ทัศนะในการทำโฮมสเตย์ของชาวบ้าน: ศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดนครนายก
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปในปัจจุบันของแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ ศึกษาศักยภาพในการจัดแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ และศึกษาแนวทางส่งเสริมการจัดแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ พื้นที่ศึกษาคือหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ ตำบลบางปลากด อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ผู้ให้ข้อมูลหลัก ประกอบด้วย เจ้าของแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ 6 คน ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ 27 คน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ 3 คน และผู้ที่มาพักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ 20 คน ทำการวิจัยด้วยวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์และการสังเกตแบบการมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกต ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพทั่วไปของหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั้งสิ้น 831 ราย พื้นที่ 973 ไร่ ในจำนวน 8 ตำบล ของอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านพื้นที่ จำนวนเกษตรกร และความหลากหลายของพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ มีการจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับเรียงรายตามถนน เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร หมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับมีการจัดงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมเหล่านี้เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่แหล่งผลิตและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ปรับปรุงเทคโนโลยีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อได้พบปะกันโดยตรง ในอนาคตหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่จะได้รับการพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนที่ยั่งยืนของจังหวัดนครนายก 2. สภาพทั่วไปของแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ ปัจจุบันมีโฮมสเตย์ทั้งหมด 6 แห่ง และได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐ เช่น พาไปศึกษาดูงาน จัดฝึกอบรมโดยเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวของจังหวัด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดที่พักแบบโฮมสเตย์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนในเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพักอาศัย โฮมสเตย์ส่วนใหญ่อยู่ห่างจากถนนประมาณ 50 เมตร บางแห่งจะใช้เป็นบ้านพักอยู่ในหลังเดียวกันกับเจ้าของ บางแห่งก็ปลูกสร้างขึ้นมาใหม่สำหรับเป็นโฮมสเตย์ให้ผู้มาพักโดยเฉพาะ แต่เท่าที่ผ่านมาโฮมสเตย์ถูกใช้สำหรับผู้ที่มาซื้อพันธุ์ไม้และจำเป็นต้องพักค้างคืนเพราะกลับบ้านไม่ทันมากกว่าที่จะมาท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มาพักโฮมสเตย์โดยไม่ได้ซื้อพันธุ์ไม้ 3. ศักยภาพในการจัดแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ สภาพบ้านและห้องน้ำที่ใช้ในการจัดแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ บ้านทุกหลังมีสภาพบ้านที่เหมาะสม มีห้องให้ผู้มาพักอาศัยเป็นสัดส่วน และมีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ พัดลม โทรทัศน์ บ้านทุกหลังจะมีบรรยากาศภายในบ้านที่เงียบสงบ สมาชิกในบ้านมีความเต็มใจในการใช้สถานที่ภายในบริเวณบ้านร่วมกัน ในส่วนของกิจกรรมในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับนั้นขณะนี้ยังไม่มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจให้แก่ผู้มาเข้าพักยกเว้นการชมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับมีวัดประสิทธิเวชและวัดสันติธรรมราษฎร์บำรุง และการเที่ยวชมงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ 4. แนวทางส่งเสริมการจัดแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ 4.1 การประชาสัมพันธ์ ควรจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ตลอดถนนในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ จัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ในงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับหรือเวลามีการจัดงานการท่องเที่ยวอื่น ๆ นอกจากนี้ควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ขายพันธุ์ไม้และผู้ที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับได้ทราบกันอย่างทั่วถึงว่ามีการจัดแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ 4.2 การสนับสนุนด้านงบประมาณ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดแหล่งที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่าง ๆ 4.3 การแสวงหากิจกรรมที่หลากหลาย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องช่วยกันคิดหากิจกรรมที่หลากหลายเพื่อดึงดูดใจให้มีผู้มาพักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับมากขึ้น ซึ่งผู้ที่เคยมาพักอาศัยแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับก็ได้เสนอกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ จัดเรือถีบในคลอง จัดให้มีจักรยานหรือมอเตอร์ไซด์ให้เช่า จัดสวนไม้ดอกไม้ประดับขนาดใหญ่ ทำตลาดน้ำบริเวณริมคลองในหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ และจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวหรือเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดนครนายกไว้ให้ผู้ที่มาเข้าพัก เป็นต้น 4.4 การจัดการด้านสาธารณูปโภค ควรขยายถนนตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับ ปรับปรุงผิวจราจรของถนนในหมู่บ้าน ติดไฟฟ้าสองข้างทาง ปรับปรุงสะพานข้ามคลองที่มีความชันให้มีลักษณะที่รถยนต์สามารถขับข้ามไปมาได้สะดวก และควรมีที่พักริมทาง
-
6497 ทัศนะในการทำโฮมสเตย์ของชาวบ้าน: ศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดนครนายก /project-biology/item/6497-2016-09-09-03-51-16-6497เพิ่มในรายการโปรด