วิทยาศาสตร์กับอาการเมา
วันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดยาวติดต่อกัน เป็นช่วงเวลาสังสรรค์ของใครหลายคน นั่นอาจหมายความว่า เราอาจต้องพบเจอกับนักดื่มที่ยังคงมีอาการเมาค้าง หรือคุณอาจจะเป็นหนึ่งในนักดื่มที่เมาจนภาพตัดไปเอง และไม่สามารถจดจำได้ว่าตัวเองมาถึงที่พักได้อย่างไรก็เป็นได้ และไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด เคยสงสัยหรือไม่ว่า เหตุใดการดื่มหนักจึงส่งผลต่อสมองของเรา
การสูญเสียความทรงจำที่เกิดจากแอลกอฮอล์ (Alcohol-induced amnesia) เป็นภาวะหนึ่งที่โมเลกุลของแอลกอฮอล์สามารถผ่านตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมอง (blood brain barrier) และรบกวนตัวรับ (receptor) ที่พบในเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความจำ
เอทานอล (Ethanol) จะเคลื่อนที่ผ่านไปยังเซลล์ประสาทพีระมิด (pyramidal neurons) ในบริเวณ CA1 ของสมองส่วนฮิบโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นสมองที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความทรงจำ ทั้งนี้เซลล์ประสาทพีระมิดเป็นเซลล์ประสาทชนิดหนึ่งที่มีเด็นไดรต์ (Dendrite) ยื่นออกจากตัวเซลล์หลายเส้น แต่มีแอกซอน (Axon) เพียงเส้นเดียว ทำให้รับข้อมูลจากเซลล์อื่นก่อนจึงส่งสัญญาณเพียง 1 สัญญาณออกไป ในขณะที่ส่วนของบริเวณ CA1 ของสมองส่วนฮิบโปแคมปัส เป็นส่วนของกระบวนการเสริมกำลังการส่งสัญญาณในระยะยาว (long-term potentiation หรือ LTP) หรือเป็นกระบวนการเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงที่ไซแนปส์ของเซลล์ประสาทและสภาพพลาสติก (plasticity) ของระบบประสาท ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และความจำ
ภาพการดื่มหนักจนมีอาจมีอาการเมา
ที่มาภาพ https://pixabay.com , jarmoluk
การศึกษาในปีค.ศ. 2011 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Neuroscience นำโดยดร. Charles Zorumski ได้ทำการทดลองใช้แอลกอฮอล์กับหนูทดลองพบว่า แอลกอฮอล์สกัดกั้น กระบวนการ LTP ด้วยการรบกวนตัวรับ N-methyl-D-aspartate (NMDA) บนเซลล์ประสาทพีระมิดส่วน CA1 เป็นผลให้เกิดการหลั่งสเตียรอยด์ที่ไปยับยั้งสภาพพลาสติกของระบบประสาท (neuron plasticity) และไม่เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่ก่อให้เกิดการสร้างความจำ
ดร. Charles Zorumski หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่า การยับยั้งกระบวนการ LTP และความจำ ต้องใช้แอลกอฮอล์จำนวนมาก แต่กลไกการยับยั้งดังกล่าวไม่เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ด้วยแอลกอฮอล์จะกระตุ้นตัวรับให้ทำงานในลักษณะที่ขัดแย้งกัน โดยดูเหมือนว่า แอลกอฮอล์จำนวนมากจะรบกวนการทำงานของตัวรับ NMDA แค่เพียงบางตัว ในขณะที่ตัวรับอื่น ๆ ยังคงสามารถทำงานได้เช่นเดิม ซึ่งนั่นคืออาจเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมนักดื่ม (ดื่มหนัก) จึงมีอาการเมาจนภาพตัด (Black out drunk) หรือไม่สามารถจำสิ่งที่พวกเขาทำได้ในคืนที่ผ่านมา
จากการทดลองของทีมวิจัย แอลกอฮอล์ไม่ได้ทำลายเซลล์ภายในสมองในทุก ๆ วิธีการทดลองที่นักวิจัยสามารถตรวจจับได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว แม้แอลกอฮอล์ในระดับสูงที่ทีมวิจัยใช้ทดลองในหนู ก็ยังคงไม่สามารถทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในวิธีการของการสื่อสารของเซลล์ประสาทภายในสมองได้ เรายังคงประมวลผลข้อมูล ว่าไม่รู้สึกเจ็บปวด ไม่ได้เป็นลม แต่เราไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่างานวิจัยส่วนใหญ่จะทำการทดลองโดยใช้สัตว์ แต่คาดได้ว่า กระบวนการทำงานจะมีความคล้ายคลึงกันในมนุษย์ นั่นก็หมายความว่า การดื่ม(แอลกอฮอล์) ในปริมาณมาก มีแนวโน้มที่ทำให้ความสามารถในการจดจำลดลง นอกจากนี้จากข้อมูลเชิงลึกของทีมวิจัย ในแนวคิดระยะยาว แอลกอฮอล์อาจทำลายเซลล์สมองและทำให้ความจำเสื่อมได้
แหล่งที่มา
Aliyah Kovner. (2019,January 01). Why Do You Lose Your Memory When You Get Really Drunk?.Retrieved April 25,2019, From https://www.iflscience.com/brain/why-do-you-lose-your-memory-when-you-get-really-drunk/
Gina Echevarria and Shira Polan.(2018, December 6).Here's what happens to your brain when you get blackout drunk. Retrieved April 25,2019, From https://www.businessinsider.com/what-alcohol-blackout-drunk-does-to-body-brain-memory-2018-11
Memory. Retrieved April 25,2019, From https://en.wikipedia.org/wiki/Memory
-
10113 วิทยาศาสตร์กับอาการเมา /article-biology/item/10113-2019-04-19-03-43-15เพิ่มในรายการโปรด