ซียูเท็กซ์ไทล์: ซอฟต์แวร์ออกแบบลายผ้าสามมิติ CU Textile Design
อุตสาหกรรมแฟชัน ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง และอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานแฟชัน ไม่ต่ำกว่า 10,207 โรงงาน คนงาน ประมาณ 1.58 ล้านคน และมี มูลค่าการส่งออกในปี 2545 ประมาณ 346,822.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.2 ของ GDP ปัญหาที่ประสบของอุตสาหกรรมแฟชันในปัจจุบัน คือ ปัญหาแนวโน้มการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 โดยปัจจัยของการถดถอย ได้แก่ ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต หรือ โออีเอ็ม (Original Equipment Manufacture: OEM) ผลิตสินค้าคุณภาพระดับล่าง และไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งมีการแข่งขันสูงขึ้นจากประเทศที่มีต้นทุนและค่าจ้างแรงงานต่ำ เช่น จีน เวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชัน จึงได้มีมติเห็นชอบในกิจกรรมการเปิดตัวโครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชัน โดยคำสั่งจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างธุรกิจ จากการที่ประเทศไทยมีภาพลักษณ์โดดเด่นด้านแฟชัน และเพื่อให้ตราสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออก งบประมาณและรายได้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางแฟชันอย่างแท้จริง หนึ่งในกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว คือการวิจัยและพัฒนา ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น การเพิ่มศักยภาพของขั้นตอนการออกแบบลายผ้าสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มได้อย่างสูง จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาเครื่องมือในลักษณะโปรแกรมจำลองลายผ้าสามมิติขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการออกแบบลายผ้าสำหรับนักออกแบบหรือดีไซเนอร์ ให้ผลิตสินค้าที่มีรูปแบบและคุณภาพระดับสากล อีกทั้งยังลดระยะเวลา ค้นทุน และความผิดพลาดในการผลิต การออกแบบลายผ้า (Textile design) เป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคนิค การผลิต และความคิดสร้างสรรค์ ให้ตรงกับ ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งลวดลายผ้าในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ลวดลายที่เกิดจากสี และลวดลายที่เกิดจากการขัดกันของเส้นด้าย หากลวดลายที่เกิดจากสีนั้นหลุดไป ผ้าก็ยังคงเป็นผืนผ้าและใช้ประโยชน์ได้ เรียกลวดลายประเภทนี้ว่า ลวดลายตกแต่ง (Decorative design) เกิดจากการย้อม และพิมพ์พลิกแพลงแบบต่างๆ ส่วนลวดลายที่เกิดจากการขัดกันของเส้นด้าย หากดึงเอาเส้นด้าย ที่เป็นลวดลายออก ลายผ้าบริเวณนั้นจะเสื่อมสภาพไป ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เรียกว่าลวดลายโครงสร้าง (Structural) ซึ่งเกิดจากการทอ การออกแบบสิ่งทอนี้ เริ่มต้นจากการพิจารณาวัตถุดิบ อันได้แก่ เส้นใย เส้นด้าย ผ้า และการตกแต่ง แล้วจึงเริ่มออกแบบลวดลายผ้าซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นขั้นตอนที่จะตัดสินว่า ผ้าจะสวยงามและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ การปฏิบัติงานแต่ละขั้นตอน จึงต้องอาศัยผู้ชำนาญเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ซึ่งโปรแกรมจำลองลายผ้าสามมิติ จะช่วยให้ผู้ผลิตเห็นโครงร่างของลายผ้าที่ออกแบบไว้ ในลักษณะเสมือนจริง เป็น สามมิติ เพื่อให้เห็นจุดบกพร่องของการออกแบบนั้นๆ อย่างชัดเจน และสามารถแก้ไขได้โดยสะดวก ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ และยังสนับสนุนการเชื่อมโยงวงจรการผลิตให้มีศักยภาพในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้น ในปัจจุบัน มีซอฟต์แวร์ซึ่งสามารถใช้งานในการออกแบบลายผ้าได้ เช่น Photoshop หรือการจำลองสามมิติโดยโปรแกรมมายา (Maya) หรือ ทรีดีสตูดิโอแม๊กซ์ (3D Studio Max) รวมทั้ง อราห์วีฟ แคด แคม (Aearah Weave CAD CAM) ซึ่งเป็นโปรแกรมจำลองลายผ้าโดยเฉพาะ แต่โปรแกรมดังกล่าวอาจทำให้ผู้ผลิตต้องใช้ต้นทุนทางด้านเวลาสูงยิ่งขึ้น เพื่อจัดการศึกษาและอบรบโปรแกรมหลายโปรแกรมประกอบกัน รวมทั้งต้องอาศัยความชำนาญมากกว่า เนื่องจากไม่มีเครื่องมือ ที่อำนวยความสะดวก ในการออกแบบลายผ้าโดยเฉพาะ อีกทั้งมีปัญหาทางด้านลิขสิทธิ์ (license) ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น จะเห็นได้ว่า โปรแกรมออกแบบลายผ้าสามมิติ สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน และนอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมวงการอุตสาหกรรมแฟชันของประเทศไทยซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเมืองไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกด้วย
-
6495 ซียูเท็กซ์ไทล์: ซอฟต์แวร์ออกแบบลายผ้าสามมิติ CU Textile Design /project/item/6495-cu-textile-designเพิ่มในรายการโปรด