็นเงินไทย จะได้กี่บาท (ซึ่งนั่นก็เหมือนกับการที่เราถือเงินสกุลเงินต่างชาติ แล้วจะขายให้กับธนาคาร)
---------------------------------------------------------------------------
เรื่องแลกเงิน เรื่องกล้วยๆ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน และแต่ละวันก็อาจจะขึ้นๆ ลงๆ ได้หลายรอบ สมมติเรามีอัตราแลกเปลี่ยนเงินวันที่ 28 ก.พ. 2557 หน้าตาเป็นเหมือนตารางข้างล่างนี้
ที่มา:http://www.bangkokbank.com/bangkokbankthai/webservices/rates/pages/fx_rates.aspx
---------------------------------------------------------------------------
จากหัวตาราง มีคำอยู่สองคำที่ต้องทำความเข้าใจก่อนนะคะ คือคำว่า "ราคารับซื้อ" และ "ราคาขาย"
ง่ายๆ ก็คือ ธนาคารตั้งโต๊ะกำหนดราคา ดังนั้นจะยึดมุมมองธนาคารเป็นหลัก
ราคารับซื้อ=> แปลว่า ธนาคารจะซื้อเงินจากเรา (เราเป็นคนถือเงินสกุลต่างชาติไปขาย สุดท้ายเราจะได้เงินไทยกลับมา)
ราคาขาย=> แปลว่า ธนาคารจะขายให้เรา (เราต้องจ่ายเงินไทยเพื่อซื้อเงินสกุลต่างชาติ จ่ายเสร็จเงินไทยหายไปวับ ได้ธนบัตรต่างชาติกลับมาแทน)
Note:บอร์ดนี้อยู่ในประเทศไทย ดังนั้นสกุลเงินหลักอ้างอิงคือ "ไทยบาท (THB)" แต่ถ้าไปยืนอ่านบอร์ดอัตราแลกเงินที่เมืองนอก ให้อ้างอิงกับสกุลเงินของชาตินั้นๆ แทนนะคะ
---------------------------------------------------------------------------
สมมติเดือนหน้า เราจะเดินทางไปอังกฤษ มีเงินไทยอยู่ 30,000 บาท จะต้องแลกสกุลเงินอะไร และแลกได้เท่าไหร่?
วิธีคิดเป็นตามขั้นตอนดังนี้นะคะ
ขั้นแรกจะไปอังกฤษต้องรู้จักชื่อประเทศกับสกุลเงินบ้านเค้าก่อน
ในบอร์ดนี้ชื่อของประเทศอังกฤษคือUnited Kingdom ซึ่งเขาใช้หน่วยเงิน GBP (ตัวย่อแทนคำว่าpound - ปอนด์)
มองหาในบอร์ดแล้วเจอบรรทัดนี้
ขั้นที่สองมองปร๊าดไปยังตัวเลขสองตัวหลัง จะเห็น"ราคารับซื้อ"เป็น 53.65 ในขณะที่"ราคาขาย"อยู่ที่ 55.15 สังเกตได้ว่าราคาขายแพงกว่าราคาซื้อ ซึ่งก็แน่นอน คนขายของก็ต้องขายแพง ส่วนการรับซื้อคืนนั้นก็มักจะถูกกว่า (ได้กำไรส่วนต่าง)
จะเอาเงินไทยไปแลกเงินปอนด์ ให้มองช่อง "ราคาขาย" (ธนาคารขายเงินปอนด์ให้ ส่วนเราเป็นผู้ซื้อ)
สำหรับราคาขาย 55.15 นั้นแปลว่า จะซื้อเงิน 1 ปอนด์เราต้องจ่ายเงินให้ธนาคารไป 55 บาท 15 สตางค์
ดังนั้นมีเงิน 30,000 บาท น่าจะแลกได้ประมาณปอนด์
อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะไม่จ่ายเงินให้เท่านี้เป๊ะหรอกนะคะเพราะเขาไม่มีเหรียญย่อยให้ :) ดังนั้นเขาจะพยายามคิดราคาที่ใกล้เคียงกับเงินไทยที่เราถือ และเป็นจำนวนธนบัตรที่พอดี แต่ใกล้เคียงกับค่าที่เราคำนวณนี้แหล่ะค่ะ (เช่น ให้เงินธนบัตรมา 540 ปอนด์ แล้วทอนเงินไทยบาทกลับมาให้นิดหน่อยด้วย)
