ไฟฟ้ากระแส
พลังงานไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้า
เราทราบมาแล้วว่า กระแสไฟฟ้าเกิดเพราะอิเล็กตรอนเป็นตัวพาประจุเคลื่อนที่ไป ซึ่งในการเคลื่อนที่นี้ต้องมีการเสียพลังงานไป พลังงานที่เสียไปนั้นอาจจะเสียไปในรูปของพลังงานความร้อนพลังงานแสงหรือพลังงานกล และจากความรู้เรื่อง ความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างจุด 2 จุด มาแล้วจะมีกระแสไหลผ่านได้จด 2 จุด ต้องมีความต่างศักย์ ถ้าประจุ 1 คูลอมบ์ เคลื่อนที่ระหว่าง 2 จุด เสียพลังงานเป็นจูลไปเท่าใด คือค่าความต่างศักย์ระหว่าง 2 จุดนั้น มีหน่วยเป็นจูลต่อคูลอมบ์ หรือโวลต์
ถ้าเราให้ความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างจุด x และ y = V โวลต์
และถ้าจุด x มีศักย์ไฟฟ้าสูงกว่า y
ถ้าประจ 1 คูลอมบ์ จาก x ไป y เกิดพลังงานไฟฟ้า V จูล
ประจุ Q คูลอมบ์ จาก x ไป y เกิดพลังงานไฟฟ้า QV จูล
ถ้าให้ W = พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
ดังนั้น W =QV
W เท่ากับ พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่เสียไปในการเคลื่อนที่ หรือพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้า มีหน่วยเป็น จูล
Q เท่ากับ ประจุไฟฟ้าที่เคลื่อนที่ มีหน่วยเป็น คูลอมบ์
V เท่ากับ ความต่างศักย์ระหว่าง2 จุด ที่ประจุเคลื่อนที่ มีหน่วยเป็น โวลต์
ภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า
ที่มา: http://storybyth.blogspot.com/
สิ่งที่ควรทราบ
-
ถ้าประจุบวก เคลื่อนที่จากศักย์ไฟฟ้าสูงไปยังศักย์ไฟฟ้าต่ำ จะเกิดพลังงานออกมา
-
ถ้าประจุลบ เคลื่อนที่จากศักย์ไฟฟ้าต่ำไปศักย์ไฟฟ้าสูง จะเกิดพลังงานออกมา
-
ถ้าประจุบวก เคลื่อนที่จากศักย์ไฟฟ้าต่ำไปศักย์ไฟฟ้าสูงจะเสียงาน (งานที่เสียไปสะสมในรูปพลังงานศักย์ ซึ่งจะปล่อยออกมาเป็นพลังงานภายหลัง)
-
ถ้าประจุลบ เคลื่อนที่จากศักย์ไฟฟ้าสูงไปศักย์ไฟฟ้าต่ำ จะเสียงาน
กำลังไฟฟ้า
กำลังไฟฟ้า หมายถึง พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปใน 1 หน่วยเวลา
กำลัง = งาน/เวลา
P = W/t หน่วยของกำลัง = จูล/วินาที หรือวัตต์
กำลังไฟฟ้า = พลังงานไฟฟ้า/เวลา
เครื่องหมายบนเครื่องใช้ไฟฟ้า
เครื่องหมายบนเครื่องใช้ไฟฟ้ามักจะบอกค่าความต่างศักย์ที่ใช้(V) และกำลังที่เกิดขึ้นเป็นวัตต์ (W) แต่บางชนิดก็กำหนดค่าความต่างศักย์ (V) กับกระแสที่ผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเป็นแอมแปร์ (A) เช่น
เตารีด 110 V 750 W หมายความว่าเตารีดจะเกิดกำลังไฟฟ้า 750 วัตต์ เมื่อใช้กับไฟฟ้าความต่างศักย์ 110 โวลต์ และควรใช้กับไฟความต่างศักย์ 110 โวลต์เท่านั้น ถ้าใช้กับความต่างศักย์ 220 V เตารีดจะไหม้และเกิดอันตราย แต่ถ้าใช้กับความต่างศักย์ต่ำกว่า 110 V จะเกิดกำลังน้อยกว่า 750 W ทำให้เกิดความร้อนน้อยลง
เตารีดไฟฟ้า 220 V 3 A หมายความว่า เมื่อใช้เตารีดไฟฟ้ากับความต่างศักย์ไฟฟ้า 220 โวลต์ จะมีกระแสไฟฟ้าผ่าน 3 แอมแปร์ หรือเกิดกำลังไฟฟ้า เท่ากับ 220 x3 = 660 วัตต์
การต่อวงจรไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น หลอดไฟฟ้า เตารีด พัดลม จะต่อวงจรกันแบบขนานทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้เครื่องมือเหล่านั้นรับความต่างศักย์เท่ากัน และเท่ากับที่กำหนดไว้บนเครื่องหมายจึงจะเกิดกำลังตามที่กำหนด และถ้าเครื่องมือใดชำรุดเสียหาย เช่น หลอดไฟฟ้าขาดก็จะดับเฉพาะดวงนั้นไม่เกี่ยวข้องกับดวงอื่น
