การศึกษาประสิทธิภาพของการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในอาหารด้วยส่วนต่างๆของดอกแค
แค (Sesbania grandiflora Desv.) เป็นไม้พื้นบ้านของไทยที่มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งสามารถนำดอกแคมาประกอบอาหาร และส่วนต่างๆของแคยังเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นราก เปลือก ใบ หรือดอกแค และเนื่องด้วยดอกแคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เกสร” มีรสขมประกอบกับมีงานวิจัยว่าแคสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ (อ 11) และมีการคาดว่าน้ำจากดอกแคสามารถรักษาโรคไซนัสอักเสบ (อ 12) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ อีกทั้งแคยังเป็นพืชปลูกง่ายและเป็นไม้พื้นบ้านของไทย จึงคิดว่าน่าจะนำดอกแคมาศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรีย โดยนำส่วนต่างๆของดอกแคมาศึกษาเปรียบเทียบ ประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในอาหาร ในการดำเนินงานเราศึกษาโดยการสกัดสารจากส่วนต่างๆของดอกแคโดยการใช้ตัวทำละลาย 2 ชนิด ชนิดไม่มีขั้ว ได้แก่ เอทานอล และเมทานอล กับชนิดมีขั้ว ได้แก่ แอซีโตน, คลอโรฟอร์ม และเฮกเซน โดยนำสกัดด้วยการเขย่าในกรวยแยกแล้วนำไปปั่นแยกตะกอนหรือส่วนที่ไม่ละลายออกแล้วนำไประเหยตัวทำละลายออกและนำส่วนที่เหลือไปละลายใน Dimethylsulfoxide (DMSO) และนำสารสกัดไปทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในอาหาร 3 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli. , Salmonella spp. และ Staphylococcus aurous. โดยใช้วิธี Disc Diffusion Test และทดสอบอย่างละ 3 ครั้ง ประสิทธิภาพของสารสกัดในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวสังเกตได้จากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของ clear zone ที่เกิดขึ้น ซึ่งผลการดำเนินงานที่ออกมาพบว่าเฉพาะ Escherichia coli.และ Salmonella spp. เท่านั้น ที่ถูกยับยั้งได้โดยสารสกัดจากดอกแค โดยสารสกัดจากเกสรซึ่งสกัดโดยใช้คลอโรฟอร์มและเฮกเซน มีผลทำให้เกิด clear zone ขนาดกว้างที่สุด แต่ถึงแม้จะสรุกไม่ได้แน่ชัดว่าสารสกัดจากส่วนต่างๆของดอกแคสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในอาหารได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะการที่ดอกแคที่นำมาทดลองนั้นไม่สดเนื่องจากไม่ได้เก็บมาจากต้นแคโดยตรง หรือปริมาณสารที่สกัดได้น้อยเกินไปเนื่องจากอัตราส่วนระหว่างสารสกัด : ตัวทำละลาย ไม่เหมาะสม หรือวิธีทดสอบแบบ Disc Diffusion Test นั้นไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ทดสอบเนื่องจากปริมาณสารที่จุ่มอาจน้อยไปไม่เพียงพอที่จะออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ แต่ก็มีแนวโน้มที่ได้จากการดำเนินงานซึ่งอาจสรุปได้ว่า สารที่อยู่ในดอกแคซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในอาหารเป็นสารไม่มีขั้ว และอยู่ที่เกสรดอกแคมากที่สุด เนื่องด้วยผลที่ได้ยังไม่ชัดเจนนัก ดังนั้น หากมีการปรับปรุงวิธีการดำเนินงานบางขั้นตอนก็อาจจะได้ทราบถึงประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในอาหารมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากมีประสิทธิภาพในการยับยั้งได้ดีควรที่จะนำมาศึกษาและพัฒนาในการใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านอุตสาหกรรมอาหาร, การผลิตยารักษาโรค ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณเป็นอย่างมากและยังเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์ไม้ของประเทศไทยอีกด้วย
-
4983 การศึกษาประสิทธิภาพของการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในอาหารด้วยส่วนต่างๆของดอกแค /project-chemistry/item/4983-2016-09-09-03-25-19_4983เพิ่มในรายการโปรด