การตรวจหา DNA จากห้องปฏิบัติการ ที่ปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่
GMOs (Genetic Modifically Organisms) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกตัดต่อเปลี่ยนแปลงยีนให้มีคุณสมบัติตามต้องการ โดยส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ของ GMO ที่เกี่ยวข้องกับเราในชีวิตประจำวันได้แก่ พวกผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้บริโภค ในการตัดต่อยีนใหม่นั้นมักจะมีการใส่ยีนอื่น เพื่อใช้เป็นตัวบ่งบอกว่ายีนมีคุณสมบัติใหม่ตามต้องการได้ถูกเติมเข้าไปในสิ่งมีชีวิตแล้ว ยีนที่ใช้บ่งชี้ที่นิยมได้แก่ ยีนต้านยาปฏิชีวนะและยีนที่ผลิตโปรตีนเรืองแสงฟลูออเรสเซนต์ จึงทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อคนเรารับประทานผลิตภัณฑ์ GMO เข้าไป ยีนต้านยาปฏิชีวนะเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายดื้อต่อยาในภายหลังได้หรือไม่ จากคำถามดังกล่าวทำให้คิดต่อไปว่า ปัจจุบันมีการใช้ยีนเทคโนโลยีในการศึกษาวิจัยอยู่ทั่วไป การทิ้งวัสดุ สารปนเปื้อน GMO หรือเชื้อ GMO โดยวิธีไม่ถูกต้องอาจทำให้ยีนต้านยาปฏิชีวนะเหล่านี้ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำในธรรมชาติได้ วัตถุประสงค์ของโครงงานนี้จึงต้องการตรวจหายีนต้านยาปฏิชีวนะจากตัวอย่างน้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณที่มีการวิจัยเหล่านี้ว่ามีหรือไม่ และถ้ามีจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด มากพอที่เราจะสามารถตรวจพบได้หรือไม่ ทั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวความคิดที่ว่าถ้ามีการปนเปื้อนของยีนหรือ DNA ดังกล่าวลงในแหล่งน้ำนั้น สิ่งมีชีวิตมีการถ่ายทอดยีนกันเองในธรรมชาติอยู่แล้วก็อาจจะได้รับยีนต้านยาปฏิชีวนะมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบกลับมาสู่มนุษย์อีกครั้ง ในการทดลองครั้งนี้ได้เลือกใช้ยีนต้านยาปฏิชีวนะแอมพิซิลิน ซึ่งใช้กันมากในห้องปฏิบัติการ เป็นตัวติดตามว่ามีการปนเปื้อนของ GMO ในแหล่งน้ำ การทดสอบใช้วิธี PCR (polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความไวสูงมาก สำหรับตัวอย่างน้ำจะเก็บจากบ่อบำบัดน้ำเสียต่าง ๆ ที่มาจากห้องปฏิบัติการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โรงพยาบาลราม โรงพยาบาลประสาท ซึ่งคาดว่ามีการปนเปื้อนของ DNA และแหล่งน้ำใกล้เคียงในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น คูเมือง สวนกาญจนาภิเษกและไร่แม่เหียะ ผลจากการนำตัวอย่างน้ำมาตรวจหา DNA นั้น ไม่พบการปนเปื้อนของ DNA หรือยีนต้านยาปฏิชีวนะแอมพิซิลิน อย่างไรก็ตาม การที่ตรวจยีนดังกล่าวไม่พบ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการปนเปื้อน เนื่องจากการทดลองนี้มีข้อจำกัดของปริมาณ DNA ที่ตรวจได้ โดยถ้ามีปริมาณต่ำกว่า copies/ μl ก็จะตรวจไม่พบ นอกจากนี้ระยะเวลาในการเก็บก็เป็นปัจจัยที่สำคัญด้วย อีกประการหนึ่งการทดลองนี้เป็นการตรวจหายีนต้านยาปฏิชีวนะแอมพิซิลินเท่านั้น ยังมียีนต้านยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ที่ใช้บ่อยในห้องปฏิบัติการ เช่น neomycin , kanamycin , tetracyclin จึงควรมีการทดสอบยีนต้านยาปฏิชีวนะเหล่านี้ เพื่อให้ครอบคลุมโอกาสในการตรวจพบมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าการกำจัดเชื้อหรือ DNA จากห้องปฏิบัติการมีความสำคัญอย่างยิ่ง การฆ่าเชื้อโดยวิธีการนึ่งภายใต้ความดันสามารถทำลายเชื้อได้ ที่น่าสนใจมากคือ ในระหว่างการทดลองนี้พบว่าเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการทดสอบ PCR คือ Tag DNA polymerase ของบางบริษัทกลับมีการปนเปื้อนของยีนต้านยาปฏิชีวนะเสียเอง ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากทางบริษัทได้ใช้ GMO ในการผลิตเอนไซม์ให้ได้มีสมบัติตามที่ต้องการ จึงทำให้เกิดความคิดที่ว่านอกจากเอนไซม์แล้วยังมีสารอื่น ๆ ที่ใช้ในการบริโภค เช่น ยาบางชนิดที่เตรียมโดยวิธียีนเทคโนโลยีก็อาจมีการปนเปื้อนของยีนต้านยาปฏิชีวนะ จึงน่าที่จะทำการศึกษาโดยละเอียดต่อไป
-
5030 การตรวจหา DNA จากห้องปฏิบัติการ ที่ปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ /project-chemistry/item/5030-dnaเพิ่มในรายการโปรด