ผลของน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากไม้ยูคาลิปตัส สำหรับปราบหอยเชอรี่
การศึกษาผลของน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากไม้ยูคาลิปตัสเพื่อใช้ในการปราบหอยเชอรี่ (Pomacea canaliculata Lamark) ด้วยฟืนไม้ยูคาลิปตัส โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาการสร้างอุปกรณ์ ในการเก็บน้ำส้มควันไม้ โดยใช้เตาเผาถ่านถังน้ำมัน 200 ลิตร ชนิดแบบนอน ในการเผาไม้ฟืนหนัก 70 กิโลกรัม เป็นเวลา 1 วัน ได้ปริมาณน้ำส้มควันไม้ 3.5 ลิตร คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักไม้ฟืนสดที่ใช้ รวมทั้งได้ปริมาณถ่านจากการเผาคิดเป็น 20-23 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักไม้ฟืนที่ใช้ น้ำส้มควันไม้ที่ได้ จะต้องนำมาตั้งทิ้งไว้นาน 90 วัน เพื่อตกตะกอนแยกน้ำมันใส น้ำมันดินก่อนนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดย น้ำส้มควันไม้จะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล มีค่าความถ่วงจำเพาะ เท่ากับ 1.03 และมีค่าความเป็นกรดเบส (pH) คือ 2.99 ส่วนที่สองนี้แบ่งการศึกษาเป็น 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่หนึ่งเป็นกลุ่มควบคุมโดยเลี้ยงหอยเชอรี่ในน้ำเปล่า กรรมวิธีที่สอง เป็นกลุ่มทดลองโดยศึกษาความเป็นพิษของสารละลายน้ำส้มควันไม้จากไม้ยูคาลิปตัสที่ความเข้มข้นต่าง ๆ ดังนี้ 10 : 200 5: 200 และ 1:200 โดยปริมาตร เปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม(ไม่ใช้น้ำส้มควันไม้) จำนวน 3 ซ้ำ โดยหอยเชอรี่ตัวเต็มวัยขนาดความยาวเปลือกเฉลี่ย 35.20 มิลลิเมตรน้ำหนักเฉลี่ย 13.5 กรัม จำนวนถังละ 5 ตัวต่อถัง หลังจากทดลอง 24 ชั่วโมง พบว่ากรรมวิธีที่หนึ่งหอยเชอรี่ยังมีชีวิตอยู่ แต่กรรมวิธีที่สองนั้นมีผลให้หอยเชอรี่ปิดฝาจมอยู่ใต้ถังที่ทดลอง ทำให้หอยเชอรี่ไม่สามารถวางไข่ในเวลากลางคืนได้ ที่เวลา 48 ชั่วโมง พบว่า น้ำส้มควันไม้ที่ทำจากไม้ยูคาลิปตัสที่อัตราความเข้มข้น10:200 มีอัตราการตายเฉลี่ย 100 เปอร์เซ็นต์ และที่ความเข้มข้น 5: 200 และ 1:200 มีอัตราการตายเฉลี่ย ร้อยละ 60 และ ร้อยละ 40 ตามลำดับ
-
5877 ผลของน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากไม้ยูคาลิปตัส สำหรับปราบหอยเชอรี่ /project/item/5877-2016-09-09-03-43-03-5877เพิ่มในรายการโปรด