---------------------------------------------------------------------------
สมมติว่าตอนนี้เราไปเที่ยวอังกฤษเป็นที่เรียบร้อย และกลับมาเมืองไทยอย่างสวัสดิภาพ แถมเหลือเงินปอนด์ติดตัวกลับมาจำนวนหนึ่งซัก 157.13 ปอนด์ (หรืออ่านว่า157 ปอนด์ 13 เพนซ์) อยากจะแลกคืนเป็นเงินไทย จะคำนวณยังไงดี
วิธีคิด
ขั้นแรกให้คิดก่อนว่าจะเก็บเงินปอนด์ไว้เป็นที่ระลึกหรือเปล่า เท่าไหร่ดี (อ้อ เหรียญทั้งหมดที่ติดตัวกลับมา เอาไปแลกคืนเป็นเงินไทยไม่ได้นะคะ ธนาคารไม่รับ ดังนั้นเทคนิคของนักท่องเที่ยวมืออาชีพก็คือ นอกเหนือจากเหรียญที่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึกแล้วเนี่ย ก่อนบินกลับไทยควรใช้เหรียญที่เหลือให้หมดมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะได้ไม่ขาดทุนค่ะ ;)
ขั้นที่สองตกลงจะแลกเงินคืน 150 ปอนด์ ให้กลับไปดูอัตราแลกเปลี่ยนของ GBP ตะกี้ (สมมติว่า ณ วันที่กลับยังเป็นเรทนี้) ตรงช่อง"ราคารับซื้อ - 53.65" นั่นคือ ธนาคารซื้อเงินปอนด์จากเรา ซึ่งเงิน 1 ปอนด์จะคิดเป็นเงินไทย 53.65 บาท
เงิน 150 ปอนด์ จึงแลกเงินไทยได้ราวๆ 150 x 53.65 = 8047.50 บาท
---------------------------------------------------------------------------
ทำไมบางสกุลเงิน ถึงแสดงราคาซื้อ - ขาย หลายบรรทัด อย่างเช่นเงินดอลล่าร์สหรัฐ (USD)?
ไม่แค่สกุลเงินดอลล่าร์เท่านั้นที่อาจจะมีอัตราแลกเปลี่ยนแบ่งย่อยหลายบรรทัดแบบนี้ เงินยูโร (EUR) ก็อาจจะมีหลายอัตราแลกเปลี่ยนได้เช่นกันขึ้นอยู่กับที่ที่เราจะไปแลกค่ะ
ปกติการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ จะซื้อขายกันเฉพาะธนบัตร และธนบัตรก็มีราคามากน้อยต่างกันไป เช่น ธนบัตรใบละ 1 ดอลล่าร์, 2 ดอลล่าร์, 5 ดอลล่าร์, 50 ดอลล่าร์ เป็นต้น ธนบัตรที่มีค่ามากจะมีราคาสูงกว่าใบเล็กยิบๆ ย่อยๆ (ธนาคารตั้งราคาแบบนี้เอง) แต่ปกตินักท่องเที่ยวจะนิยมแลกใบใหญ่เป็นหลัก อาจจะมีใบเล็กปะปนไปบ้างเพื่อสะดวกในการจับจ่าย (ก็คล้ายๆ การใช้เงินในบ้านเราค่ะ ถ้าซื้อของหลักสิบบาทก็ใช้แค่แบงค์ 20 หรือแบงค์ 100 ก็น่าจะพอ) ถ้าสมมติอยากแลกซื้อธนบัตรใบละ 50 ก็ต้องเช็คราคาที่บรรทัด "USD: 50-100 ราคารับซื้อ 32.25 / ราคาขาย 32.90" หลักการคำนวณก็เหมือนกับที่บอกไปข้างต้นค่ะ
เช่นเดียวกันกับการแลกเงินคืน ถ้าสมมติน้องๆ มีธนบัตรหลายราคาปะปนกัน เช่น
$1 - 3 ใบ
$2 - 5 ใบ
$20 - 2 ใบ
$50 - 1 ใบ
$100 - 7 ใบ
เงินดอลล่าร์ทั้งหมดนี้คิดเป็นเงินไทยได้กี่บาทเอ่ย?
