ผลของความเค็มและความเข้มแสงต่อการเจริญเติบโตของต้นพังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza) และต้นแสมขาว (Avicennia alba)
ป่าชายเลนเป็นป่าไม้ที่มีความสำคัญและมีคุณค่าต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทั้งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อน แหล่งถ่านฟื้นที่สำคัญ ส่งเสริมคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและนิเวศวิทยา ป่าชายเลนเป็นบริเวณรอยต่อระหว่างบกกับทะเล เป็นเขตน้ำขึ้นสูงสุดและน้ำต่ำลงต่ำสุด บริเวณนี้จึงมีสภาพปัจจัยที่แตกต่างไปจากป่าไม้ประเภทอื่นๆ เช่น ระดับการขึ้นลงของน้ำ ระดับความเค็มของน้ำที่แตกต่างกันในแต่ละบริเวณ ปริมาณความเข้มแสงในแต่ละบริเวณที่พันธุ์ไม้จะได้รับ การศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทราบถึงความต้องการปัจจัยที่แตกต่างกันของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด และนำไปสู่การบำรุงรักษาพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนให้สามารถเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นจึงคิดที่จะศึกษาเกี่ยวกับผลของความเค็มและความเข้มแสงที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและการรอดตายของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน โดยในการทดลองนี้จะใช้พันธุ์ไม้ 2 ชนิด คือ ต้นพังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลโกงกางและต้นแสมขาว (Avicennia alba) ปลูกในเรือนพฤกษศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวัดการเจริญเติบโตในด้านความสูง เส้นผ่านศูนย์กลาง และจำนวนใบ โดยทำการวัดเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง การทดลองในช่วง 1 เดือนแรกน้ำที่ใช้จะเป็นน้ำจืดทั้งหมดเพื่อให้ต้นอ่อนสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นกล้าได้ หลังจากนั้นน้ำที่ใช้ในการทดลองจะมีระดับความเค็มแตกต่างกัน 5 ระดับคือ 0 ppt (น้ำจืด) 10 20 30 และ 40 ppt จากการทดลองพบว่าความเค็มของน้ำที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของต้นพังกาหัวสุมดอกแดงมากที่สุดคือ 0 ppt (น้ำจืด) และความเค็มของน้ำที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของต้นแสมขาวมากที่สุดคือ 10 ppt ส่วนความเข้มแสงที่ใช้ในการทดลองคือ 20 50 และ 100% จากการทดลองพบว่าความเข้มแสงที่แตกต่างกันไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นพังกาหัวสุมดอกแดง และความเข้มแสงที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของต้นแสมขาวมากที่สุดคือ 100% สำหรับในด้านการรอดตายตลอดช่วงการทดลองนั้นพบว่าต้นพังกาหัวสุมดอกแดงมีเปอร์เซ็นต์การรอดตายตลอดช่วงการทดลองที่ความเค็มของน้ำ 30 ppt มากที่สุดคือ 96.29% และต้นแสมขาวมีเปอร์เซ็นต์การรอดตายตลอดช่วงการทดลองที่ความเค็มของน้ำ 10 ppt มากที่สุดคือ 98.14% และพบว่าที่ความเค็ม 40 ppt ทั้งต้นพังกาหัวสุมดอกแดงและต้นแสมขาวมีเปอร์เซ็นต์การรอดตายน้อยที่สุด โดยในช่วง 2 เดือนหลังจากเริ่มให้น้ำเค็มไม่พบเปอร์เซ็นต์การรอดตายของต้นแสมขาว การปรับตัวของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนเมื่อเจริญอยู่ในน้ำเค็ม มีลักษณะคล้ายพืชทะเลทราย เนื่องจากไม่สามารถดูดน้ำไปใช้ได้สะดวกอย่างน้ำจืดจึงต้องเก็บกักน้ำที่ดูดขึ้นไปไว้ในลำต้นให้ได้มากที่สุด เห็นได้จากลักษณะของใบซึ่งมักมีคิวตินเคลือบหนา มีปากใบแบบจม และมักมีขนปกคลุมผิวใบทั้งนี้เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำออกจากใบ บางชนิดมีการเก็บกักน้ำไว้ในเซลล์พิเศษของใบ ซึ่งทำให้ใบมีลักษณะอวบน้ำ นอกจากนี้เซลล์ของพืชในป่าชายเลนยังมีความเข้มข้นของเกลือแร่สูงกว่าเซลล์ปกติทั่วไป รวมทั้งมีต่อมขับน้ำเกลือทำหน้าที่ควบคุมความเข้มข้นของเกลือแร่ในเซลล์ใบให้อยู่ในระดับปกติ
-
5085 ผลของความเค็มและความเข้มแสงต่อการเจริญเติบโตของต้นพังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza) และต้นแสมขาว (Avicennia alba) /project/item/5085-bruguiera-gymnorrhiza-avicennia-albaเพิ่มในรายการโปรด