เหตุผลของคนสะอึก
ฮึก ..ฮึก .. เสียงฮึกที่เกิดขึ้นระหว่างการสะอึก แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่นั่นก็ทำให้คนเราเสียเวลาไม่น้อยในการสรรหาวิธีการแก้ไขอาการสะอึกให้หาย โดยที่ไม่สร้างความรำคาญให้กับทั้งตนเองและผู้คนรอบข้าง
อาการสะอึก มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างเร่งรีบ
ที่มา https://unsplash.com/photos/kabtmcdcAbk
อาการที่ควบคุมไม่ได้จากการทำงานผิดจังหวะของระบบทางเดินหายใจนี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลมอย่างเร่งรีบ หรือแม้แต่อาการตกใจก็สามารถก่อให้เกิดอาการสะอึกได้ แต่ทั้งนี้สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว อาการสะอึกสามารถหายได้เองภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือชั่วโมง
การควบคุมการหายใจ
ที่มา https://www.britannica.com/science/human-respiratory-system/The-mechanics-of-breathing
กลไกของอาการสะอึกเริ่มต้นที่กล้ามเนื้อกระบังลม (Diaphragm) ซึ่งอยู่ระหว่างปอดและกระเพาะอาหาร เมื่อเราหายใจเข้าหรือสูดลมอากาศเข้าปอด กล้ามเนื้อกะบังลมจะหดตัว และกล้ามเนื้อยึดกระดูกซี่โครงดึงกระดูกซี่โครงให้ยกตัวขึ้น ทำให้ปริมาตรในช่องอกเพิ่มขึ้น ความดันในช่องอกลดลง ส่งผลให้อากาศจากภายนอกเคลื่อนที่เข้าสู่ปอด ในขณะที่เราหายใจออก กล้ามเนื้อกะบังลมคลายตัวและยกตัวสูงขึ้น เป็นจังหวะเดียวกับการลดต่ำลงของกระดูกซี่โครง ทำให้ปริมาตรในช่องอกลดลง ความดันเพิ่มขึ้นมากกว่าความดันของอากาศภายนอก เป็นผลให้อากาศเคลื่อนที่ออกจากปอด แต่หากเกิดอาการสะอึก กล้ามเนื้อกะบังลมจะหดเกร็งหรือกระตุก ส่งผลให้กล่องเสียง (larynx) หรือฝาปิดกล่องเสียงหดตัว และปิดทางเข้าของช่องเส้นเสียงหรือชุดสายเสียง (glottis) อย่างกะทันหัน สิ่งที่ตามมาคือเสียง "ฮึก" ที่เป็นเสียงเฉพาะจากอาการสะอึกนั่นเอง
สำหรับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการสะอึก อาจมาจากหลายสาเหตุเช่น ความเครียด ผลข้างเคียงของยาบางชนิด การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของอากาศ รวมทั้งการกลืนอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการเคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มเครื่องดื่มอัดลม หรือแม้กระทั่งการสูดดมอาหารเย็น
น่าเสียดายที่การพยายามดื่มน้ำโดยการแหงนหน้าหรือการทำให้ตกใจ ไม่ได้เป็นวิธีการที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นวิธีรักษาที่เหมาะสมและใช้ได้ผลในการแก้ปัญหาอาการสะอึก แต่วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะยับยั้งอาการสะอึกคือ การหายใจภายในถุงกระดาษ ด้วยการเพิ่มปริมาณแก๊สคาร์บอนไดอกไซด์ (CO2) ในปอด จะทำให้กล้ามเนื้อกะบังลมคลายตัวลง และหยุดการกระตุกได้ ทั้งนี้ Tyler Cymet หัวหน้าฝ่ายการศึกษาทางการแพทย์ที่ American Association of Colleges of Osteopathic Medicine ใช้เวลา 5 ปีในการศึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีอาการสะอึก แต่ก็ยังไม่พบวิธีที่เหมาะสมที่จะช่วยป้องกันอาการสะอึกดังได้
อย่างไรก็ตามหากพบว่า มีอาการสะอึกเป็นเวลานานกว่า 48 ชั่วโมง นั่นอาจเป็นสัญญาณจำเป็นที่ต้องปรึกษาแพทย์ แม้ว่าอาการสะอึกจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า นั่นอาจเป็นอาการของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงยิ่งกว่าเช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง หรือการบาดเจ็บที่สมองบาดแผลหรือเนื้องอก
แหล่งที่มา
Rosie McCall. (2019,Feb 09). Why Do We Hiccup? . Retrieved April 18,2019, From https://www.iflscience.com/health-and-medicine/why-do-we-hiccup-0/
Hiccups . Retrieved April 18,2019, From https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiccups/symptoms-causes/syc-20352613
Why Do We Hiccup?. Retrieved April 18,2019, From https://www.medicalnewstoday.com/articles/7623.php
-
10132 เหตุผลของคนสะอึก /article-biology/item/10132-2019-04-19-07-54-42เพิ่มในรายการโปรด