วิธีคิด
ธนบัตรใบละ $1 และ $2 ให้เช็คราคาแถวแรก
ใบละ $20 ให้ดูราคาแถวกลาง
ส่วนใบใหญ่ที่เหลือ ($50 และ $100) คิดราคาตามแถวล่างสุด
3($1 x 31.47) + 5($2 x 31.47) + 2($20 x 31.81) + 1($50 x 32.25) + 7 ($100 x32.25) =25869.01
ดังนั้นจะได้แลกได้เงินไทยคืนมาประมาณ25,869 บาท
---------------------------------------------------------------------------
เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์มากในเรื่องการแลกตังค์
1. แลกเงินที่สถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคารของรัฐและเอกชนที่ได้รับการรับรอง หรือ แลกกับสถานที่แลกเงินที่ถูกกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาโดนโกงเงิน ได้ธนบัตรปลอม ฯลฯ
2. พาเพื่อนไปด้วย (ถ้ามี) เผื่อแลกเงินเยอะจะได้ช่วยกันระแวดระวัง
3. ธนาคารทั่วไปมักจะขายเงินสกุลต่างประเทศค่อนข้างแพง ให้ลอง google เทียบดูเรทแลกเงินจากหลายๆ ธนาคาร ปกติแล้วพบว่าสถานที่แลกเงินเอกชนจะให้เรทดีกว่า (ขายถูกกว่าธนาคาร เวลารับซื้อก็รับซื้อคืนแพงกว่าด้วย)
4. ถ้าต้องการแลกเงินต่างประเทศไม่เยอะมาก และพอดีบ้านอยู่ใกล้ธนาคารก็อาจจะไม่ต้องเสียเวลาไปแลกเงินไกลๆ ถึงแม้ธนาคารนั้นจะให้เรทไม่ดีที่สุด แต่รวมค่าเสียเวลาหรือค่ารถแล้ว แลกเงินใกล้บ้านอาจจะคุ้มกว่าการเดินทางไปไกลๆ (พกเงินติดตัวมากเดินทางไกลก็น่ากังวล)
5. แลกเงินมาแล้ว จัดกระเป๋าตังค์ให้ดี ช่องไหนเงินไทย ช่องไหนเงินต่างประเทศ แบงค์ไทยแบงค์เทศอย่าเอามาปนกัน พวกเหรียญต่างๆด้วยนะจ้ะ และการออกทริปควรจะสำรองเงินไทยติดตัวไปด้วยซักนิดนะคะ เผื่อขากลับมาถึงสนามบินบ้านเราแล้วต้องใช้เงินบาทจะได้ไม่ต้องรีบแลกเงินที่สนามบิน (เพราะเรทไม่ดี) ค่อยหาเวลาว่างๆ ไปหาที่แลกเงินที่ให้ราคาดี จะเวิร์คกว่าจ้า
6. บางประเทศโดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในยุโรป ผู้คนนิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพราะปลอดภัยกว่าการพกเงินสดเยอะๆ ดังนั้นถ้าเดินทางไปประเทศพวกนี้ก็อาจจะใช้บ้ตรเครดิตร่วมด้วยกับเงินสด (ไม่ต้องแลกไปเยอะมาก เอาแต่พอควร) แต่อย่างไรก็ตามก่อนไปก็ควรติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรก่อน ให้แน่ใจว่าไปถึงโน่นแล้วบัตรใช้ได้จริง และสอบถามถึงการดูแลความปลอดภัยเรื่องการใช้บัตรในต่างประเทศด้วย
Everything in Everyway Widgetkit Module Sliders Linker Module Menu Contact Article Image Page Break Read More Joomla! 3.7.2 — © 2017 คลังความรู้สู่ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี View Site0Visitors1Administrator0MessagesLog out คณิตศาสตร์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)