การสกัดและแยกสารจากใบและกิ่ง (Arial part) ของต้นมะกล่ำตาหนู (Abrus precatorius L.) เพื่อทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็ง
มะกล่ำตาหนู (Abrus precatirius L.) เป็นพืชสมุนไพรที่ชาวจีนและอินเดียโบราณใช้รักษาโรคกล่องเสียงอักเสบ ตับอักเสบ และหลอดลมอักเสบ ปัจจุบันมีการศึกษาถึงคุณสมบัติป้องกันการจับตัวเป็นลิ่มของเลือดและป้องกันโรคภูมิแพ้ [1] สำหรับในประเทศไทยใช้ส่วนราก ขับเสมหะ แก้เสียงแห้ง แก้ไอ และหวัด เมล็ดมีพิษทำลายทางเดินอาหาร ตับ และไต [2] จากการศึกษาขั้นต้นในห้องปฏิบัติการวิจัยทรัพยากรชีวภาพ ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ พบว่าสารสกัดหยาบของต้นมะกล่ำตาหนูมีฤทธิ๋ต้านเชื้อรา 6.3 μg/ml มะเร็งช่องปาก 19.8 μg/ml มะเร็งเต้านม 13.0 μg/ml และวัณโรค 100 μg/ml ดังนั้นจึงสนใจที่จะสกัดสารจากต้นมะกล่ำตาหนู เพื่อศึกษาหาสูตรโครงสร้างของสารที่เป็นองค์ประกอบ และทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้ สกัดแยกสารจากใบและกิ่งแห้งของต้นมะกล่ำตาหนู ( 1.2 kg) โดยแช่ในไดคลอโรมีเธนนาน 2 วัน กรองแยกส่วนของไดคลอโรมีเธนออกจากกาก แล้วนำไประเหยแห้ง จะได้สารสกัดหยาบ (13.67 g) จากนั้นนำสารสกัดหยาบมาแยกให้บริสุทธิ์ด้วยเทคนิคคลอลัมภ์โครมาโตกราฟฟี ได้แก่ Sephadex LH-20 column และ Silica gel column สามารถแยกได้สารบริสุทธิ์ 3 ชนิด คือ abruquinone B (161.6 mg) มีผลึกสีขาว จัดเป็นสารในกลุ่ม isoflavanquiones สารชนิดนี้เคยถูกค้นพบมาก่อนแล้วในรากของต้นมะกล่ำตาหนู [3] สารที่เป็นของแข็งสีน้ำตาลอมส้ม (7.2 mg.) ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น 20(29)-lupen-3-ol จัดอยู่ในกลุ่ม triterpenoids ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาหาสูตรโครงสร้างทางเคมีที่ถูกต้อง และสารที่เป็นของแข็งสีขาว (10.1 mg) ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นอนุพันธ์ของ 20(29)-lupen-3-ol และในขณะนี้กำลังศึกษาหาสูตรโครงสร้างทางเคมีที่ถูกต้องอยู่เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีส่วนสกัด (fraction) อื่นอีกที่มี nmr spectrum น่าสนใจและคาดว่าจะเป็นสารใหม่ในกลุ่ม isoflavanquinones ซึ่งในขณะนี้กำลังทำการแยกให้บริสุทธิ์ด้วยเทคนิค HPLC (high performance liquid chromatography) จากการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่า abruquinone B มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งช่องปาก ที่ 9.27 μg/ml ต้านเซลล์มะเร็งเต้านม ที่ 4.61 μg/ml และต้านเซลล์มะเร็งปอด ที่ 1.18 μg/ml สำหรับ 20(29)-lupen-3-ol นั้นไม่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งช่องปาก เซลล์มะเร็งเต้านม และเซลล์มะเร็งปอด
-
5023 การสกัดและแยกสารจากใบและกิ่ง (Arial part) ของต้นมะกล่ำตาหนู (Abrus precatorius L.) เพื่อทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็ง /project-physics/item/5023-arial-part-abrus-precatorius-lเพิ่มในรายการโปรด