การคำนวณหากระแสและความต้านทานของเครื่องใช้ไฟฟ้า
จากจำนวนวัตต์ (W) หรือ กำลังไฟฟ้า ความต่างศักย์ไฟฟ้า (V) ที่กำหนดไว้บนเครื่องใช้ไฟฟ้าเราอาจคำนวณหา I ที่ไหลผ่าน และ R ของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นได้ดังนี้
จาก P = IV
ดังนั้น I = P/V
แต่ต้องไม่ลืมว่าค่า กระแสไฟฟ้าที่คำนวณได้นี้จะเป็นค่ากระแสไฟฟ้าเมื่อใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าตามความต่างศักย์ที่กำหนดไว้เท่านั้น เช่น หลอดไฟฟ้า 220 V 100 W มีกระแสไหลผ่านหลอด เท่ากับ 100/220 = 0.45 แอมแปร์ เมื่อใช้กับความต่างศักย์ไฟฟ้า 220 V ถ้าเปลี่ยนความต่างศักย์เป็น 110 V กระแสไฟฟ้าที่ไหลจะลดน้อยลงซึ่งอาจคำนวณได้โดยใช้กฎของโอห์ม แต่ต้องคำนวณหา R ของเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียก่อน เพราะ R ของเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นค่าคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง คำนวณได้จากสมการ
R = V2 /P
เช่น เตาไฟฟ้า 100 V 1000 W จะมีความต้านทาน R = V2 /P = (110)2/1000 = 12.1 1 โอห์ม ความต้านทานอันนี้ ถือว่าเป็นความต้านทานประจำตัวของเตาไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากความร้อนในขดลวด ในการคำนวณเราถือว่า R เป็นค่าคงที่ตลอดเวลา
สรุปหลักการคิดกำลังไฟฟ้า
- ถ้าเดิมหลอดไฟทุกหลอดมีความต่างศักย์ไฟฟ้าเท่ากัน เมื่อต่อกันแบบขนาน และต่อกับความต่างศักย์ไฟฟ้าเดิม
Iรวม = I1 + I2 + I3+…
Pรวม/V = P1/V + P2/V+ P3/V+…
ดังนั้น Pรวม = P1 + P2 + P3 +… ถ้า V เท่ากัน
- ถ้าเดิมทุกหลอดมีความต่างศักย์ไฟฟ้าเท่ากัน เมื่อต่ออนุกรมกันแล้ว ต่อความต่างศักย์ไฟฟ้าเท่าเดิม
หา R แต่ละหลอดก่อน เพราะ R คงที่เสมอ
R1 =V2/P1
R2 =V2/P2
R3 =V2/P3
ดังนั้น Rรวม = R1 + R2 + R3+…
V2/Pรวม = V2/P1 + V2/P2 + V2/P3 +…
ดังนั้น 1/Pรวม = 1/P1+1/P2+1/P3+… เมื่อ V เท่ากัน
แต่ถ้าหลอดไฟแต่ละหลอดใช้ความต่างศักย์ไฟฟ้าไม่เท่ากัน หรือพ่วงแล้วไม่ต่อกับความต่างศักย์ไฟฟ้าเดิมจะต้องหา R ก่อน
R = V2/P (แต่ละตัว)
แล้วหา I จาก V = IRรวม
เมื่อทราบ I แล้ว นำมาหา P ใหม่ได้จากสมการ
P = I2R (แต่ละตัว)
ตัวอย่างที่ 1 หลอดไฟฟ้าขนาด 10 วัตต์ 20 โวลต์ ข้อใดกล่าวถูกต้อง
-
เมื่อต่อหลอดไฟกับความต่างศักย์ 20 โวลต์ จะได้กำลังสูงสุด 10 วัตต์
-
เมื่อต่อหลอดไฟกับความต่างศักย์น้อยกว่า 20 โวลต์ กำลังสูงสุดที่ได้จะน้อยกว่า 10 วัตต์
-
เมื่อต่อกับหลอดไฟกับความต่างศักย์มากกว่า 20 โวลต์ ไส้หลอดไฟจะขาด
-
ถูกทุกข้อ
เฉลย คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ 4 คือ ถูกทุกข้อที่กล่าวมา
แหล่งที่มา
ช่วง ทมทิตชงค์ และคณะ. (2537). ฟิสิกส์ 5 ม.6. กรุงเทพฯ:ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
พงษ์ศักดิ์ ชินนาบุญ. (2556). ฟิสิกส์ เล่ม 4 ม. 4-6. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์.
icethanarat. (2559). พลังงานไฟฟ้า. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2562, จาก http://storybyth.blogspot.com/
-
11245 ไฟฟ้ากระแส /lesson-physics/item/11245-2019-12-19-07-35-22เพิ่มในรายการโปรด