วิจัยอาหารปลาหางนกยูง
ในปัจจุบันได้มีการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยสิ่งต่างๆรอบตัวเราอยู่เสมอ อันเป็นสิ่งที่ทำให้สติปัญญาของมนุษย์พัฒนาต่อไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด การที่ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ๆจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ความรู้นั้นไม่ผิดพลาด น่าเชื่อถือ และมีคุณค่า กระบวนการที่ว่านี้ก็คือ ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) ซึ่งประกอบด้วย การสังเกตและตั้งปัญหา การตั้งสมมติฐาน การทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐาน และ การวิเคราะห์ การสรุปโครงงาน “วิจัยอาหารปลาหางนกยูง” ถึงแม้จะเป็นเพียงโครงงานวิทยาศาสตร์เล็กๆ แต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการที่ถูกต้อง การสังเกตสิ่งรอบตัวถือเป็นสิ่งแรกของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผู้จัดทำได้สังเกตและสงสัยว่า ทำไมปลาหางนกยูงที่เลี้ยงจากคนต่างๆกัน จึงมีการเจริญเติบโตต่างกัน มีสีสันต่างกัน มีขนาดต่างกัน จากการสอบถามและค้นคว้าเบื้องต้น ก็ทำให้ทราบ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในการเลี้ยงปลาของแต่ละคน คือ “อาหารปลา” ผู้จัดทำ จึงได้คิดจะตั้งการทดลองเพื่อศึกษาว่า อาหารปลาที่ต่างชนิดกันมีผลต่ออาการเจริญเติบโตของปลาหางนกยูงหรือไม่ อย่างไร ในการทดลอง ผู้จัดทำได้พยายามหาความแตกต่างของอาหารที่ใช้ อาหารเหล่านี้ได้มาจากการแนะนำของผู้ที่เลี้ยงปลาอยู่แล้วบ้าง จากตัวผู้จัดทำเองบ้าง จนในที่สุดได้อาหารทดลองมา 4 ชนิด คือ สาหร่าย หมูต้ม อาหารปลาสำเร็จรูป(ชนิดเม็ด) และไข่แดง เริ่มต้นการทดลองโดยการคัดเลือกลูกปลาหางนกยูงอายุและขนาดเท่าๆกันจำนวนหนึ่ง แบ่งเป็น 4 ชุดเพื่อทดลองให้อาหารจากอาหารปลาทั้ง 4 ชนิด โดยแต่ละชุดจะมีการแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆอีก เพื่อให้ลูกปลาได้อาหารอย่างเพียงพอและลดความคลาดเคลื่อนของการทดลองให้อาหารลูกปลาวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ มีการวัดความยาวที่เพิ่มขึ้นของลูกปลาทุก 3 วันสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของลูกปลาที่เกิดขึ้น เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด ปรากฏว่า ลูกปลาที่ได้รับไข่แดงทุกวันเป็นเวลา 6 สัปดาห์นั้นทีการเจริญเติบโตดีที่สุด รองลงมา คือ อาหารสำเร็จรูป หมูต้ม และสาหร่าย ซึ่งเมื่อนำผลการทดลองนี้มาวิเคราะห์พบว่า การที่ลูกปลาเจริญเติบโตต่างกัน แสดงว่าน่าจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละชนิดของอาหาร ที่พบค่อนข้างชัดเจนก็เป็นพวก โปรตีน อย่างไรก็ตามผลการทดลองนี้ก็ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่า สารใดที่ทำให้เกิดความแตกต่างของการเจริญเติบโตที่แท้จริง และเนื่องจากใช้อาหารทดลองเพียง 4 ชนิด จึงยังสรุปอะไรไม่ได้แน่ชัด100% การทดลองนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่สนใจเลี้ยงปลาหางนกยูง ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบัน การเลี้ยงปลาเพื่อความสวยงาม และส่งออกขายตามที่ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทางด้านนี้จำนวนมาก ถ้าเราสามารถผลิตสิ่งต่างๆได้เอง เช่น อาหารปลาเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ประเทศชาติก็จะไม่ต้องประสบกับภาวะขาดดุลการค้าอย่างที่เคยมา ผู้จัดทำมีความคิดว่า ควรมีการทำโครงการลักษณะนี้กับสัตว์เศรษฐกิจและพืชเศรษฐกิจหลายๆประเภท เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว เราอาจไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากต่างชาติอีกต่อไป
-
4989 วิจัยอาหารปลาหางนกยูง /project-chemistry/item/4989-2016-09-09-03-25-21_4989เพิ่มในรายการโปรด